‘หนี้’ ท่วม ฉุดอนาคตประเทศ

“หนี้” กำลังเป็นปัญหาใหญ่ สะเทือนระบบเศรษฐกิจประเทศ การเปิดเผยตัวเลขหนี้ จากโพสต์บนเฟซบุ๊กของ “นายสุรพล โอภาสเสถียร” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย

หลายตัวเลขน่าหวั่นวิตกไม่น้อย คีย์เมสเสจสำคัญอยู่ที่ ไตรมาสแรก พบหนี้เสียทะลักมากถึง 1.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 15% ส่วนใหญ่เป็น “หนี้รถยนต์-บ้าน” โดยเฉพาะหนี้รถยนต์โต 32% บ้านอีก 18% ยังไม่นับยอดค้างชำระ ‘รถ-บ้าน-บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล’ ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่ากลัว

ขณะที่ คุณภาพหนี้ นับวันยิ่งน่าเป็นห่วง ทั้งหนี้เสีย และหนี้ค้างชำระ โดยเฉพาะหนี้ที่กำลังมีปัญหา วันนี้เราเห็นสัญญาณของคนที่ผ่อนชำระไม่ไหวเพิ่มขึ้น ผู้บริหารเครดิตบูโร เผยว่า ภาพหนี้ครัวเรือนไทยเมื่อเทียบกับ จีดีพี พบว่า ปัจจุบันอยู่ที่ 91.3% ซึ่งอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต

ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจบ้านเราที่ยังไม่ฟื้นตัวดีจากปัจจัยลบที่ถาโถมมาแบบไม่หยุด ตั้งแต่ก่อนโควิด ช่วงระหว่างโควิด หลังจากโควิดเริ่มผ่อนคลาย เราก็เจอกับสภาพเศรษฐกิจที่โตต่ำ แถมด้วยปัจจัยลบอย่างภูมิรัฐศาสตร์ เกิดสงครามดันราคาพลังงานแพงขึ้นหลายเท่าตัว

ผู้บริหารเครดิตบูโร ชวนเจาะลงรายละเอียดจะเห็นเจ้าหนี้แต่ละประเภท จุดที่น่าสนใจ คือ หนี้ที่ปล่อยกู้โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ให้กับสมาชิกโตถึง 2.3 ล้านล้านบาท

ในจำนวนนี้ 8 แสนล้านบาท เป็นการให้กู้กับกลุ่มอาชีพครู และบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นเป้าหมายใหญ่ที่ทางรัฐบาลกำลังเร่งแก้ปัญหา โดยเฉพาะประเด็นการหักเงินหน้าซองเงินเดือนส่งให้เจ้าหนี้จนเหลือไม่ถึง 30% ของรายได้ ยังไม่นับการไปหักหลังซองเพิ่มต่ออีก จนแทบจะดำเนินชีวิตต่อไปไม่ได้

อีกข้อมูลที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ 28% ของหนี้ครัวเรือนไทยที่ 16.3 ล้านล้านบาท เป็นการกู้ไปเพื่อบริโภค ซึ่งต้องเอารายได้ในอนาคตมาผ่อนจ่าย ซึ่งถ้ารายได้ไม่มาตามนัด เพราะมีโรคระบาดคั่น สิ่งที่คิดว่าจะจ่ายได้แน่ ก็ไม่แน่ แถมดอกเบี้ยก็ทับถม และแพงพอควร นำมาซึ่งปัญหามีหนี้สะสมเกินศักยภาพ เรียกว่า ติดกับดักการเป็นหนี้ชัดเจน 

สิ่งที่น่ากังวลอีกเรื่อง คือ หนี้บัตรเครดิต ปัจจุบันเติบโต 32.4% พร้อมกับมาตรการเพิ่มเปอร์เซ็นต์ชำระหนี้ขั้นต่ำจาก 5% มาเป็น 8% คนที่ใช้บัตรเครดิตหลายใบ มีความเสี่ยงสูงมากที่จะผ่อนชำระไม่ไหว 

เรื่อง หนี้ คือ ปัญหาใหญ่ระดับชาติ เป็นกับดักฉุดเศรษฐกิจประเทศ ส่งผลต่อความเชื่อมั่น ทำลายบรรยากาศการลงทุน ปัญหาหนี้เสียมีแนวโน้มสูงมากที่จะลุกลามบานปลาย นำไปสู่ปัญหาอื่น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งหาทางแก้ปัญหา หรืออาจต้องย้อนกลับไปดูที่ต้นทาง หรือต้นเหตุของ “หนี้” แล้วช่วยกันตีโจทย์ให้แตก ไม่ให้ “หนี้” กลายเป็นกับดักฉุดเศรษฐกิจประเทศไปมากกว่านี้

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำ ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ถล่มเมียนมา เวียดนาม ลาว และไทยด้วยกำลังลมที่แรงมาก และทำใ...

ท่วมหนักสุด 'ในรอบ 3 ทศวรรษ' พายุบอริสถล่มยุโรป ผลกระทบจากโลกร้อน

จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ชื่อว่า “พายุบอริส” ส่งผลให้มีฝนตกหนักจากออสเตรียไปจนถึงโรมาเนีย จนเกิด “น้...

ฮามาสโวความสามารถสูง ทำสงครามกาซาต่อได้แม้สูญเสีย

นายโอซามา ฮัมดัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่นครอิสตันบูลของตุรกี ระบุ “ขบวนก...

สงครามสู้ฮามาสและยอดส่งออกร่วง กดดันจีดีพี ‘อิสราเอล’ Q2 ให้โตเพียง 0.7%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในไตรมาสที่สองชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไ...