สศค. รายงานเศรษฐกิจไทยเดือนม.ค.67 มีเสถียรภาพ ยังอยู่ในเกณฑ์ดี

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนม.ค. 2567 ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือนม.ค.2567 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อน ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนม.ค. 2567 อยู่ที่ 1.11% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.52% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธ.ค. 2566 อยู่ที่ 61.3% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 

ขณะเดียวกันเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนม.ค. 2567 อยู่ในระดับสูงที่ 221.6 พันล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือนม.ค. 2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 2.4% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 9.4% ขณะที่ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนม.ค. 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 1.8%  แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 7.6% 

สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนม.ค.2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 2.7% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 1.1% ในขณะที่รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนม.ค.2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 0.6% 

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนม.ค.2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 62.9 จากระดับ 62.0 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และสูงสุดในรอบ 47 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง 

ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนม.ค. 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 26.5%  และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 2.1%  

สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนม.ค. 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 7.2% และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 2.8% ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 3.3% 

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์ ในเดือนม.ค. 2567 อยู่ที่ 22,649.9 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 10.0% และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า เพิ่มขึ้นที่ 9.2% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของสินค้าในหมวดเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 106.3% เครื่องโทรศัพท์ 56.3% อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ 32.2% 

รวมถึงสินค้าข้าวที่ขยายตัว 45.9% ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง 30.1% สิ่งปรุงรสอาหาร 23.3% และเครื่องดื่ม 18.6%  อย่างไรก็ดี การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และน้ำตาลทราย ชะลอตัว 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ปรับตัวดีขึ้นในตลาดทวีปออสเตรเลียขยายตัว 27.2% อาเซียน-5 18.1% และสหรัฐฯ13.7% รวมทั้งกลุ่มตลาดอื่นๆ อาทิ ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States: CIS) ที่ขยายตัวได้สูงถึง 64.6% 

ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน สำหรับภาคบริการมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนม.ค. 2567 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน  3.04 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 41.5% โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ รัสเซีย และอินเดีย

ขณะที่ภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ในเดือนม.ค. 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 4.4% และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล 0.2% จากการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน อย่างไรก็ดี ข้าวโพด และผลผลิตในหมวดไม้ผล ยังคงขยายตัว 

สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนม.ค. 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 90.6 จากระดับ 88.8 ในเดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน  รวมถึงภาคการส่งออกฟื้นตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในตลาดโลก
 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำ ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ถล่มเมียนมา เวียดนาม ลาว และไทยด้วยกำลังลมที่แรงมาก และทำใ...

ท่วมหนักสุด 'ในรอบ 3 ทศวรรษ' พายุบอริสถล่มยุโรป ผลกระทบจากโลกร้อน

จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ชื่อว่า “พายุบอริส” ส่งผลให้มีฝนตกหนักจากออสเตรียไปจนถึงโรมาเนีย จนเกิด “น้...

ฮามาสโวความสามารถสูง ทำสงครามกาซาต่อได้แม้สูญเสีย

นายโอซามา ฮัมดัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่นครอิสตันบูลของตุรกี ระบุ “ขบวนก...

สงครามสู้ฮามาสและยอดส่งออกร่วง กดดันจีดีพี ‘อิสราเอล’ Q2 ให้โตเพียง 0.7%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในไตรมาสที่สองชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไ...