ค่ายรถญี่ปุ่นตบเท้าพบ ‘เศรษฐา’ ปลื้มนโยบายเปลี่ยนผ่าน ‘รถสันดาป’ สู่ ‘EV’  

ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปพวงมาลัยขวาซึ่งค่ายรถญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถ และชิ้นส่วนทั้งเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี ปัจจุบันไทยมีการผลิตรถยนต์มากถึง 1.9 ล้านคัน เป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน และอันดับ 10 ของโลก

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และเทรนด์การลดมลภาวะสิ่งแวดล้อมทำให้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มีการเติบโตที่รวดเร็วทั้งในแง่ของผู้ผลิตและผู้ใช้ เฉพาะในประเทศไทยจากมาตรการส่งเสริมที่ผ่านมาทำให้มีค่ายรถยนต์ที่เข้ามาผลิตรถEV มากถึง 13แบรนด์ จาก15บริษัท ทั้งในประเภทรถยนต์นั่งไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ในขณะที่ฝั่งผู้ใช้ ช่วง9เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม–กันยายน2566) มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่จำนวน50,340คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง7.6เท่า 

การเติบโตที่รวดเร็วของรถ EV ในไทยทำให้ที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการของค่ายรถยนต์ที่ยังผลิตและจำหน่ายรถเครื่องยนต์สันดาปแบบเดิมโดยเฉพาะค่ายรถญี่ปุ่นที่ต้องการเวลาและมาตรการที่เหมาะสมในการเปลี่ยนผ่านจากการผลิตรถแบบเดิมไปสู่เทคโนโลยีใหม่ ขณะเดียวกันในแวดวงอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นซัพพายเชนของรถยนต์สันดาปก็มีความกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมรถยนต์หรือไม่

อย่างไรก็ตามนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังได้ประกาศนโยบายที่จะให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถสันดาปแห่งท้ายๆของโลก และพร้อมมีมาตรการสนับสนุนการลงทุนต่อเนื่องของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นโดยสั่งให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จัดทำมาตรการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นเพื่อนำไปเสนอให้กับนักลงทุนในการเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรีและคณะในช่วงกลางเดือน ธ.ค.ที่จะถึงนี้

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอกล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในด้านการส่งออก การจ้างงาน และจำนวนผู้ผลิตในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีจำนวนมากกว่า 2,300 ราย

มาตรการจูงใจลงทุนเปลี่ยนเทคโนโลยียานยนต์

ล่าสุดบอร์ดบีโอไอที่มีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน ได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุน การลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์นำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ (Automation and Robotics) มาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสำหรับการผลิตรถยนต์ ทั้งแบบสันดาปภายใน ไฮบริด และปลั๊กอินไฮบริด ครอบคลุมทั้งกิจการเดิมและการลงทุนใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในวงเงิน 50% ของเงินลงทุนในระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ และในกรณีที่โครงการใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติในประเทศ ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า30% ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในวงเงิน 100% ของเงินลงทุนในระบบดังกล่าว ทั้งนี้ต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2567

นโยบายตรงใจค่ายรถญี่ปุ่น

โดยมาตรการที่ออกมาบีโอไอได้มีการหารือกับตัวแทนของค่ายรถยนต์ และตัวแทนเอกชนของญี่ปุ่นเช่น องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ เป็นต้นเพื่อให้ได้มาตรการที่ตรงกับความต้องการของนักลงทุนที่จะลงทุนเพิ่มในประเทศไทย

ทั้งนี้หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้มีการประกาศนโยบายการสนับสนุนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป และประกาศมาตรการ ยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ สนับสนุนผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่มีความเคลื่อนไหวจากค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่เข้าพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล ดังนี้

1.บริษัท โตโยต้า เข้าพบนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยนายมาซาฮิโกะ มาเอดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเชีย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น และนายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และคณะผู้บริหาร เข้าพบนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรียืนยันว่ารัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนการลงทุนในประเทศไทย โดยรัฐบาลตระหนักดีถึงความสำคัญของบริษัทยานยนต์ญี่ปุ่นห่วงโซ่อุปทานของไทย ซึ่งไม่ใช่เพียงบริษัทโตโยต้าเท่านั้น แต่รวมไปถึงทุกบริษัทยานยนต์ญี่ปุ่นรายอื่นๆ

รัฐบาลได้เตรียมความพร้อม ทั้งการเชิญชวนการลงทุนต่าง ๆ การหาแนวทางและมาตรการที่เหมาะสม เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการ โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าจะมีการหารือ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ร่วมกันในอนาคตให้ครอบคลุม ทั้งปัจจัยภายใน คือ การปรับปรุงโครงสร้าง (Internal structure) และปัจจัยภายนอก คือ การเพิ่มมาตรการหรือแรงจูงใจ (Incentive) ร่วมกัน โดยในเดือนธันวาคม 2566 นี้นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการที่จะเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นจะนำเอามาตรการนี้ไปประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนญี่ปุ่นทราบ

ขณะที่ผู้บริหารของบริษัทโตโยต้า กล่าวว่าบริษัทเล็งเห็นถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ในไทยที่มีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะกลุ่มรถกระบะและ Eco-Car ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งไทยมีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก

ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยจึงกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกไปทั่วโลกโดยยืนยันว่าจะร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน ควบคู่กับการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมไปถึงแนวทางการผลิตยานยนต์ทั้งประเภทรถยนต์สันดาป (ICE) ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้า ทั้ง HEV, PHEV, BEV และ FCEV เพื่อรักษาห่วงโซ่อุปทานและภาคการส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย

2.บริษัทฮอนด้า เข้าพบนายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีนายโทชิโอะ คุวาฮาระ (Mr. Toshio Kuwahara) ประธานบริษัท เอเชี่ยน ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด (สำนักงานใหญ่ฮอนด้าประจำภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย) และ นายฮิเดโอะ คาวาซากะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เข้าพบนายกรัฐมนตรี

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ได้รับทราบถึงความต้องการที่จะเป็นแนวทางสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเสมอว่า ญี่ปุ่นเป็นมิตรประเทศที่สำคัญของไทยอย่างยาวนาน ไม่ใช่เพียงบริษัทใดบริษัทหนึ่งเท่านั้น แต่รวมไปถึงทุกบริษัทของญี่ปุ่นด้วย โดยกว่า 50 ปีที่ผ่านมา บริษัทญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่สนับสนุนประเทศไทยให้สามารถเป็นอยู่ได้อย่างทุกวันนี้ พร้อมเชื่อมั่นว่าไทยจะร่วมงานกับทุกบริษัทในการผลักดันการดำเนินการและพัฒนาการผลิตยานยนต์ และต่อยอดไปในภาคการผลิตอื่น ๆ ซึ่งจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง 

ขณะที่ผู้บริหารของฮอนด้ากล่าวขอบคุณสำหรับความอนุเคราะห์จากรัฐบาลไทยด้วยดีเสมอมา ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของภูมิภาค รวมทั้งยังเป็นฐานการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของฮอนด้าทั่วโลกด้วย โดยบริษัทแสดงความมุ่งมั่นที่จะสานต่อการดำเนินธุรกิจในไทย และสนับสนุนนโยบายด้านพลังงานสะอาดและมาตรการยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่ฮอนด้าให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนควบคู่ไปกับการลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร พร้อมมีแนวทางที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า BEV ในไทย ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม 2566 นี้ 

รวมทั้งได้หารือร่วมกันในประเด็นด้านมาตรการอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ BOI และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการที่เหมาะสม เป็นประโยชน์ร่วมกันและส่งเสริมความร่วมมือในตลอดกระบวนการของ Supply Chain โดยให้ความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะทำให้การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ทั้งในช่วงเปลี่ยนการผ่านจากรถสันดาป ไปสู่ภาคอุตสาหกรรม EV อีกทั้งในช่วงเดือนธันวาคม 2566 นี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการที่จะเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น จึงเชื่อมั่นว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถต่อยอดในประเด็นดังกล่าวเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นให้เกิดผลประโยชน์ที่ครอบคลุมความต้องการของผู้ประกอบการได้

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำ ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ถล่มเมียนมา เวียดนาม ลาว และไทยด้วยกำลังลมที่แรงมาก และทำใ...

ท่วมหนักสุด 'ในรอบ 3 ทศวรรษ' พายุบอริสถล่มยุโรป ผลกระทบจากโลกร้อน

จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ชื่อว่า “พายุบอริส” ส่งผลให้มีฝนตกหนักจากออสเตรียไปจนถึงโรมาเนีย จนเกิด “น้...

ฮามาสโวความสามารถสูง ทำสงครามกาซาต่อได้แม้สูญเสีย

นายโอซามา ฮัมดัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่นครอิสตันบูลของตุรกี ระบุ “ขบวนก...

สงครามสู้ฮามาสและยอดส่งออกร่วง กดดันจีดีพี ‘อิสราเอล’ Q2 ให้โตเพียง 0.7%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในไตรมาสที่สองชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไ...