3 บทเรียนฟื้นฟู ‘การบินไทย’ ต้องมอง Worst case ให้มากขึ้น

จากสายการบินไทยที่เคยเป็นผู้นำในภูมิภาค ต้องมาเจอปัญหาการชำระหนี้และซ้ำเติมด้วยโควิด-19 ในปี 2563 ทำให้ต้องคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตัดสินใจที่จะให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ด้วยการลดสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐเพื่อให้พ้นจากสภาพรัฐวิสาหกิจ

ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้การบินไทยเข้าฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 14 ก.ย.2563 นับเป็นเวลาเกือบ 3 ปี กับการขับเคลื่อนแผนหยุดขาดทุน และมุ่งหารายได้อย่างยั่งยืน สู่วิสัยทัศน์ใหม่ คือ สายการบินเอกชนคุณภาพสูง ที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ด้วยความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทย เชื่อมโยงประเทศไทยสู่ทั่วโลกและสร้างผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “กรุงเทพธุรกิจ” เพื่อถอดบทเรียนหลังการขับเคลื่อนองค์กรภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ โดยระบุว่า ตลอดช่วงที่ผ่านมา การบินไทยดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการมีความคืบหน้าตามแผน และมีความมั่นใจว่าภายในสิ้นปี 2567 จะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้

สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นวิกฤติครั้งสำคัญที่สร้างการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร โดยการเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ได้สร้างบทเรียนครั้งสำคัญให้การบินไทย ประกอบด้วย

บทเรียนที่ 1 การเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการในช่วงโควิด-19 เป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติขององค์กรที่ไม่มีเงินสดและไม่มีใครคิดว่าวันหนึ่งการบินไทยจะไม่มีรายได้เข้ามาถึง 1 ปี เหตุการณ์นี้ทำให้การบินไทยต้องมองการบริหารธุรกิจแบบ “อนุรักษ์นิยม” มากขึ้น และต้องมองสมมติฐานแบบ Worst case มากขึ้น

บทเรียนที่ 2 ความเข้มแข็งขององค์กรต้องมาจากภายใน โดยในวันที่ ครม.ตัดสินใจให้เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ แต่สุดท้ายการทำงานจะอยู่ที่พนักงานเป็นผู้แก้ปัญหา ซึ่งการบินไทยได้เปลี่ยนสถานะจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทเอกชน จากเดิมที่ต้องรับมอบนโยบายจากรัฐบาล แต่ในปัจจุบันไม่มีแล้ว

"การเข้าฟื้นฟูกิจการช่วงโควิด-19 การบินไทยต้องฝ่าวิกฤติครั้งนี้ด้วยตัวเอง ภายใต้ภาวะไม่มีเงินสดดำเนินธุรกิจ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผ่านพ้นช่วงเวลาดังกล่าวมาได้ คือการช่วยเหลือของคนในองค์กร จึงได้บทเรียนสำคัญในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งจากภายในองค์กร

บทเรียนที่ 3 การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอ โดยเมื่อการบินไทยเปลี่ยนจากรัฐวิสาหกิจมาเป็นบริษัทเอกชน การตัดสินใจที่คล่องตัวในฐานะองค์กรเอกชน ทำให้ธุรกิจบริหารงานได้อย่างอิสระและคล่องตัวมากขึ้น หากเทียบกับช่วงที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีขั้นตอนอนุมัติจากภาครัฐตามระเบียบ

“การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ทำให้การบินไทยคล่องตัวกว่าเดิมมาก แต่พนักงานการบินไทยก็ยังมีความคิด มีวัฒนธรรมแบบรัฐวิสาหกิจอยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องค่อยๆ ปรับตัว ซึ่งปัจจุบันก็ถือว่าดีขึ้น และแสดงให้เห็นว่าการบินไทยกำลังเป็นการบินไทยในรูปแบบใหม่ ที่จะไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจแบบเดิมอีก”

ขณะที่ความคืบหน้าของการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟู จากการประเมินผลสำเร็จตามแผนที่ยื่นเสนอไว้ต่อศาลล้มละลายพบว่าปัจจุบันการบินไทยเดินหน้าทำภารกิจแล้วเสร็จ 90% โดยมีการวางโครงสร้างองค์กรตามกำหนด ส่วนที่เหลือเป็นเพียงการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแผน ส่งผลให้ขณะนี้การบินไทยมั่นใจว่าจะสามารถถผลักดันองค์กรออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ในสิ้นปี 2567 ซึ่งเร็วกว่ากำหนด และจะยื่นกลับเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ในไตรมาส 3 ปีหน้า

สำหรับเงื่อนไขของการออกจากแผนฟื้นฟูกิจการนั้น การบินไทยจะต้องผลักดันให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก และต้องมีผลประกอบการเป็นบวกต่อเนื่อง โดยขณะนี้การบินไทยเห็นสัญญาณดังกล่าวแล้วจากกระแสเงินสดในมือ (แคชโฟว์) ที่มีสูงกว่า 50,000 ล้านบาท ประกอบกับแนวโน้มธุรกิจการบินที่ดีอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงนอกฤดูการท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) แต่กลับพบว่าการบินไทยมีรายได้จำนวนมาก ทำให้กำไรสะสม 6 เดือนสูงอยู่ที่ 14,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจุบันการบินไทยและไทยสมายล์มีส่วนทุนติดลบอยู่ที่ 56,000 ล้านบาท หากแปลงหนี้เป็นทุนจะมีเข้ามา 37,500 ล้านบาท ทำให้ขณะนี้จะเหลือส่วนทุนติดลบอยู่ที่ 19,000 ล้านบาท จึงเป็นโจทย์ที่การบินไทยต้องหากำไรมาหักลบกับส่วนทุนนี้ให้ได้จึงจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้ โดยจากผลการดำเนินงานสะสม 6 เดือนแรกก็พบว่าการบินไทยมีกำไร 14,000 ล้านบาท 

ดังนั้นจึงต้องรอดูในช่วงครึ่งปีหลังว่าจะสามารถทำกำไรมากน้อยเพียงใด หลังจากนั้นจึงจะประเมินสถานการณ์แปลงหนี้เป็นทุน

นายชาย ยังกล่าวด้วยว่า ทิศทางดำเนินธุรกิจของการบินไทยหลังจากนี้ ต้องเน้นสร้างความเข้มแข็งภายในองค์กร สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นทั้งธุรกิจหลักจากการขายบัตรโดยสาร และรายได้นอกธุรกิจหลัก (นอนคอร์) เช่น คาร์โก้ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน และครัวการบิน เพื่อให้การบินไทยหลังจากนี้เป็นองค์กรเอกชนที่มีรายได้อย่างยั่งยืน โดยเบื้องต้นกำหนดเป้าหมายเพิ่มรายได้นอนคอร์จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 16% ให้เพิ่มเป็น 20%

ขณะที่แผนเพิ่มรายได้นอนคอร์นั้น การบินไทยจะนำร่องในกลุ่มธุรกิจที่มีความพร้อมสูงอย่างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อทบทวนโมเดลพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2566 หลังจากนั้นจะเริ่มกระบวนการจัดหาพันธมิตร เพื่อจัดตั้งบริษัทลูกเป็น “บริษัทร่วมทุน” ให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจอย่างคล่องตัว และแยกโครงสร้างองค์กร ให้เห็นรายได้อย่างชัดเจน

“พันธมิตรตอนนี้เราเริ่มคุยแล้ว ก็มีทั้งกลุ่มสายการบินและผู้ที่มีประสบการณ์ศูนย์ซ่อมอากาศยาน โดยสเปคของพันธมิตรที่ตั้งไว้ จะต้องตอบโจทย์การบินไทยในการขยายธุรกิจนี้ มีความรู้เรื่องศูนย์ซ่อม มีเงินทุนพร้อม และต้องไม่เป็นคู่แข่งโดยตรงกับการบินไทยในแง่ของธุรกิจหลัก”

ทั้งนี้ พันธมิตรที่การบินไทยต้องการร่วมลงทุนใน “ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา” ต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการบริหารจัดการองค์กร สามารถบริหารต้นทุน และจัดหาลูกค้าได้เป็นอย่างดี ขณะที่เทคโนโลยีในการนำมาใช้ในศูนย์ซ่อมดังกล่าว ประเมินว่าต้องมีการออกแบบให้ศูนย์ซ่อมแห่งนี้ทันสมัย และรองรับการซ่อมบำรุงอากาศยานสมัยใหม่ที่ผู้ผลิตอากาศยานกำหนดไว้

นอกจากนี้ การบินไทยยังประเมินโอกาสในการลงทุน “ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ” ซึ่งเคยเป็นธุรกิจที่การบินไทยเคยดำเนินการมาก่อน แต่ขณะนั้นยังไม่มีดีมานด์ขนส่งสินค้าจากต่างประเทศ ทำให้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน โดยขณะนี้การบินไทยมองเห็นโอกาสในการร่วมทุนกับพันธมิตรใหม่ เพื่อจัดตั้ง “บริษัทร่วมทุน” ในธุรกิจนี้โดยเฉพาะ 

การดำเนินการพันธมิตรจะเน้นจัดหาพันธมิตรที่มีประสบการณ์ขนส่งสินค้า และเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศที่ไม่ได้เป็นคู่แข่งโดยตรงกับการบินไทย เพื่อสนับสนุนการจัดหาออเดอร์ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

“ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศเราแข็งแกร่งอยู่แล้วสำหรับตลาดในประเทศ แต่เราต้องการเปิดตลาดระหว่างประเทศ ดังนั้นจำเป็นต้องหาพันธมิตร ซึ่งคาดว่าโมเดลธุรกิจนี้จะแล้วเสร็จเห็นภาพในปีหน้า เป็นธุรกิจที่น่าสนใจเพราะมีต้นทุนเพียงการจัดหาเครื่องบินมาให้บริการเท่านั้น ซึ่งประเมินว่าในช่วงแรกของการจัดตั้งธุรกิจอาจใช้อากาศยานเพียง 2-3 ลำ”

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำ ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ถล่มเมียนมา เวียดนาม ลาว และไทยด้วยกำลังลมที่แรงมาก และทำใ...

ท่วมหนักสุด 'ในรอบ 3 ทศวรรษ' พายุบอริสถล่มยุโรป ผลกระทบจากโลกร้อน

จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ชื่อว่า “พายุบอริส” ส่งผลให้มีฝนตกหนักจากออสเตรียไปจนถึงโรมาเนีย จนเกิด “น้...

ฮามาสโวความสามารถสูง ทำสงครามกาซาต่อได้แม้สูญเสีย

นายโอซามา ฮัมดัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่นครอิสตันบูลของตุรกี ระบุ “ขบวนก...

สงครามสู้ฮามาสและยอดส่งออกร่วง กดดันจีดีพี ‘อิสราเอล’ Q2 ให้โตเพียง 0.7%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในไตรมาสที่สองชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไ...