เก้าอี้เลขาฯกสทช.เดือดจนนาทีสุดท้ายคาดชื่อ ’ไตรรัตน์‘ มาวินฝ่าเสียงค้าน

จากกรณีที่จะมีการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ครั้งที่ 2/2567 ในวันที่ 17 ม.ค.2567 ในวาระพิเศษ เรื่อง การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.คนใหม่ ซึ่งคาดว่า นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. จะเสนอชื่อ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. และรักษาการเลขาธิการ กสทช. เป็นเลขาธิการ กสทช.คนใหม่ หลังจากที่ยืดเยื้อมานาน เนื่องจากผู้สมัครเข้ารับเลือกเป็นเลขาธิการคนอื่นๆ ต่างก็ได้รับจดหมายแจ้งปฏิเสธจากประธานกสทช. โดยไม่ทราบถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณา และหลายคนได้ยื่นคำร้องให้ชะลอการสรรหาเนื่องจากเห็นว่ากระบวนการสรรหาขาดความโปร่งใส ไม่เป็นธรรม และอาจขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล

โดยมีประเด็นที่ถูกจับตาซึ่งมีผลต่อการชี้ชะตะการโหวตเลขาธิการ กสทช. ครั้งนี้โดยตรง สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 นายไตรรัตน์ ได้ยื่นฟ้องทั้ง 4 กรรมการ กสทช. รวมถึง นายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. ต่อ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 157 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 กรณีตั้งอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย และดำเนินการให้มีการเปลี่ยนรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.โดยคดีดังกล่าวศาลฯ ยังมิได้พิจารณาประทับรับฟ้อง เพียงแค่ตรวจคำฟ้องแล้ว เห็นว่า เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตฯ และเห็นควรเพียงรับคดีไว้เพื่อไต่สวนมูลฟ้องสำเนาฟ้องในวันที่ 7 ก.พ. 2567 ที่จะถึงนี้

จากการยื่นฟ้อง 4 บอร์ดของนายไตรรัตน์ในครั้งนี้ อาจมีผลทำให้บอร์ดกสทช ทั้ง 4 คนต้องออกจากห้องประชุมในช่วงการพิจารณาวาระตั้งเลขาธิการ กสทช. หรือหมดสิทธิ์ลงคะแนนโหวต โดยอ้างความเป็นปฏิปักษ์ระหว่าง 4 บอร์ดกสทช.กับ นายไตรรัตน์

สอดคล้องกับในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ 9 ต.ค.66 ที่ผ่านมา นายไตรรัตน์ได้ทำบันทึกข้อความถึงประธาน กสทช. เรื่องขอคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่พิจารณา และลงมติของ กสทช. จำนวน 4 คน ในวาระพิจารณาเรื่อง การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ที่ขณะนั้นจะมีการประชุม กสทช.ในวันที่ 12 ต.ค.66 โดยคาดว่าจะมีการพิจารณาวาระดังกล่าว แต่ก็มีการเลื่อนวาระการพิจารณามาจนถึงปัจจุบัน และมีการตั้งข้อสังเกตว่า นายไตรรัตน์ทราบได้อย่างไร ว่าตนจะถูกประธานฯ เสนอชื่อ ซึ่งเรื่องนี้แม้แต่กรรมการ กสทช. ผู้ซึ่งมีอำนาจเห็นชอบ ยังไม่มีใครทราบจนถึงปัจจุบันเลยว่าประธานฯ จะเสนอใคร เนื่องจากวาระการประชุมดังกล่าวยังเว้นว่างชื่อไว้ และระบุว่าประธานจะนำเสนอชื่อในที่ประชุม

ส่วนประเด็นเรื่องความเป็นปฏิปักษ์ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 นั้นเคยมีความพยายามที่จะหยิบยกขึ้นมาในที่ประชุม กสทช.เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2566 แล้ว แต่ กสทช. 4 ราย ได้มีบันทึกข้อความคัดค้านว่า แม้ กสทช. ทั้ง 4 คน ถูก นายไตรรัตน์ ฟ้องต่อศาลฯ แต่ไม่ได้ทำให้ กสทช.ทั้ง 4 คน เป็นปฏิปักษ์ หรือไม่เป็นกลางต่อ นายไตรรัตน์ แต่อย่างใด เนื่องจากศาลฯ ยังมิได้วินิจฉัยจนถึงที่สุดว่า กสทช.ทั้ง 4 คน ทำความผิดตามฟ้องจริงหรือไม่ รวมทั้งเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาในกรณีนี้ชี้ว่า การฟ้องร้องคดีลักษณะนี้ ไม่ถือเป็นปฏิปักษ์ความต่อกันมาแล้ว

แหล่งข่าวในสำนักงาน กสทช.ระบุถึงบันทึกข้อความของ นายไตรรัตน์ ระบุความตอนหนึ่งว่า “…ข้าพเจ้า นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. ใคร่ขอความอนุเคราะห์จากท่านประธาน กสทช. ได้โปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรม กรณีที่ประธาน กสทช.จะเสนอชื่อข้าพเจ้า เพื่อเสนอขอความเห็นชอบจาก กสทช. ตามนัยมาตรา 61 แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553

โดยข้าพเจ้าขออนุญาตคัดค้านการพิจารณาและลงมติของ กสทช. จำนวน 4 คน ได้แก่พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, นางสาวพิรงรอง รามสูต,นายศุภัช ศุภชลาศัย และนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ วาระพิจารณา เรื่อง การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการกสทช. ในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 20/2566 วันพฤหัสบดีที่ 12 ต.ค.66 และการประชุมพิจารณาเรื่องดังกล่าวในโอกาสต่อไป”

เนื่องจากข้าพเจ้าได้เป็นโจทก์ฟ้อง กสทช. ทั้ง 4 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 155/2566 ปัจจุบันอยู่ระหว่างตรวจฟ้อง และนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา…ซึ่งแม้ว่า กสทช. ทั้ง 4 คน จะยังมิได้อยู่ในฐานะจำเลยก็ตาม แต่โดยที่ในการปฏิบัติหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบ หรือลงมติในวาระพิจารณา เรื่อง การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. เป็นการใช้อำนาจทางปกครองของกสทช. ซึ่งในการพิจารณาก่อนลงมติถือเป็นการพิจารณาทางปกครองเพื่อจะมีคำสั่งทางปกครอง

ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงขอคัดค้านว่า กสทช. ทั้ง 4 คน เป็นเจ้าหน้าที่เป็นคู่กรณีจะทำการพิจารณาทาง ปกครองไม่ได้ เนื่องจากเป็นบุคคลต้องห้ามตามนัยมาตรา 13 (1) แห่งพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539”

ด้านนพ.สรณ ประธานบอร์ดกสทช.กล่าวว่า การประชุมวันพรุ่งนี้ไม่ได้หนักใจเพื่อยึดตามกระบวนการตามอำนาจของประธานฯ และได้เห็นจดหมายที่นายไตรรัตน์ส่งมาแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับจดหมายอะไรจากบอร์ดทั้ง 4 คนนั้น ดังนั้น พรุ่งนี้ก็คงเดินหน้าประชุมไปก่อนในเวลา 9.00 น.

ด้านนายไตรรัตน์ รักษาการเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า พรุ่งนี้ตนมีภารกิจประชุมที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และขอยืนยันว่า ตนไม่รู้ว่าประธานบอร์ดกสทช.จะเลือกตนเป็นเลขาธิการ กสทช.หรือไม่ และหากอีก 4 บอร์ดไม่ยินยอมก็คงไม่สามารถลงมติได้ ก็คงเข้าสู่กระบวนการสรรหาใหม่ ดังนั้น ทุกอย่างจะเป็นอย่างไรตนไม่ขอคาดการณ์ล่วงหน้า และจนถึงวันนี้ในตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ กสทช.ตนก็ยืนยันว่าได้ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...