อิสราเอลแจงไม่มีข้อจำกัดแรงงานไทยกลับประเทศ

สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย เผยแพร่แถลงการณ์ เป็นเวลากว่าสามทศวรรษมาแล้วที่แรงงานไทยมีบทบาทสำคัญในภาคเกษตรกรรมของอิสราเอล โดยเริ่มจากเพียงไม่กี่ร้อยคนในช่วงทศวรรษ ๑๙๘๐ และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน ข้อตกลงทวิภาคีในปี ๒๕๖๓ ระหว่างรัฐบาลอิสราเอลกับรัฐบาลไทยได้แก้ไขกระบวนการจ้างงาน โดยรัฐบาลทั้งสองร่วมกันดูแลเรื่องสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงาน รวมถึงหลีกเลี่ยงการแสวงหาผลประโยชน์จากคนกลางและบริษัทจัดหางานเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันมีคนไทยจำนวน ๓๐๐๐๐ คนทำงานในอิสราเอล โดยได้รับเงินเดือนเป็นที่น่าพอใจและมีสวัสดิการตามกฎหมายแรงงานของอิสราเอล แรงงานไทยเหล่านี้อาศัยอยู่ร่วมกับชาวอิสราเอลอย่างกลมกลืนในชุมชน ร่วมแบ่งปันทุกข์สุขกับเรามาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งล่าสุดที่ปะทุขึ้นเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ซึ่งเกิดจากการก่อการร้ายของกลุ่มฮามาสทางตอนใต้ของอิสราเอล ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อผู้คนจำนวนมาก คร่าชีวิตประชาชนจำนวนมาก จากหลากหลายเชื้อชาติรวมถึงคนงานไทยรายงานเบื้องต้นระบุว่า คนงานไทย ๓๑ คนต้องสูญเสียชีวิตอย่างน่าสลดใจ บาดเจ็บ ๑๘ ราย และถูกจับเป็นตัวประกัน ๑๙ ราย

จากเหตุการณ์นี้เป็นที่เข้าใจได้ว่า แรงงานไทยจำนวนมากอยากกลับบ้าน กว่า ๓๐๐๐ คน เดินทางออกจากอิสราเอลไปแล้ว และอีกประมาณ ๕๐๐๐ คนแสดงเจตจำนงที่จะเดินทางกลับประเทศไทย ท่ามกลางข่าวลือที่แพร่สะพัด รัฐบาลอิสราเอลให้คำมั่นกับทางการไทยว่า ไม่มีข้อจำกัดใดๆ สำหรับแรงงานผู้ที่ต้องการจะกลับมา เมื่อใดที่เหตุการณ์สงบลง อิสราเอลยินดีต้อนรับพวกเขาให้กลับมาทำงานในอิสราเอล

การกลับไปของคนไทยรวมถึงแรงงานชาติอื่นๆ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อห่วงโซ่อาหารของอิสราเอล ดังนั้นเพื่อเป็นกำลังใจให้แรงงานต่างชาติอยู่ทำงานต่อ กระทรวงเกษตรอิสราเอลจึงทำจดหมายถึงนายจ้างทุกคน ระบุว่า ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้ดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อตอบรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการต่อวีซ่าทำงานของแรงงานไทยออกไปเป็นปีที่ ๖ โดยทันที และจะพิจารณาให้ขยายออกไปเป็นปีที่ ๗ อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงฯ ยังได้จัดงบประมาณประมาณ ๒๐ ล้านเช็กเกิล (ประมาณ ๑๘๐ ล้านบาท) เพื่อชดเชยให้แรงงานต่างชาติ รวมถึงเงินช่วยเหลือพิเศษรายเดือนให้ผู้ที่ยังคงทำงานอยู่ตามแนวชายแดนฉนวนกาซาจนถึงสิ้นปี

นอกจากนั้นกระทรวงเกษตรอิสราเอลได้สร้างที่หลบภัยเพิ่มขึ้นใหม่อีก ๔๓๐ แห่งในบริเวณที่มีการเกษตรทั่วประเทศ โดยเพิ่มขึ้นจากที่หลบภัยซึ่งมีอยู่แล้ว ๖๐๐ แห่งซึ่งกระจายอยู่ทางภาคใต้ของอิสราเอล บรรดาที่หลบภัยใหม่นี้จะอยู่ในบริเวณที่มีแรงงานอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่นในฟาร์มโคนม อาคารบรรจุผลิตผลการเกษตร ทั้งยังเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของแรงงานในระหว่างการทำงาน

ตรงกันข้ามกับรายงานข่าวที่แพร่สะพัดอยู่ในขณะนี้ การจ่ายเงินให้แรงงานยังคงมีอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยมีกำหนดในวันที่ ๑๐ ของแต่ละเดือนตามปกติ ข่าวลือเรื่องการจ่ายเงินล่าช้า อาจเกิดจากการร้องขอเงินชดเชยก่อนกำหนดก็เป็นได้ แม้สถานการณ์ความขัดแย้งยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ทางการอิสราเอลก็ได้แนะนำให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนให้แรงงานตรงตามกำหนดคือในวันที่ ๑๐ ของทุกเดือน

เอกอัครราชทูตอิสราเอลนางออร์นา ซากีฟ กล่าวว่า

“เราซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่งต่อความตั้งใจของแรงงานไทยในการรักษาห่วงโซ่อาหารของอิสราเอลในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ ทั้งนี้การอุทิศตนของพวกเขาทำให้กลไกการผลิตอาหารดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่องเพื่อประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในอิสราเอล”

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ลมพายุใหญ่ทำให้หลายอย่างในสหรัฐชัดขึ้น

นอกจากจะทำความเสียหายร้ายแรงในรัฐฟลอริดาแล้ว พายุเฮลีนยังพัดต่อไปทำความเสียหายร้ายแรงในรัฐอื่นอีกด้ว...

นายกฯ อิสราเอลชี้ สังหารผู้นำฮามาส ‘จุดเริ่มต้นยุติสงครามกาซา’

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน ตามที่กองทัพอิสราเอลแถลงว่า หลังจากไล่ล่ามาอย่างยาวนาน กองทัพก็ “ขจัด นายยาห์...

ทุกคะแนนมีค่า ‘แฮร์ริส-ทรัมป์’ เดินสายให้สัมภาษณ์ขยายฐานเสียง

สำนักข่าวเอพีรายงาน เมื่อไม่กี่วันก่อน คามาลา แฮร์ริส ให้สัมภาษณ์ชาร์ลามาญ (Charlamagne tha God) เจ้...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า (3) | World Wide View

เสียมราฐ เป็นจังหวัดสำคัญทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา หลาย ๆ คนรู้จักในฐานะที่ตั้งของนครวัดและโ...