‘จอลลี่แบร์’ ขายขนมแบบเดิมเกือบ 40 ปี แต่มีรายได้ ‘300 ล้านบาท’

ปัจจุบันขนมเยลลี่เคี้ยวหนึบเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภควัยเด็ก แต่หากย้อนกลับไปเกือบ 40 ปีที่แล้ว ขนมที่ “จอลลี่แบร์” (Jolly Bear) ผลิต ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก คนไทยยังไม่เข้าใจว่าคืออะไร

นี่อาจเป็นความท้าทายของ “เจ้าตลาด” ในช่วงแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไป การเป็นผู้ริเริ่มสิ่งแรกก็ทำให้ชื่อของ “จอลลี่แบร์” ได้รับการบอกต่ออย่างรวดเร็ว จนทำให้แบรนด์ภายใต้การนำของทายาทรุ่นที่ 3 เติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีคู่แข่งตัวใหญ่จากแดนไกลเข้าแชร์พื้นที่วางสินค้า แต่ “จอลลี่แบร์” ก็ยังโกยรายได้ปีล่าสุดไปแล้ว “332 ล้านบาท” กำไรสุทธิ “75 ล้านบาท”

“จอลลี่แบร์” ถือหุ้นและบริหารโดยคนไทย 100% อยู่ภายใต้การผลิตของ บริษัท พงษ์จิตต์ จำกัด มีจุดเริ่มต้นจากการผลิตลูกอมแบบแข็ง แต่ด้วยสภาพตลาดที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ทายาทรุ่นที่ 2 จึงเริ่มมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการเติบโต จึงเป็นที่มาของสินค้าเรือธงในปัจจุบันอย่างขนมเยลลี่รูปหมีหลากสี ตรา จอลลี่แบร์

“พลากร เชาว์ประดิษฐ์” ทายาทรุ่นที่ 3 และผู้บริหารแบรนด์จอลลี่แบร์ในปัจจุบัน เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นให้ฟังว่า ในยุคนั้นคนไทยยังไม่ค่อยรู้จักขนมรูปร่างหน้าตาแบบนี้มากนัก ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจซื้อ การทำการตลาดก็ไม่ง่าย บรรดายี่ปั๊ว-ซาปั๊วที่เคยทำธุรกิจด้วยกันในการนำสินค้าไปวางขายก็เกิดความไม่เชื่อมั่น เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ทายาทรุ่นที่ 2 จึงเดินเกมด้วยการสื่อสารผ่านโฆษณาในช่องทางหลักอย่างทีวีและหนังสือ

หลังจากนั้นแบรนด์จึงเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง สินค้าได้รับการตอบรับที่ดีขึ้น และเมื่อเวลาผ่านไปแม้ไม่ได้ทุ่มงบไปกับการทำการตลาด แต่สินค้าก็ยังสามารถขายได้ด้วยตัวเองมาโดยตลอด หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้จะพบว่า จอลลี่แบร์ผลิตสินค้าเยลลี่ผสมน้ำผลไม้ทั้งหมด 5 รสชาติ ได้แก่ ส้ม องุ่น แอปเปิล สตรอเบอร์รี่ และสับปะรด เท่านั้น เพิ่งมีการเปิดตัว “Super Sour” รสชาติใหม่ในรอบ 33 ปี ไปเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา

-“พลากร เชาว์ประดิษฐ์” ทายาทรุ่นที่ 3 และผู้บริหารจอลลี่แบร์-

อย่างไรก็ตาม “พลากร” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วง 7 ถึง 8 ปีที่ผ่านมา มีผู้เล่นรายอื่นๆ เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะแบรนด์จากต่างประเทศ ที่ผ่านมาแม้แบรนด์จะไม่ค่อยทุ่มงบไปกับการทำการตลาด ทว่า กลับพบ “Pain Point” สำคัญ คือเมื่อเวลาผ่านไป ผู้บริโภคเจนใหม่อาจไม่ได้รู้จักตัวตนของจอลลี่แบร์เหมือนกับคนรุ่นก่อนๆ ที่โตมาด้วยกัน ปัจจุบันจึงบุกทั้งออฟไลน์และออนไลน์ในการสื่อสารมากขึ้น โดยเน้นไปที่การตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ รีวิวเพื่อให้เกิดการบอกต่อ

ส่วนฝั่งแบรนด์ก็ไม่ได้พึ่งพารีวิวเพียงอย่างเดียว แต่ยังพัฒนารสชาติใหม่ แพ็กเกจจิ้งใหม่ รวมถึงการมองหาคู่ค้าในการออกสินค้าคอลแล็บส์ร่วมกันด้วย “พลากร” มองว่า การยืนอยู่ท่ามกลางตลาดที่มีการแข่งขันสูง ธุรกิจจะอยู่รอดได้ต้องสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง หาจุดแข็งของตัวเองให้เจอว่า เราแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ ในตลาดอย่างไร เมื่อไรที่หยุดสร้างแบรนด์ เมื่อนั้นจะเจอกับปัญหาทันที เพราะคู่แข่งในสนามพร้อมที่จะวิ่งแซงหน้าเราตลอด แบรนด์จึงเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องรักษาและทำให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

สำหรับผลประกอบการ บริษัท พงษ์จิตต์ จำกัด ผู้ผลิตขนมเยลลี่ตรา จอลลี่แบร์ รวมถึงยังรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับแบรนด์อื่นๆ มีรายได้และกำไรเติบโตต่อเนื่องทุกปี โดยมีรายละเอียดดังนี้

ปี 2565: รายได้ 332 ล้านบาท กำไรสุทธิ 75 ล้านบาท
ปี 2564: รายได้ 264 ล้านบาท กำไรสุทธิ 49 ล้านบาท
ปี 2563: รายได้ 215 ล้านบาท กำไรสุทธิ 38 ล้านบาท
ปี 2562: รายได้ 205 ล้านบาท กำไรสุทธิ 38 ล้านบาท

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำ ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ถล่มเมียนมา เวียดนาม ลาว และไทยด้วยกำลังลมที่แรงมาก และทำใ...

ท่วมหนักสุด 'ในรอบ 3 ทศวรรษ' พายุบอริสถล่มยุโรป ผลกระทบจากโลกร้อน

จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ชื่อว่า “พายุบอริส” ส่งผลให้มีฝนตกหนักจากออสเตรียไปจนถึงโรมาเนีย จนเกิด “น้...

ฮามาสโวความสามารถสูง ทำสงครามกาซาต่อได้แม้สูญเสีย

นายโอซามา ฮัมดัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่นครอิสตันบูลของตุรกี ระบุ “ขบวนก...

สงครามสู้ฮามาสและยอดส่งออกร่วง กดดันจีดีพี ‘อิสราเอล’ Q2 ให้โตเพียง 0.7%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในไตรมาสที่สองชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไ...