อว.เผย “นายกฯ” มอบนโยบายอุดมศึกษา 5 ข้อ เร่งยกระดับ ให้ทัดเทียมนานาชาติ

รมว.อว.เผย “นายกฯ” ประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษาฯ มอบนโยบาย 5 ข้อ ย้ำ เร่งยกระดับการศึกษาให้ทัดเทียมนานาชาติ ตั้งเป้า นำ อววน.หนุนนโยบายรัฐบาล ต่อยอดนวัตกรรม พร้อมปลดล็อกข้อจำกัดหลักเกณฑ์จัดซื้อ-จ้างเพื่อวิจัยและพัฒนา

ในการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สภานโยบาย) ครั้งที่ 2/2567 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธานการประชุม และมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย (มท.) รองประธานคนที่หนึ่ง และ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รองประธานคนที่สอง พร้อมด้วยรัฐมนตรี ผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

...

นางสาวศุภมาส กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายด้านการอุดมศึกษา ใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. ปรับปรุงหลักสูตรมหาวิทยาลัยให้ทันสมัย มีมาตรฐาน ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานยุคใหม่และเทคโนโลยีใหม่ 2. ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long learning) ให้เหมาะกับบริบท ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย 3. สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคการผลิต และมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ เพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติ 4. บริหารทรัพยากรบุคคลให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Put the right man on the right job) โดยอาจารย์ที่สอนเก่งให้เน้นทำหน้าที่สอน อาจารย์ท่านไหนที่ทำวิจัยเก่งให้เน้นการทำวิจัย 5. ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในมหาวิทยาลัยให้ทันสมัย เพื่อให้นักศึกษาได้คุ้นเคยกับเทคโนโลยีและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ชั้นสูงต่างๆ

ขณะที่ ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบาย โดยเน้นประเด็นด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) 4 ด้าน ได้แก่ 1. สนับสนุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหา สร้างนวัตกรรม สร้างอุตสาหกรรมใหม่ 2. กำหนดสัดส่วนการลงทุน ววน. ในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ชัดเจน ทั้งที่เป็นส่วนวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) หรือ งานวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) โดยขอให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล แต่ไม่ปิดกั้นโอกาสให้นักวิจัยค้นพบเรื่องใหม่ๆ 3. ส่งเสริมสตาร์ทอัพโดยให้มหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นแหล่งบ่มเพาะและสนับสนุนกลไก Matching Fund และ 4. พัฒนาคน พัฒนานักวิจัย ไปพร้อมกับการพัฒนานวัตกรรม

รมว.อว. กล่าวต่อว่าเป้าหมายของการนำ อววน. สนับสนุนนโยบายรัฐบาล 4 ปี ว่า ในด้านความสามารถทางนวัตกรรมและคุณภาพมหาวิทยาลัย ได้ตั้งเป้าหมาย อาทิ การขยับอันดับความสามารถทางการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ที่จัดอันดับโดยสถาบัน IMD ให้อยู่ใน 25 อันดับแรก ดัชนีนวัตกรรมโลก ตั้งเป้าให้อยู่ใน 30 อันดับแรก ยกระดับสถาบันอุดมศึกษาของไทยจำนวน 2 แห่ง ให้อยู่ใน 200 อันดับแรกจากการจัดอันดับของ Times Higher Education (THE) โดยให้มีสถาบันอุดมศึกษาภูมิภาคอย่างน้อย 1 แห่งอยู่ในอันดับระหว่าง 601-800 รวมถึงพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาไทยจำนวน 8 แห่ง ให้อยู่ใน SDG Impact Ranking ส่วนความสามารถกำลังคนทักษะสูง ตั้งเป้าผลิตบัณฑิตวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์หรือ STEM ให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 55% และกำลังคนทักษะสูงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 40%

ที่สำคัญ ยังตั้งเป้าให้มูลค่าการลงทุนด้าน R&D ของประเทศไม่ต่ำกว่า 2% ต่อจีดีพี โดยคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) จากการลงทุนด้าน ววน. ไม่ต่ำกว่า 5 เท่า และสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจอื่น เช่น สิทธิบัตรที่มีผลบังคับใช้ต่อประชากร 100,000 คน เพิ่มขึ้นเป็น 50 รายการ มูลค่าอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลที่ใช้องค์ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม 5.8 แสนล้านบาท ในส่วนของผลกระทบการลงทุน R&D ต่อความสามารถทางเทคโนโลยีของผู้ประกอบการ Startup, SME และเกษตรกร รัฐตั้งเป้าหมายในการปั้นให้เกิด Unicorn Startup 7 บริษัท ธุรกิจฐานนวัตกรรมที่เป็น SMEs มีรายได้รวมทุกบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 7.5 หมื่นล้านบาท เกษตรกรที่ใช้ Smart Farming มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 เท่า ซึ่งที่ประชุมฯ ได้ให้ความเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อน อววน. ตามนโยบายนายกรัฐมนตรีและมอบหมายให้ สอวช. ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรายงานความก้าวหน้าต่อสภานโยบายต่อไป

นอกจากนี้ สภานโยบายยังมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนา และเพื่อการให้บริการทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา ที่ไม่สามารถดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งจะช่วยปลดล็อกข้อจำกัดด้านการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนา และเพื่อการให้บริการทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษามีกลไกการบริหารจัดการพัสดุด้านการวิจัย การบริการวิชาการ และการสร้างนวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษาอย่างเป็นระบบ โดยมุ่งเป้านำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม

“หลักเกณฑ์ที่สภานโยบายเห็นชอบฉบับนี้ จะมีส่วนช่วยให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างที่เหมาะสมกับการวิจัยพัฒนาและการบริการวิชาการสำหรับสถาบันอุดมศึกษาในประเด็นสำคัญต่างๆ เช่น การปรับปรุงวงเงินและเหตุผลที่ซื้อหรือจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง การปลดล็อกให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถซื้อพัสดุที่มีคุณลักษณะพิเศษ หรือการจ้างผู้มีทักษะความชำนาญสูงได้ การกำหนดข้อยกเว้นให้จ่ายเงินค่าพัสดุล่วงหน้าเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากต่างประเทศ รวมทั้งการปลดล็อกให้สามารถโอนพัสดุให้เอกชน วิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพ สหกรณ์ มูลนิธิ วัด องค์กรการกุศล ตามข้อตกลงความร่วมมือหรือสัญญาได้ ทั้งนี้ กระทรวง อว. ได้มอบนโยบายให้เสนอคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ ขอให้สถาบันวิจัยได้ใช้ประกาศฉบับนี้ กับการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนาด้วย” นางสาวศุภมาส กล่าว

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...