‘ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์’ ขยายฝูงบิน-เส้นทางใหม่ มั่นใจออกแผนฟื้นฟู พ.ย.67

ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์เปิดเผยว่า “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จะออกจากแผนฟื้นฟูในเดือน ต.ค.-พ.ย. 2567 ตอนนี้อยู่ระหว่างทยอยจ่ายคืนหนี้ให้ครบ จากนั้นจะเพิ่มทุนอีก 1,000 ล้านบาท ก่อนออกจากแผนฟื้นฟูในปลายปีนี้”

ปี 2567 จะเป็นปีแรกที่ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ “พลิกกลับมาทำกำไรอีกครั้ง!” หลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด คาดมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ หรือ “EBITDA” อยู่ที่ 1,500-2,000 ล้านบาท จากเป้าหมายจำนวนผู้โดยสารรวม 1 ล้านคน ฟื้นตัว 90% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนโควิด มีอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (โหลดแฟคเตอร์) 85-86%

ตามแผนสร้างการเติบโตและฟื้นฟูขนาดฝูงบินของไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เดิมยุคก่อนโควิดมีฝูงบิน 12 ลำ และต้องคืนไปในช่วงการระบาด ปัจจุบันทยอยนำเครื่องบินกลับมาประจำการแล้ว 7 ลำ เป็นเครื่องบินแอร์บัส A330 และจะเพิ่มเป็น 11 ลำในสิ้นปี 2567 จากนั้นจะเพิ่มเป็น 15 ลำในสิ้นปี 2568 เพื่อนำมาขยาย “เส้นทางบินใหม่”

เฉพาะปลายปี 2567 จะเปิดเส้นทางใหม่อีก 2-3 เส้นทาง เช่น เมืองในญี่ปุ่น ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ 2 เมือง คือ เซนได กับอีกเมืองทางตอนเหนือ หลังจากล่าสุดกลับมาเปิดเส้นทางบินตรงกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) สู่ “นาโกย่า” จำนวน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่มให้บริการเที่ยวบินแรกตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2567

ด้านเส้นทางบินไปยุโรป ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย เช่น เมลเบิร์น ซึ่งเคยทำการบินมาก่อน รวมถึงเอเชียกลาง เช่น คาซัคสถาน ที่มีดีมานด์สนใจบินตรงเข้าภูเก็ตมากกว่ากรุงเทพฯ ทั้งหมดนี้กำลังศึกษาตลาด ไม่เน้นรีบเปิด แต่เน้นเตรียมพร้อมทุกด้านเพื่อทำการตลาดให้แข็งแรงมากที่สุด!

ปัจจุบัน ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ให้บริการเส้นทางบินตรงจากกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) สู่ “7 จุดหมายปลายทาง” ได้แก่ โตเกียว (นาริตะ) 2 เที่ยวบินต่อวัน, โอซาก้า สูงสุด 2 เที่ยวบินต่อวัน, ซัปโปโร สูงสุด 1 เที่ยวบินต่อวัน, โซล เกาหลีใต้ สูงสุด 2 เที่ยวบินต่อวัน, ซิดนีย์ ออสเตรเลีย สูงสุด 1 เที่ยวบินต่อวัน, เซี่ยงไฮ้ จีน สูงสุด 1 เที่ยวบินต่อวัน และนาโกย่า จำนวน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ รวมสูงสุด 36 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

“ตามแผนแล้วเราอยากเปิดเส้นทางญี่ปุ่นให้ได้มากที่สุด เพราะเป็นเส้นทางหล่อเลี้ยงธุรกิจของไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ครองสัดส่วนมากถึง 50% ของรายได้ทั้งหมด ทำให้เรามองการเปิดเส้นทางญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้มี 4 เมืองแล้ว ตอกย้ำความเป็นตัวจริงเรื่องบินญี่ปุ่น”

การเปิดเส้นทางสู่นาโกย่า จะทำให้ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มีรายได้เพิ่มขึ้น 15% จากปัจจุบัน และมีผู้โดยสารเส้นทางบินไทย-ญี่ปุ่นเพิ่มเป็น 3.5 แสนคนตลอดปีนี้ จากก่อนเปิดเส้นทางนาโกย่า เดิมน่าจะมีผู้โดยสาร 2.8 แสนคน กว่า 60% เป็นคนไทย ส่วนคนญี่ปุ่นราว 35-40%

เมื่อนับรวมเส้นทางบินทั้งหมดของไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ (รหัสเที่ยวบิน XJ) ในปัจจุบันที่มีรวม 4 เส้นทาง ได้แก่ โตเกียว โอซาก้า ซัปโปโร และนาโกย่า คิดเป็นจำนวน 36 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ส่วนไทยแอร์เอเชีย (รหัสเที่ยวบิน FD) มี 2 เส้นทาง ได้แก่ ฟุกุโอกะ และโอกินาวะ จะทำให้ในกลุ่มแอร์เอเชีย มีเส้นทางบินไทย-ญี่ปุ่นรวม “6 เส้นทาง”

“ก่อนโควิดระบาด เส้นทางไทย-ญี่ปุ่นมีสายการบินให้บริการจำนวนมาก แต่พอเจอโควิดเข้าไป ทำให้ล้มหายตายจากไปมาก หมดยุคโควิดก็ยังไม่กลับมา”

อย่างไรก็ดี ปัจจัย “เงินเยนอ่อนค่า” ส่งอานิสงส์ต่อผลการดำเนินงานเส้นทางญี่ปุ่นของไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ในตอนนี้ดีกว่าก่อนโควิดระบาด! ด้วยราคาตั๋วเครื่องบินดี ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายอย่างอื่นๆ ถูกลงไปมาก เช่น ค่าโรงแรมถูกลง 20-30% จากเงินเยนอ่อนค่า ทำให้นักท่องเที่ยว “เดินทางได้ตลอดทั้งปี” ความแตกต่างระหว่างไฮซีซันกับโลว์ซีซันก็แทบจะน้อยมาก

“ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มีโหลดแฟคเตอร์เฉลี่ยเส้นทางไทย-ญี่ปุ่นอยู่ที่ 89% ด้วยทุกเส้นทางต่างเป็นเมืองยอดนิยมด้านการท่องเที่ยวของคนไทย เต็มทุกเที่ยวบิน ทุกวันเป็นเหมือนฮอลิเดย์”

ด้านเส้นทางบินสู่ “จีน” ปัจจุบันไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ และไทยแอร์เอเชีย ให้บริการสู่ 14 เมือง มีโหลดแฟคเตอร์ 83-86% หลังได้ปัจจัยบวกจากมาตรการ “ยกเว้นวีซ่า” (วีซ่าฟรี) ไทย-จีน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2567 ส่งผลให้ตลาด “คนไทยเที่ยวจีน” เติบโตแรง 20-30% ส่วนตลาดคนจีนเที่ยวไทยในช่วงนี้เริ่มแผ่ว แต่เชื่อว่าปี 2568 จะกลับมาแข็งแรงขึ้น ตามแผนจะต้องเปิด 1 เส้นทางบินใหม่ในทุกๆ 6 เดือนเพื่อรองรับดีมานด์การฟื้นตัว!

ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ซีอีโอ สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำ ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ถล่มเมียนมา เวียดนาม ลาว และไทยด้วยกำลังลมที่แรงมาก และทำใ...

ท่วมหนักสุด 'ในรอบ 3 ทศวรรษ' พายุบอริสถล่มยุโรป ผลกระทบจากโลกร้อน

จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ชื่อว่า “พายุบอริส” ส่งผลให้มีฝนตกหนักจากออสเตรียไปจนถึงโรมาเนีย จนเกิด “น้...

ฮามาสโวความสามารถสูง ทำสงครามกาซาต่อได้แม้สูญเสีย

นายโอซามา ฮัมดัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่นครอิสตันบูลของตุรกี ระบุ “ขบวนก...

สงครามสู้ฮามาสและยอดส่งออกร่วง กดดันจีดีพี ‘อิสราเอล’ Q2 ให้โตเพียง 0.7%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในไตรมาสที่สองชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไ...