ผลกระทบของ ‘AI’ ต่อการศึกษาใน‘มหาวิทยาลัย’

การบรรยายครั้งนี้ ผมชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าเทคโนโลยีที่กำลังมุ่งไปสู่การพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์และเครื่องจักรให้ฉลาดเทียบเท่ามนุษย์ มีเป้าหมายสูงสุด คือ การบรรลุถึง AGI (Artificial General Intelligent) ที่จะทำให้ AI สามารถทำทุกอย่างได้เท่าเทียมมนุษย์ และในที่สุดก็อาจเหนือกว่ามนุษย์ด้วย

หากเราก้าวถึงจุดนั้น มนุษย์คงต้องปรับตัวอย่างมากมายแน่นอน แม้ปัจจุบัน AI ยังมีความสามารถไม่ถึงขั้นนั้น แต่ก็เริ่มสร้างความกังวลให้กับผู้คนจำนวนมากแล้วว่า AI อาจเข้ามาแทนที่มนุษย์ในการทำงานหลายๆ อย่าง และอาจส่งผลกระทบต่ออาชีพของคนทั่วไป

งานบรรยายนี้ ผมได้นำเสนอผลสำรวจต่อผลกระทบของ AI กับงานในบ้านเรา 2 รายงานหลักๆ ได้แก่ 1.รายงานของ Deloitte ในเดือนพฤษภาคม 2024 เรื่อง “Generative AI in Asia Pacific: Young employees lead as employers play catch-up” ที่พบว่า Generative AI (Gen-AI) กำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและรวดเร็วต่อธุรกิจถึง 1 ใน 4 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และคนรุ่นใหม่กำลังเป็นผู้นำในการใช้ประโยชน์จาก Gen-AI

ขณะที่นายจ้างกำลังรีบตามให้ทัน ทำให้คาดว่า Gen-AI จะช่วยประหยัดเวลาทำงานได้ถึง 1.1 พันล้านชั่วโมงต่อปีในภูมิภาคนี้ และยังช่วยเปิดโอกาสให้พนักงานได้พัฒนาทักษะใหม่ๆ รวมถึงมีภาระงานที่ยั่งยืนมากขึ้น

2. รายงานของ AWS และ Access Partnership เดือนมีนาคม 2024 เรื่อง “Accelerating AI skills Preparing the Workforce in Thailand for Jobs of the Future” ที่พบว่า 98% ของนายจ้างในไทยคาดว่าองค์กรของพวกเขาจะนำ AI มาใช้ภายในปี 2028 และ Gen-AI จะเข้ามาปฏิวัติรูปแบบการทำงานของเราอย่างมาก นายจ้างในไทยให้คุณค่ากับคนที่มีทักษะ AI และพร้อมจ่ายค่าจ้างสูงกว่าถึง 41% ในขณะที่ AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ถึง 58% และคนทำงานเอง รู้สึกว่า AI ช่วยให้งานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้ถึง 56%

ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากผลกระทบ AI วันนี้ ยังพบว่ามหาวิทยาลัยจำนวนมากในบ้านเรายังคงใช้ระบบการศึกษาแบบเดิมๆ และปรับตัวได้ค่อนข้างช้าต่อเทคโนโลยีนี้ การเรียนการสอนยังคงเน้นบรรยายในห้องเรียน การสอบวัดความรู้แบบท่องจำ ซึ่งอาจไม่สอดคล้องทักษะที่จำเป็นในยุคที่ AI มีบทบาทสำคัญ

เราต้องตระหนักว่าความก้าวหน้าด้าน AI โดยเฉพาะ Gen-AI ที่สามารถผลิตเนื้อหาได้คล่องแคล่วอาจส่งผลให้ธรรมชาติของงานอนาคตเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ทักษะบางอย่างอาจล้าสมัย และไม่จำเป็นอีกต่อไป ขณะที่ทักษะใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับ AI จะกลายเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดแรงงาน หากมหาวิทยาลัยไม่รีบปรับตัวตั้งแต่วันนี้ เราอาจประสบปัญหาการผลิตบัณฑิตที่มีคุณสมบัติไม่ตรงความต้องการของโลกการทำงานอนาคต ซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่ยุค AI อย่างเต็มตัว

ดังนั้น การเร่งปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนให้สอดรับกับ AI จึงเป็นภารกิจด่วนที่มหาวิทยาลัยไม่อาจละเลยได้ เราจำเป็นต้องบูรณาการ AI เข้ากับทุกสาขาวิชา ปรับเปลี่ยนวิธีสอนและประเมินผลให้เน้นการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา คิดสร้างสรรค์ และใช้เครื่องมือ AI มากกว่าการท่องจำ รวมถึงต้องให้ความรู้ ความเข้าใจ และทักษะด้าน AI แก่นักศึกษาทุกคน เพื่อให้พวกเขาทำงานร่วม AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มที่ AI ทำไม่ได้

มหาวิทยาลัยใดก็ตามที่ปรับตัวได้รวดเร็วจะได้เปรียบในการสร้างบัณฑิตที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานยุคใหม่ กลับกัน มหาวิทยาลัยที่ล่าช้าในการปรับตัวก็มีความเสี่ยงผลิตบัณฑิตที่มีทักษะไม่สอดคล้องความต้องการโลกอนาคต ดังนั้น ทุกมหาวิทยาลัยจึงควรให้ความสำคัญประเด็นนี้อย่างเร่งด่วน มิฉะนั้นแล้ววันข้างหน้าอาจเผชิญวิกฤติว่างงานครั้งใหญ่จากผลกระทบ AI ก็เป็นได้

ในการบรรยายผมให้ข้อเสนอแนะต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยในเรื่องต่างๆ ดังนี้ 1.กำหนดวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ AI ในระดับมหาวิทยาลัยอย่างชัดเจน เพื่อวางแผนรับมือความเปลี่ยนแปลงในอนาคต เน้นสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญ AI การปลูกฝัง AI Mindset ทุกระดับ ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ไปจนถึงนักศึกษา

2. เร่งปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนทุกคณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจาก AI เช่น คอมพิวเตอร์ ศิลปศาสตร์ บริหารธุรกิจ การออกแบบ ฯลฯ ให้บูรณาการ AI เข้าไปทุกรายวิชา ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนและการประเมินผลให้เน้นทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา คิดสร้างสรรค์ และใช้เครื่องมือ AI มากกว่าเน้นท่องจำแบบเดิม

3. กำหนดให้ทักษะด้าน AI (AI Literacy) เป็นวิชาบังคับสำหรับนักศึกษาทุกคน เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะด้าน AI ที่จำเป็นต่อการทำงานอนาคต จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ AI กลางของมหาวิทยาลัยเพื่อให้ความรู้และสนับสนุนนักศึกษาและบุคลากรในการใช้เครื่องมือ AI โดยเฉพาะ Gen-AI ในการเรียนการสอนและการทำงาน

4. ส่งเสริมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้าน AI จริงจัง ทั้งวิจัยพื้นฐาน พัฒนาโมเดลและอัลกอริทึมใหม่ๆ รวมถึงการประยุกต์ใช้ AI สาขาต่างๆ เช่น การแพทย์ การเกษตร นิติศาสตร์ ฯลฯ จัดตั้งสถาบันวิจัย AI ระดับมหาวิทยาลัย เพื่อบูรณาการองค์ความรู้และผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จริง

5. ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI และเทคโนโลยีดิจิทัลที่จำเป็น เช่น ระบบประมวลผลประสิทธิภาพสูง (HPC) ซอฟต์แวร์ด้านเอไอที่ทันสมัย ฯลฯ เพื่อให้สามารถดำเนินการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการที่เกี่ยวข้องกับ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนผู้ให้บริการโซลูชั่น AI เพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีล่าสุด

6. กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติในการใช้ AI ในมหาวิทยาลัยให้ชัดเจน ทั้งในแง่ของจริยธรรม ความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยของข้อมูล ฯลฯ เพื่อให้มั่นใจว่าการนำ AI มาใช้นั้นเป็นไปอย่างเหมาะสมและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรมีคณะกรรมการกำกับดูแลการใช้ AI ในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อกำหนดนโยบายและติดตามการปฏิบัติ

การปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบจาก AI อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ มหาวิทยาลัยที่สามารถปฏิรูปตนเองได้ก่อนย่อมมีความได้เปรียบ และมีโอกาสผลิตบัณฑิตที่ตอบโจทย์โลกยุค AI ในระยะยาว การเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ตั้งแต่วันนี้ จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ผู้บริหารและบุคลากรของมหาวิทยาลัยทุกแห่งควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...