พรรคประชาชนจวกรัฐบาล เตะถ่วงกฎหมายนิรโทษ "พิเชษฐ์" ตัดบทชิงปิดประชุม

สภาฯเปิดฉากถกแนวทางนิรโทษไม่ตกผลึก “พิเชษฐ์” ชิงปิดประชุมไม่ให้โหวต เลื่อนไปอีกสัปดาห์ พรรคประชาชนโวยแหลกเตะถ่วง สะท้อนภาพ รัฐบาลขัดแย้งง่อนแง่น นายกสมาคมทนายฯออกโรงป้อง “ทักษิณ-เพื่อไทย” แก้ต่าง 6 ข้อหานักร้องไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง คุยหาตัวนายกฯในบ้านจันทร์ฯเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่ “อิ๊งค์” นั่งคุม 5 กุนซือ เร่งผุดนโยบายหารายได้เข้าประเทศ ปักหมุดเปิด

“โรสวูด” นัดดินเนอร์พรรคร่วม

หลังจากพรรคร่วมรัฐบาลมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่จะให้พิจารณานิรโทษกรรมความผิดในมาตรา 112 และสภาผู้แทนราษฎร เลื่อนวาระพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาพิจารณาแนวทางตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไปหลายรอบ ในที่สุดสภาฯนำรายงานดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาแต่ไม่ได้ข้อสรุปใดๆ

สภาฯได้ฤกษ์ถกแนวทางนิรโทษ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 17 ต.ค. ที่รัฐสภามีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานที่ประชุม จากนั้นช่วงบ่ายที่ประชุมได้พิจารณารายงานของคณะ กมธ.วิสามัญศึกษาพิจารณาแนวทางตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะ กมธ.ฯ เป็นผู้ชี้แจงเนื้อหารายงาน ที่มีทั้งแนวทางการตรา พ.ร.บ.ล้างมลทิน แนวทางการขอพระราชทานอภัยโทษแนวทางการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างอื่น นำเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน มากำหนดขอบเขตช่วงเวลานิรโทษกรรม มุ่งเน้นการกระทำที่มูลเหตุเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง เช่น ความผิดฐานเป็นกบฏ ความผิดต่อเจ้าพนักงาน แยกคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง รวมถึงมาตรการ อื่นๆ เช่น การนิรโทษกรรมโดยมีเงื่อนไข เสนอรูปแบบนิรโทษกรรมทั้งแบบอัตโนมัติ แบบให้มีคณะกรรมการวินิจฉัย และแบบผสมผสาน

...

ยอมรับ ม.110-112 ยังอ่อนไหว

นายชูศักดิ์กล่าวอีกว่า ข้อสังเกตที่เกิดจากการศึกษาของคณะกรรมการอิสระในหลายชุดที่ผ่านมา รวมทั้งความเห็น กมธ.ฯที่เห็นว่า ความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112 ยังคงเป็นประเด็นอ่อนไหวและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ แต่ข้อสังเกตของ กมธ.ฯไม่ได้บังคับหรือผูกมัด ครม.ต้องดำเนินการตามที่เสนอ ย้ำว่ารายงานนี้ได้ขอเลื่อนมา 2-3 ครั้ง เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันว่า รายงานนี้เป็นเพียงการศึกษาที่ได้รับมอบหมายจากสภาฯ ดังนั้น ที่ประชุมควรรับทราบรายงานเพื่อนำผลไปประกอบการพิจารณาในอนาคต

ปชน.จี้ไฟเขียว-ภท.-ปชป.รุมค้าน

ต่อมา สส.ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดย สส.พรรคประชาชน (ปชน.) ต่างอภิปรายสนับสนุนรายงานของ กมธ.ฯที่ให้นิรโทษกรรมรวมคดีมาตรา 112 อาทิ นายวีรนันท์ ฮวดศรี สส.ขอนแก่น รวมถึงนายชริน วงศ์พันธ์เที่ยง สส.พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น ส่วน สส.พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เรียงหน้าลุกขึ้นค้าน อาทิ นายสนอง เทพอักษรณรงค์ สส.บุรีรัมย์ พรรค ภท. โดยเฉพาะนางนันทนา สงฆ์ประชา สส.บัญชีรายชื่อ อภิปรายว่า รายงาน กมธ.ฯกำกวม ไม่ชัดเจน พรรคภท.มีเลือดสีน้ำเงินอันเข้มข้น มีจุดยืนไม่แตะต้อง และพร้อมที่จะปกป้องมาตรา 112 ด้วยชีวิต เราไม่มีทางที่จะพิจารณาเด็ดขาด ไม่ว่าใครทั้งสิ้นที่กระทำความผิดมาตรา 112 จะไม่ร่วมพิจารณารายงานด้วยในทุกๆกรณีถ้ามีมาตรา 112 รวมถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายย้ำไม่เห็นด้วย

ปธ.เพื่อไทยตัดบทปิดประชุม

กระทั่งเวลา 16.50 น. หลัง สส.อภิปรายครบทุกพรรคแล้ว นายพิเชษฐ์ ประธานที่ประชุม กล่าวว่า เนื่องจากมีความเห็นแตกต่างกันจำนวนมาก และ กมธ.ฯได้ชี้แจงทำให้เข้าใจกันทุกฝ่ายแล้ว แต่นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน.ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้านทักท้วงว่า เมื่อเห็นไม่เหมือนกันต้องลงมติ ทำให้ สส.ซีกรัฐบาลทั้งพรรค ภท.และพรรค พท.แสดงตัวพร้อมจะลงมติแล้ว แต่ตัวแทนฝ่าย กมธ.ฯ อาทิ นายชัยธวัช ตุลาธน ขอชี้แจงต่อ โดยนายพิเชษฐ์พยายามไกล่เกลี่ยถ้าให้กมธ.ฯชี้แจงไปเรื่อยๆจะไม่จบ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังไม่ทันได้ข้อสรุปว่า ควรให้โหวตลงมติ หรือให้ กมธ.ฯชี้แจงต่อ นายพิเชษฐ์ได้สั่งปิดการประชุมทันที ในเวลา 16.58 น. แม้จะมี สส.ตะโกนทักท้วง แต่นายพิเชษฐ์ไม่สนใจ ทำให้ต้องเลื่อนไปพิจารณาหาข้อสรุปกันต่อในสัปดาห์หน้า

“ต๋อม” โวยชิงปิดสภาเตะถ่วง

ต่อมานายชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทาง การตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แถลงถึงกรณีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ ชิงปิดการประชุมสภาฯว่า เราไม่เห็นด้วย และไม่มีเหตุผลใดที่จะปิดการประชุมสภาฯอย่างนี้ เพราะ กมธ. แทบไม่ได้ชี้แจงอะไรเลย ทำไมถึงชิงปิดประชุม ทำให้เสียโอกาสในการผลักดันวาระอื่นๆเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯด้วย แต่ไม่ว่ารายงานของ กมธ. จะผ่านการพิจารณาของสภาฯหรือไม่ เมื่อเปิดสมัยประชุมในสมัยหน้าจะมีร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจ่อเข้าพิจารณาอยู่แล้วรวม 4 ฉบับ โดยร่างของอดีตพรรคก้าวไกล จ่อเป็นลำดับที่ 6 ไม่เข้าใจว่า จะเตะถ่วงกันเพื่ออะไร หรือเพื่อให้ทุกพรรคร่วมรัฐบาล เอาข้อสรุปความเห็นที่ทั้งสมาชิกในสภาฯ และสาธารณะฟังแล้วไปสรุป เพื่อเสนอในร่างของตัวเอง

เย้ยเสถียรภาพรัฐบาลง่อนแง่น

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน. ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ขอให้จับตาดูการประชุมสภาฯ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานสภาฯ สั่งปิดการประชุมก่อนเวลาที่เหมาะสม มือปิดประชุมจะเป็นตัวแทนจากพรรคแกนนำรัฐบาล มีสาเหตุคือ กลัวองค์ประชุมล่ม กลัวประชาชนจะเห็นภาพ สส.ฝั่งรัฐบาลอยู่ไม่ครบองค์ประชุม แต่วันนี้พรรค ปชน.และพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรค ภท.และพรรค พปชร.ยืนยันพร้อมที่จะโหวต นั่นแสดงว่า เราไม่ล่มองค์ประชุมแน่ เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยก็ส่งไปที่ ครม.ไม่เห็นด้วยถือว่ารายงานฉบับนี้ตกไป หรือการชิงปิดประชุมครั้งนี้ส่งสัญญาณถึงเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ไม่อยากให้สังคมเห็นภาพความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลว่า เสถียรภาพง่อนแง่น สถานการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อปลายรัฐบาลที่แล้ว ที่พรรคร่วมรัฐบาลกันเองคุยกันไม่รู้เรื่อง ไม่เห็นพ้องกันในหลายๆเรื่องต้องชิงปิดประชุม ทั้งที่มีญัตติด่วนกรณีดิ ไอคอน ที่สังคมให้ความสนใจ การชิงปิดประชุมไม่เกิดประโยชน์ เพราะคราวหน้าก็ต้องกลับมาคุยเรื่องนี้อีกครั้ง

“นายกฯอิ๊งค์” นั่งหัวโต๊ะ 5 อรหันต์

เมื่อเวลา 09.05 น. ที่บ้านพิษณุโลก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เป็นประธานการประชุมหารือข้อราชการร่วมกับคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษา นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษาฯ นายศุภวุฒิ สายเชื้อ นายธงทอง จันทรางศุ และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่ปรึกษาฯ โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมเป็นครั้งที่ 2 ตามวงรอบปกติภายหลังจากก่อนหน้านี้ นายกฯได้ให้แนวทางการทำงานในเรื่องต่างๆกับที่ปรึกษาฯแต่ละด้าน โดยในที่ประชุมที่ปรึกษาฯแต่ละด้านได้รายงานความคืบหน้าการขับเคลื่อนการทำงานให้นายกฯรับทราบ

ให้รอลุ้นออกนโยบายสร้างรายได้

จากนั้นเวลา 13.30 น. นายพงศ์เทพให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า มีการหารือในหลายๆเรื่อง บางเรื่องเป็นการภายในขออนุญาตไม่เปิดเผย นายกฯเล่าให้ฟังว่าได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว สำหรับเรื่องที่สำคัญคือ การหาช่องทางสร้างรายได้ให้กับประเทศ สัปดาห์นี้คณะที่ปรึกษานโยบายนายกฯจะเชิญหน่วยงาน ต่างๆมาให้ข้อมูล นโยบายจะเป็นประโยชน์กับประชาชน ยังเปิดเผยไม่ได้ว่าเป็นเรื่องอะไร ต้องรอให้ได้ข้อสรุปก่อน

ปักหมุดดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า จากกรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค พท. นัดหัวหน้า และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล รับประทานอาหารเพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการทำงาน หยิบยกประเด็นทางการเมืองในทุกเรื่องขึ้นมาหารือ รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 21 ต.ค. เบื้องต้นกำหนดสถานที่จัดงานไว้ที่โรงแรมโรสวูด กรุงเทพฯ ถนนเพลินจิตร เขตปทุมวัน เวลา 18.00 น. ถือเป็นการนัดหัวหน้าพรรคร่วมรับประทาน อาหารครั้งแรกของ น.ส.แพทองธาร

ทนายเสื้อแดงโต้ 6 คำร้องสอย พท.

วันเดียวกัน นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย อดีตทนายความเครือข่ายคนเสื้อแดง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ตามที่ทนายความที่อ้างว่าเป็นอิสระ ยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 กล่าวหานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และพรรคเพื่อไทย (พท.) ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวม 6 ข้อ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 เลิกการกระทำดังกล่าวนั้น คำร้องที่ 1 เห็นว่าอดีตนายกฯไปพักรักษาตัวที่ชั้น 14 รพ. ตำรวจ เกิดขึ้นในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และได้พักรักษาตัวต่อเป็นไปตามความเห็นของแพทย์ ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 มาตรา 55 วรรคสาม บัญญัติให้ห้องพักรักษาตัวที่ชั้น 14 เป็นสถานที่คุมขัง อันถือได้ว่าอดีตนายกฯ ยังรับโทษถูกคุมขังอยู่ตลอดเวลา ไม่มีการกระทำใดที่เป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทตามที่กล่าวหา

คุยหาคนเป็นนายกฯได้เสรีทุกที่

นายนรินท์พงศ์กล่าวอีกว่า คำร้องที่ 2 การเจรจาเรื่องเขตพื้นที่ทับซ้อนเป็นหน้าที่หลักของรัฐบาล ตามคำร้องบรรยายเองว่า “อาจ” ละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทย หมายถึงยังไม่กระทำ ไม่มีเหตุจะขอให้ศาลสั่งให้เลิกสิ่งที่ยังไม่ได้กระทำ คำร้องที่ 3 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (1) ผู้มีสิทธิเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ได้แก่ สส.-สว.และประชาชนเข้าชื่อกัน 50,000 ชื่อ ส่วนพรรคการเมืองไม่มีสิทธิยื่นญัตติ ไม่มีเหตุที่จะขอให้ศาลสั่งให้ผู้ไม่มีสิทธิเลิกการใช้สิทธิ คำร้องที่ 4 การพูดคุยทางการเมืองเพื่อหารือถึงผู้ที่สมควรเป็นนายกฯคนใหม่ (ถ้ามี) มิได้เกิดขึ้นที่บ้านจันทร์ส่องหล้าเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศอันมีลักษณะเป็นสภากาแฟ เป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 และ 36 ส่วนการลงมติเห็นชอบผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ เป็นอำนาจและเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาดของ สส.ตามมาตรา 124 ไม่ใช่อำนาจของพรรคการเมืองและไม่ใช่การใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา49

เฟ้น รมต.เป็นอำนาจไม่ใช่สิทธิ

นายนรินท์พงศ์กล่าวว่า คำร้องที่ 5 การคัดสรรผู้สมควรเป็นรัฐมนตรี เป็นหน้าที่และอำนาจ (ไม่ใช่สิทธิ) ของนายกฯ ส่วนพรรคการเมืองไม่มีอำนาจและหน้าที่ จึงไม่ใช่เรื่องของการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำร้องที่ 6 นโยบายที่นายกฯแถลงต่อรัฐสภาตามมาตรา 162 เมื่อวันที่ 12 ก.ย.เป็นนโยบายของ ครม. ประกอบด้วยบุคคลที่มาจากหลายพรรคการเมืองรวม 36 คน แต่ไม่ใช่นโยบายของพรรคการเมือง อีกทั้งพรรคเพื่อไทย มีรัฐมนตรีไม่ถึงครึ่งครอบงำ ครม.ไม่ได้

“เด็จพี่” บี้สอบจริยธรรม “ลุงป้อม”

ที่รัฐสภา นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) แถลงว่า ได้ยื่นหนังสือถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ให้เร่งตรวจสอบพฤติกรรมของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) น่าจะทำผิดจริยธรรมร้ายแรง ได้แก่ 1.ลาประชุมสภาฯ ไปต่างประเทศ บินหรู อยู่สบาย ด้วยเครื่องบินส่วนตัวที่สงสัยว่าเป็นของเจ้าสัวหรือไม่ เข้าข่ายรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเกินกว่า 3,000 บาทหรือไม่ 2.ลาประชุมต่อเนื่อง อาทิ เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ลาไปทำบุญที่ภาคอีสาน แต่วันที่ 16 ต.ค. มาสภาฯเซ็นชื่อเข้าร่วมประชุมแล้วกลับบ้านทันที หากเป็นพนักงานเอกชนเป็นการโกงบริษัท พล.อ.ประวิตรเป็น สส.น่าจะผิดมาตรา 157 หรือไม่ และขอให้ตรวจสอบว่าทั้ง 11 ครั้งที่เข้าสภาฯเซ็นเองหรือมีคนนำเอกสารให้ พล.อ.ประวิตรเซ็นหรือไม่ เสียบบัตรแทนกันหรือไม่

กมธ.หวั่นผลพวงคดีตากใบสิ้นอายุ

น.ส.พรรณิการ์ วานิช เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาฯแถลงถึงคดีตากใบว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ประชุม กมธ.มีข้อกังวลตรงกัน หากไม่สามารถนำตัวจำเลยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก่อนคดีหมดอายุความวันที่ 25 ต.ค. กมธ.มีมติว่า จะเชิญนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม นายฉัตรชัย บางชวด เลขาฯ สมช.และ พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 มาหารือร่วมกันในวันที่ 24 ต.ค. ว่าจะรับมือกับสถานการณ์อย่างไร อาจมีการฉกฉวยประเด็นนี้ไปเป็นข้ออ้างในการก่อเหตุความรุนแรงเพิ่มขึ้นในพื้นที่หรือไม่

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ลมพายุใหญ่ทำให้หลายอย่างในสหรัฐชัดขึ้น

นอกจากจะทำความเสียหายร้ายแรงในรัฐฟลอริดาแล้ว พายุเฮลีนยังพัดต่อไปทำความเสียหายร้ายแรงในรัฐอื่นอีกด้ว...

นายกฯ อิสราเอลชี้ สังหารผู้นำฮามาส ‘จุดเริ่มต้นยุติสงครามกาซา’

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน ตามที่กองทัพอิสราเอลแถลงว่า หลังจากไล่ล่ามาอย่างยาวนาน กองทัพก็ “ขจัด นายยาห์...

ทุกคะแนนมีค่า ‘แฮร์ริส-ทรัมป์’ เดินสายให้สัมภาษณ์ขยายฐานเสียง

สำนักข่าวเอพีรายงาน เมื่อไม่กี่วันก่อน คามาลา แฮร์ริส ให้สัมภาษณ์ชาร์ลามาญ (Charlamagne tha God) เจ้...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า (3) | World Wide View

เสียมราฐ เป็นจังหวัดสำคัญทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา หลาย ๆ คนรู้จักในฐานะที่ตั้งของนครวัดและโ...