เฮ-ผับบาร์ ปิดตี 4 กระตุ้นท่องเที่ยว กทม.-ชลบุรี-ภูเก็ต-เชียงใหม่ ดีเดย์ 15 ธ.ค.

“นักเที่ยว” เฮ “นายกฯเศรษฐา” เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งตำรวจฝ่ายปกครอง และหน่วยงานความมั่นคง ถกไฟเขียวเปิดสถานบริการถึงตี 4 กระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ไม่ได้เน้นเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยด้วย ดีเดย์ 15 ธ.ค. นำร่อง 4 จังหวัด กทม. ชลบุรี เชียงใหม่ และภูเก็ต แต่ต้องอยู่ในโซนนิ่ง “อนุทิน” รับลูกเตรียมจัดโซนนิ่ง ออกกฎกระทรวงสนองนโยบาย แจงใครอยู่ในโซนนิ่งมีใบอนุญาตถูกต้องเปิดถึงตี 4 ได้เลย ส่วนร้านอาหารคล้ายสถานบริการ จากที่อนุญาตให้เปิดได้ถึงเที่ยงคืนจะพยายามหาทางให้เปิดถึงตี 2 “ชัชชาติ” แจงนำร่อง กทม.ใช้โซนนิ่งเดิมย่านอาร์ซีเอ รัชดา เพชรบุรี และทองหล่อให้ทันวันที่ 15 ธ.ค. ส่วนจุดอื่นต้องรออีกนานเพราะขั้นตอนเยอะ

รัฐบาลอนุมัติเปิดสถานบริการถึงตี 4 เพื่อกระตุ้น เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวครั้งนี้ เปิดเผยจากห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 3 พ.ย. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธานหารือแผนบูรณาการท่องเที่ยว เปิดสถานบันเทิงถึงเวลา 04.00 น. ในพื้นที่ กทม. จ.ภูเก็ต จ.ชลบุรี (พัทยา) และ จ.เชียงใหม่ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย นายอารัญ บุญชัย ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และตำรวจที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ กล่าวในที่ประชุมว่า นโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวเป็นนโยบายหลักรัฐบาลนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง และกระทรวงมหาดไทยล้วนมีส่วนผลักดัน เรื่องการเปิดสถานบริการถึงตี 4 นี้ ยืนยันเราคิดกันมาดีแล้ว พูดคุยกับฝ่ายความมั่นคงด้วย และเห็นว่าเป็นประเด็นที่ความจริงมีการลักลอบทำกันอยู่บ้างแล้ว เราทำให้มันถูกต้องตามกฎหมายก็แล้วกัน แต่ต้องดูเรื่องโซนนิ่งว่าเขตไหนเหมาะสม ส่วนเรื่องผลดีเป็นการเสริมสร้างรายได้ให้ประชาชน กระตุ้นการท่องเที่ยว แต่เรื่องผลกระทบที่จะตามมา ปัญหาอาชญากรรม หรือความไม่สบายใจของเพื่อนบ้าน เรื่องเมาไม่ขับ หรือปัญหายาเสพติดก็ต้องให้ความสำคัญ ขอให้ดูกันให้ครบทั้งหมดในทุกเรื่อง

...

หลังประชุม นายเศรษฐาพร้อมด้วยนายอนุทิน และนายชัชชาติ ร่วมแถลงข่าว นายกฯกล่าวว่า เรื่องขยายเวลาเปิดสถานบริการถึงตี 4 กทม. จ.ชลบุรี จ.เชียงใหม่ และ จ.ภูเก็ต เป็นจังหวัดหลัก ตรงไหนสามารถทำได้ทำก่อน ตนเน้นย้ำที่ทำเรื่องนี้เพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการท่องเที่ยว ไม่ใช่เฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเดียว ถ้าเราสามารถเปิดระยะเวลาได้ยาวขึ้น พี่น้องประชาชนที่ค้าขายเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร หรือสถานบริการอย่างอื่นสามารถเปิดบริการได้มากยิ่งขึ้น ตรงนี้มีนัยสำคัญหลายๆนัย เช่น นักท่องเที่ยวที่มาจากต่างประเทศ เขาไม่ได้ทานข้าวเร็วเหมือนเรา บางคนทานข้าวตั้งแต่ 3-4 ทุ่มก็มี หากสถานบริการปิดเที่ยงคืนหรือตี 2 เขาต้องมาเร่งเพื่อกินข้าวให้เสร็จเร็ว จำนวนอาหารที่จะสั่งก็น้อยลง เราไม่ได้เน้นแค่เปิดสถานบริการขายสุราอย่างเดียว เพราะถ้าระยะเวลาน้อย การใช้จ่ายเงินก็น้อยลงไป เป็นเรื่องการขยายระยะเวลา

“สำหรับกระทรวงมหาดไทยจะดูในเรื่องของการทำโซนนิ่ง ใบอนุญาตต่างๆที่จะทยอยตามมา แต่เดดไลน์ที่เราวางไว้คือ วันที่ 15 ธ.ค. ส่วนเรื่องอื่นที่จะตามมา ได้สั่งการสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ดูแลประชาชน ทำความเข้าใจกับนโยบายนี้ เรื่องที่อาจมีเสียงรบกวน เรื่องเมาไม่ขับ ตรงนี้ผมเน้นย้ำไป และให้ติดกล้องซีซีทีวีให้มากขึ้น เอาเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม จะมาช่วยเหลือเรื่องเมาไม่ขับตรงนี้ด้วย” นายเศรษฐากล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กำชับเรื่องปัญหายาเสพติดด้วยหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องนี้ต้องตรวจค้นอย่างเข้มข้นต่อไป สำหรับระยะเวลาการเปิดวางไว้ถึงตี 4 แล้วแต่เขตและพื้นที่ด้วย และต้องเป็นไปตามกฎหมาย ทั้งนี้ การเปิดถึงตี 4 เบื้องต้นน่าจะให้เป็นการชั่วคราวก่อน เพราะอาจมีการเปลี่ยนโซนนิ่งและการปรับเปลี่ยนกฎหมายอะไรหลายๆอย่าง ส่วนของ กทม.จะจัดโซนแน่นอน ไม่ใช่ทั้งหมด ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติมั่นใจว่า ถ้าเป็นนโยบายรัฐบาล กำลังพล เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะสามารถบริหารจัดการได้ ส่วนจำนวนเม็ดเงินสำหรับการเปิดบริการถึงตี 4 ยังไม่มีการคำนวณ

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย เผยว่า ตอนนี้มีรายละเอียดประเภทของสถานบริการ ทั้งสถานบริการที่ได้รับอนุญาตและ อยู่ในโซนนิ่งอยู่แล้ว อันนั้นจะเปิดให้ถึง 04.00 น. กับร้านอาหารที่คล้ายสถานบริการที่มีเวลาปิด 24.00 น.จะหาทางให้เปิดถึง 02.00 น. เพื่อให้ทำมาหากิน แต่ขณะนี้กฎหมายอนุญาตให้ขายแอลกอฮอล์ได้ถึง 24.00 น. ตรงนี้จะพยายามให้นั่งสบายๆ ช่วง

24.00 น.ถึง 02.00 น. แต่ไม่สามารถเล่นดนตรีได้ เพียงแต่ขยายเวลาให้นั่งได้ สำหรับร้านที่ไม่มีใบอนุญาต แต่เปิดเกินเวลาจะเข้าลักษณะร้านอาหาร ถ้าไม่ขายแอลกอฮอล์ ไม่มีดนตรี จะเปิดถึงเช้าก็ไม่มีใครว่า แต่ถ้าขายแอลกอฮอล์จะได้ถึงแค่เที่ยงคืน ที่จะขยายเวลาเพราะเราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่เฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ ถ้าผู้ประกอบการสามารถขายอาหารเพิ่มได้ จะมีการจ้างงาน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

“ส่วนการจัดโซนนิ่งในพื้นที่ท่องเที่ยว นายกฯ ระบุต้องดู เพราะนักท่องเที่ยวกินข้าวเย็นกัน 22.00 น. ถ้าจำกัดเวลาแค่ 24.00 น. สั่งอาหารได้น้อย หากขยายเวลาแล้วอยู่ในโซนนิ่ง มีการควบคุม มีใบอนุญาตถูกต้องก็เปิดได้ อาจไม่ทั้งหมดเพราะมีกฎหมายกำกับไว้ แต่พยายามจะคลายให้มากที่สุด กระทรวงมหาดไทยรับบัญชาจากนายกฯและคุยกับตำรวจแล้ว จะทำร่างประกาศกระทรวงให้สอดคล้องกัน กฎกระทรวงต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ และประกาศลงราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับ อีกทั้งต่อไปกระทรวงมหาดไทยเตรียมเสนอออกเป็น พ.ร.บ.ให้อำนาจผู้ว่าฯสามารถประกาศพื้นที่โซนนิ่งและเวลาเปิดปิด ผมเห็นด้วยเพราะหากจะขอขยายเวลาปิดเปิดแล้วต้องไปถึงขั้นแก้กฎหมายจะทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวลำบาก” นายอนุทินกล่าว

ต่อมาเวลา 17.15 น. ที่ศาลาว่าการ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ในส่วนของ กทม.หนึ่งในจังหวัดนำร่อง เสนอที่ประชุมหารือมาตรการขยายเวลาปิดสถานบริการถึงเวลา 04.00 น. แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกเริ่มนำร่องสถานบริการในพื้นที่โซนนิ่งเดิม เช่น ย่านอาร์ซีเอ รัชดา เพชรบุรี ทองหล่อ และผับบาร์ในโรงแรม ที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.โรงแรม 2547 ประเภท 4 เป็นโรงแรมที่ให้บริการห้องพัก ห้องอาหาร หรือสถานที่สำหรับบริการอาหาร หรือ สถานที่สำหรับประกอบอาหาร สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการและห้องประชุม สัมมนา มีประมาณ 35 แห่ง ซึ่งง่ายต่อการควบคุมดูแล ทั้งเรื่องยาเสพติด ความปลอดภัย ประกอบกับมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใช้บริการอยู่ก่อนแล้ว เป็นวิธีการที่ง่ายและทำได้เร็วที่สุด เพื่อให้ทันใช้วันที่ 15 ธ.ค.นี้

“ส่วนขั้นตอนที่ 2 ให้สำรวจพื้นที่โซนอื่นๆ ต้องใช้เวลาเพราะมีหลายขั้นตอน เช่น ลงพื้นที่สำรวจจุด ได้จุดแล้วต้องตรวจสอบความเหมาะสม ทั้งตัวอาคาร ระบบภายในมีความปลอดภัยตามมาตรฐานหรือไม่ ที่สำคัญต้องสำรวจความเห็นประชาชน ในพื้นที่ด้วยว่า เห็นด้วยหรือไม่ เพื่อไม่ให้กระทบหรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญ กว่าจะได้ข้อสรุปใช้เวลานาน เมื่อได้แล้วค่อยทยอยทำเพิ่มเติมในภายหลัง” นายชัชชาติกล่าว

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำ ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ถล่มเมียนมา เวียดนาม ลาว และไทยด้วยกำลังลมที่แรงมาก และทำใ...

ท่วมหนักสุด 'ในรอบ 3 ทศวรรษ' พายุบอริสถล่มยุโรป ผลกระทบจากโลกร้อน

จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ชื่อว่า “พายุบอริส” ส่งผลให้มีฝนตกหนักจากออสเตรียไปจนถึงโรมาเนีย จนเกิด “น้...

ฮามาสโวความสามารถสูง ทำสงครามกาซาต่อได้แม้สูญเสีย

นายโอซามา ฮัมดัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่นครอิสตันบูลของตุรกี ระบุ “ขบวนก...

สงครามสู้ฮามาสและยอดส่งออกร่วง กดดันจีดีพี ‘อิสราเอล’ Q2 ให้โตเพียง 0.7%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในไตรมาสที่สองชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไ...