BA เชื่อ ‘ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน’ รัฐแจ้งเกิดได้! ยันเดินหน้าเมืองการบิน EEC

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3” ของกรุงเทพฯ เชื่อมกับสนามสุวรรณภูมิและดอนเมือง ด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ไฮสปีด 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กิโลเมตร ที่มีบริษัท เอเชีย เอราวัณ จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) เป็นผู้ชนะประมูลเมื่อ 5 ปีก่อน แต่ยังติดสารพัดปัญหาค้างคา


อ่านเพิ่มเติม: 6 ปี 3 รัฐบาล 'ไฮสปีดเทรน' 3 สนามบิน อนาคตโครงการอยู่ในมือ 'ซีพี'

เชื่อภาครัฐแจ้งเกิด 'ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน' ได้! 

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA หนึ่งในพันธมิตรของ “กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส” ผู้คว้าประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เปิดเผยว่า สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่มีเอกชนอีกรายเป็นผู้ดูแลนั้น เชื่อว่าสุดท้ายแล้วโครงการนี้จะต้องมาพร้อมกับการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มาหนุนเสริม พึ่งพาซึ่งกันและกัน

แต่การจะเดินหน้าต่อไปให้ได้นั้น ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะปรับเปลี่ยนหาวิธีการอย่างไร หากจะมาบอกว่าไม่มีวิธีแก้ปัญหาเลย แบบนี้มองว่าไม่น่าจะใช่ เพราะถึงอย่างไรก็ต้องผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเกิดขึ้นให้ได้ เนื่องจากส่งผลต่อภาพรวมของทั้งโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินฯ

จุดกังวล! ผู้โดยสารไปสนามบิน 'อู่ตะเภา' ต้องการความสะดวก

เดิมภาพรวมของเมกะโปรเจกต์นี้ ทั้ง 2 โครงการ คือ 1.โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และ 2.โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เคยอยู่ด้วยกัน เป็นโครงการเดียวกันมาก่อน 

ก่อนจะถูกจับแยกออกจากกัน มีกลุ่มพันธมิตรของภาคเอกชนเข้ามาลงทุนและพัฒนา 2 ราย เลยทำให้ดูเหมือนยุ่งไปหน่อย 

“จุดที่เรากังวลคือการเดินทางของผู้โดยสารเข้าสู่สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินฯ มีความจำเป็นที่ต้องใช้การเดินทางที่สะดวก รองรับการเดินทางเข้า-ออก ให้เป็นไปตามเป้าหมายปลายทางของสนามบินอู่ตะเภา ว่าในปีที่ 50 จะต้องมีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการ 60 ล้านคน นั่นหมายความว่าต้องมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 100,000 คน เท่าๆ กับสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งยังมีเวลาให้สร้างการเติบโตได้”

 

ตั้งแต่ Day 1 ใช้งบลงทุนส่วนแรกไปแล้วกว่า 4,000 ล้านบาท

“ตอนนี้เราอาจจะไม่ต้องรอความชัดเจนเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ให้ออกมาก่อน เพราะหากรอขนาดนั้นแล้วไม่มีออกมา รอไปอีก 10 ปี เราก็ไม่ได้สร้างสักที ทำให้ต้องมาปรึกษาภายในของเราเองว่า จะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่มาก งบประมาณของโครงการก็มีความสำคัญ โดยเฉพาะพันธมิตรทางการเงินของเรา ก็ต้องทำให้เขาเชื่อมั่นว่าไปด้วยกันได้ อย่างไรก็ต้องเดินหน้าต่อตามแผนงานแน่นอน”

โดยนับตั้งแต่วันแรก (Day 1) ของโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ใช้งบประมาณส่วนแรกไปแล้วกว่า 4,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมการ เช่น ทำแผนแม่บท (มาสเตอร์แพลน) 

 

CFO แห่ง BA ร่วมยืนยัน เดินหน้าโปรเจกต์ ไม่ได้หยุดนิ่ง!

นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานการเงินและบัญชี บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า ยังคงเดินหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ไม่ได้หยุดนิ่งเลย แต่เงื่อนไขที่จะเข้าไปพัฒนาโครงการได้นั้นมีหลายประการที่เป็นข้อตกลงกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ว่าภาครัฐจะต้องดำเนินการอะไรบ้าง

โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา กองทัพเรือได้ดำเนินการเปิดประมูลก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 2 ไปแล้ว แต่ยังเหลืออีกบางข้อที่ภาครัฐจะต้องดำเนินการอีกเช่นกัน 

ในขณะเดียวกัน ทางเราก็ได้เตรียมการกันมานับตั้งแต่เซ็นสัญญาลงทุนโครงการนี้ ออกแบบแล้วออกแบบอีก เรียกได้ว่าดูกันจนฉ่ำ และอยากเข้าไปพัฒนาแล้ว ก็ได้มีการคุยกับภาครัฐเพื่อขอเปิดพื้นที่ให้เราได้เข้าไปเตรียมงานก่อน เช่น การเตรียมพื้นที่ก่อสร้าง เพราะโครงการนี้มีขนาดใหญ่มากซึ่งต้องใช้เวลาก่อสร้างนาน ก็จะช่วยประหยัดเวลาไปได้บ้าง อย่างน้อยเราก็ใจชื้นว่ารัฐส่งมอบพื้นที่ให้เราแล้ว ทั้งนี้มีบางเรื่องที่ภาครัฐก็ต้องดำเนินการตามเงื่อนไขของสัญญาด้วย

“ยืนยันว่าการดำเนินโครงการนี้ไม่ได้หยุดนิ่ง ได้มีการเตรียมความพร้อมในทุกเรื่องไว้แล้ว”

นายอนวัช กล่าวว่า “อย่างไรก็ตาม ยิ่งทำโครงการล่าช้ามากเท่าใด ก็ยิ่งมีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความล่าช้าเพิ่มขึ้นมาอีก จะบอกว่างบประมาณที่ใส่ลงไป ไม่มีผลกระทบต่อบริษัทเลยคงเป็นไปไม่ได้” 

 

ย้ำชัด "เราไม่ได้ขออะไรเกินเลย มากไปกว่าทำโครงการให้สำเร็จ" 

ต้องย้อนดูวัตถุประสงค์ของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก คือการเป็นสนามบินแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ ซึ่งต้องมีรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อให้การเดินทางสะดวก ผู้โดยสารสามารถเลือกลงสนามบินใดก็ได้ และต้องการทำให้อู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางทางการบิน (ฮับการบิน)

“เป้าหมายของการซื้อซองประมูลโครงการมาก็เพื่อทำสนามบินแห่งที่ 3 เป็นเงื่อนไขที่เอกชนอยากเข้ามาลงทุน ทำงานอย่างเต็มที่ และเพื่อให้เอกชนทำงานได้อย่างที่ตั้งใจไว้จริงๆ ภาครัฐก็ควรสนับสนุนตามสมควร”

“อะไรที่รัฐสามารถช่วยเหลือหรือให้การสนับสนุนได้ ก็ต้องคุยกัน เพราะเราไม่ได้ขออะไรที่เกินเลยมากไปกว่าสิ่งที่คิดว่าจำเป็นสำหรับการทำโครงการให้สำเร็จเลย”

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำ ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ถล่มเมียนมา เวียดนาม ลาว และไทยด้วยกำลังลมที่แรงมาก และทำใ...

ท่วมหนักสุด 'ในรอบ 3 ทศวรรษ' พายุบอริสถล่มยุโรป ผลกระทบจากโลกร้อน

จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ชื่อว่า “พายุบอริส” ส่งผลให้มีฝนตกหนักจากออสเตรียไปจนถึงโรมาเนีย จนเกิด “น้...

ฮามาสโวความสามารถสูง ทำสงครามกาซาต่อได้แม้สูญเสีย

นายโอซามา ฮัมดัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่นครอิสตันบูลของตุรกี ระบุ “ขบวนก...

สงครามสู้ฮามาสและยอดส่งออกร่วง กดดันจีดีพี ‘อิสราเอล’ Q2 ให้โตเพียง 0.7%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในไตรมาสที่สองชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไ...