'ธนาธร' ชี้ใช้งบสร้างสันติภาพใต้ 20 ปี 2.5 หมื่นล. แต่ไม่มีความเปลี่ยนแปลง

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ที่ อ.เมือง จ.ยะลา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และ นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.ก้าวไกล ร่วม 2 วงเสวนา ในประเด็นการปฏิรูปกฎหมายความมั่นคง การสร้างประชาธิปไตยไทย สู่สันติภาพชายแดนใต้ และการคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อการสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่พื้นที่และประชาชน พร้อมด้วยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ชุมชน รวมถึงตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นายธนาธร เริ่มต้นจากการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการปฏิรูปกองทัพว่าจะส่งผลอย่างไรต่อประเทศไทย และกระบวนการสร้างสันติภาพ โดยสาเหตุที่ต้องหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุยเป็นเพราะกลไกของกองทัพในปัจจุบันยังเป็นกลไกหลักในการผลิตซ้ำค่านิยมอำนาจนิยม ที่อาจส่งผลให้การสร้างความตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพและความหลากหลายเป็นวาระที่ไม่ถูกพูดถึงในพื้นที่ โดยหากจะต้องแก้ปัญหาดังกล่าว ต้องเริ่มจากการสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งจะต้องเริ่มจากการปฏิรูปกฎหมายความมั่นคงและลดบทบาทของกองทัพในพื้นที่ เพื่อเพิ่มวาระทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับประชาชนให้มากขึ้น

นายธนาธร ชวนตั้งคำถามและพิจารณาถึงงบประมาณในการจัดการเรื่องสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ว่า ในงบประมาณ 5 แสนล้านบาท โดยคิดเป็นค่าเฉลี่ยประมาณ 25,000 ล้านต่อปี แต่กลับไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาพื้นที่ที่มากพออย่างเป็นรูปธรรม

"ด้วยเหตุนี้ สิ่งสำคัญจึงเป็นการลดบทบาทกองทัพในกระบวนการสันติภาพ และผลักดันให้พลเมืองเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ทำให้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่ที่สามารถพัฒนาได้ทั้งในเชิงวัฒนธรรมและเชิงเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมและผลักดันให้คนรุ่นใหม่ในพื้นที่ได้กลับมาพัฒนา และขยายโอกาสในพื้นที่ให้ได้มากยิ่งขึ้น" นายธนาธร กล่าว

นายธนาธร กล่าวด้วยว่า ประเด็นนี้ สอดคล้องกับประเด็นในวงเสวนาเรื่องการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น เพราะหากสามารถคืนสันติภาพให้แก่สามจังหวัดชายแดนใต้ จัดสรรงบประมาณในการพัฒนาพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก็ย่อมนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ และส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมให้เกิดเป็นมูลค่าที่มากขึ้นได้ หรือกล่าวได้ว่า นี่จะเป็นการปลดปล่อยศักยภาพของประเทศไทยและพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้ประชาชน

ส่วน นายรอมฎอน กล่าวถึงร่างกฎหมายที่จะเป็นหลักประกันและเป็นพื้นฐานในการที่จะสามารถลดบทบาทของกองทัพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และสามารถนำไปสู่การยุบ กอ.รมน. ได้ แต่การนำเข้าร่างกฎหมายนี้เข้าสู่สภา ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องทำงานหนักในทางความคิด เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ทั้งในภาคประชาชนและในสภา แต่สุดท้ายแล้ว การตัดสินใจที่สำคัญที่สุดคือ การตัดสินใจจากรัฐบาล โดยเงื่อนไขในการคลี่คลายความขัดแย้งคือ ประเทศนี้ต้องเป็นประชาธิปไตย และทุกๆ การตัดสินใจของรัฐบาลพลเรือนต้องรับผิดชอบต่อชะตากรรมของประชาชน

ทั้งนี้ในช่วงท้าย นายธนาธร มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมที่นอกเหนือจากการลดบทบาทกองทัพ นั่นคือการที่การเมืองไทยในแบบรัฐสภาควรจะต้องมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำ และมีเจตจำนงที่แน่วแน่ในการแก้ไขปัญหานี้ หากทำได้ นี่จะเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี ตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนปิเหล็ง ที่มีพลเมืองขึ้นมาเป็นผู้นำในการสร้างสันติภาพ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำ ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ถล่มเมียนมา เวียดนาม ลาว และไทยด้วยกำลังลมที่แรงมาก และทำใ...

ท่วมหนักสุด 'ในรอบ 3 ทศวรรษ' พายุบอริสถล่มยุโรป ผลกระทบจากโลกร้อน

จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ชื่อว่า “พายุบอริส” ส่งผลให้มีฝนตกหนักจากออสเตรียไปจนถึงโรมาเนีย จนเกิด “น้...

ฮามาสโวความสามารถสูง ทำสงครามกาซาต่อได้แม้สูญเสีย

นายโอซามา ฮัมดัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่นครอิสตันบูลของตุรกี ระบุ “ขบวนก...

สงครามสู้ฮามาสและยอดส่งออกร่วง กดดันจีดีพี ‘อิสราเอล’ Q2 ให้โตเพียง 0.7%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในไตรมาสที่สองชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไ...