ธปท.ชี้ดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% เหมาะสมกับการเติบโตเศรษฐกิจ

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวในงานMonetary Policy Forum ครั้งที่ 3/2566 เพื่อชี้แจงต่อนักวิเคราะห์ถึงการดำเนินนโยบายการเงินของธปท.ในช่วงที่ผ่านมา โดยระบุว่า ตั้งแต่ธปท.ได้ทำกระบวนการ Normalization โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ได้เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตั้งแต่เดือนส.ค.ปีที่แล้ว และได้ดำเนินมา 1 ปีกว่าถือเป็นการถอนคันเร่ง ซึ่งได้ทำให้อัตราเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมาย เศรษฐกิจก็เข้าสู่สมดุลยภาพ เครื่องยนต์สินเชื่อก็ทำหน้าที่ได้ดี และอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็กลับเข้าสู่ภาวะสมดุล

ทั้งนี้ ในภาพเศรษฐกิจนั้น โจทย์หลักของกนง.ที่ผ่านมา คือ การทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวต่อเนื่องขณะนี้ จีดีพีได้ฟื้นตัวมาอยู่ในระดับก่อนโควิดแล้ว ส่วนการบริโภคภาคเอกชน การจ้างงานนอกภาคเกษตร รายได้ลูกจ้างนอกภาคเกษตรก็ฟื้นตัวต่อเนื่องและสูงกว่าช่วงก่อนโควิดแล้ว ด้านนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น ปีที่แล้วนักท่องเที่ยวเข้ามา 5 ล้านคน ปีนี้ เข้ามา 20 ล้านคน ผู้ว่างงานก็ลดลงเรื่อยๆ จากที่สูงสุดช่วงโควิดมาอยู่ที่ 2.6% ฉะนั้น เศรษฐกิจก็ฟื้นตัวต่อเนื่อง

โจทย์ถัดมาของกนง. คือ ให้การขยายตัวแบบยั่งยืน ซึ่งตัวแปรสำคัญของการขยายตัวอย่างยั่งยืน คือเงินเฟ้อ ซึ่งเงินเฟ้อภาพรวมนั้น ปีที่แล้วเงินเฟ้อได้เร่งตัวขึ้นมากและเร็ว ส่วนใหญ่มาจากราคาน้ำมันและอาหารสด แต่เราคิดว่า เป็นการเร่งตัวแบบชั่วคราว ฉะนั้น เป้าหมายนโยบายการเงินทำให้เงินเฟ้อที่ขึ้นและลงมีความชั่วคราว ไม่ฝังลงไปในระบบ ซึ่งก็ต้องยึดเหนี่ยวกับการคาดการณ์ของเงินเฟ้อ และประกอบกับการดูแลเศรษฐกิจไม่ให้ไปเสริมเงินเฟ้อในปีนี้และปีหน้า ซึ่งการดำเนินนโยบายของกนง.ก็ทำให้เงินเฟ้อลดลง

ทั้งนี้ การเร่งขึ้นของเงินเฟ้อของไทยเทียบประเทศอื่นนั้น จะพบว่า การเร่งขึ้นและลดลงของเงินเฟ้อของไทยเกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้นประมาณ 1 ปี เทียบประเทศอื่นโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วเงินเฟ้อขึ้นและลงช้า โดยเฉพาะในสหรัฐและอังกฤษ โดยเงินเฟ้อของไทยต่ำสุดในโลกและอาเซียน แต่มองไปข้างหน้าเงินเฟ้อก็มีความเสี่ยงด้านสูง

ในแง่อัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น เมื่อเราถอนคันเร่งมาตั้งแต่ต้น การขึ้นดอกเบี้ยจึงเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะเห็นว่า สปีดการขึ้นดอกเบี้ยต่ำเทียบกับประเทศอื่น ขนาดการขึ้นเราขึ้น 2% ถือว่า ไม่ได้สูงประเทศพัฒนาแล้วเฉลี่ย 4% ตอนนี้ ดอกเบี้ยถือว่า ต่ำเทียบในโลก นอกจากนั้น ถ้าเทียบดอกเบี้ยระยะปานกลาง สิ่งที่ตลาดคาด 2 ปีข้างหน้าดอกเบี้ยไทยก็ใกล้สมดุลแล้ว ประเทศส่วนใหญ่ดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่าระดับคาดใน 2 ปีข้างหน้าแล้ว ฉะนั้น สิ่งที่กนง.ดำเนินมาถือว่า การขึ้นดอกเบี้ยใกล้เคียงจุดสมดุลและนโยบายการเงินไม่ได้เป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจชะลอลง

ในแง่การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปยังภาคเอกชนนั้น ถือว่า ใกล้เคียงกับอดีต ประมาณ 60% ของการขึ้นดอกเบี้ยได้ส่งผ่านไปยังภาคเอกชน โดยธนาคารพาณิชย์เองมีความพยายามแยกแยะการขึ้นดอกเบี้ยระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และเล็ก โดยการขึ้นดอกเบี้ย MLR จะสูงกว่า MRR นอกจากนี้ ระดับของการขึ้นนั้น MLR จะขึ้น 1.4% ส่วน MRR จะขึ้นเพียง 1% ฉะนั้น อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นของไทยถือว่า อัตราดอกเบี้ยของไทยที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่ได้เพิ่มสูงมากเทียบกับประเทศอื่น ยกตัวอย่าง อัตราดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านปรับขึ้นไปประมาณ 4% ของไทยขึ้นประมาณ 1%เท่านั้น และในช่วงที่เราปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้น เราก็ได้มีมาตรการมาช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ส่วนภาพการปล่อยสินเชื่อนั้น ตั้งแต่โควิดถึงปัจจุบัน การขยายตัวของสินเชื่อนั้น มีความต่อเนื่องมากกว่าประเทศอื่น แทนที่จะหดตัวลงในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย แม้ที่ผ่านมา จะมีการชะลอตัวบ้าง ก็เป็นธรรมชาติของเครื่องยนต์สินเชื่อที่ต้องพัก

จับตาทิศทางราคาน้ำมันพุ่ง

ส่วนเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสว่า เป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล และมีความไม่แน่นอนว่าสถานการณ์จะลุกลาม และยืดเยื้อหรือไม่ ซึ่งคาดเดาได้ไม่ง่าย เนื่องจากตะวันออกกลางมีประวัติศาสตร์ที่ยาวไกล อย่างไรก็ดี ประเด็นที่เป็นห่วงคือ ถ้าราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นและอยู่ระดับสูงสักระยะหนึ่ง จะทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และกดดันค่าเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆเมื่อเทียบกับดอลลาร์จะอ่อนค่าลง ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้านำเข้าสินค้าและน้ำมันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยช่วงที่ราคาน้ำมันในประเทศถูกอุดหนุนโดยรัฐบาล อาจทำให้ต้นทุนและภาระของกองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้น ดังนั้นอาจต้องปรับมาตรการภายในประเทศให้เหมาะสมด้วย

เศรษฐกิจดีไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ

นายภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงินนโยบายการเงินกล่าวเสริมว่า แม้ว่า การดำเนินนโยบายการเงินจะสามารถนำอัตราดอกเบี้ยกลับเข้ามาสู่ระดับเหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจแบบมีศักยภาพในระยะยาว และครั้งนี้ การตัดสินใจล่าสุดมีการส่งสัญญาณว่า เราถึงจุดนั้นแล้วแต่ก็ยังมีบางคำถามที่ถามกันบ่อยว่า เมื่อมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลง เหตุใดกนง.จึงปรับขึ้นดอกเบี้ยอยู่ ซึ่งหลักการสำคัญในการพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายของกน.คือ การมองไปข้างหน้า การใช้นโยบายการเงินที่เหมาะสมกับสถานการณ์และความจำเป็น และการตระหนักถึงต้นทุนในการทำนโยบาย เพราะเราต้องชั่งน้ำหนักระหว่างสิ่งที่ได้กับสิ่งที่เสียไป

ทั้งนี้ ในด้านหลักการพิจารณาถึงการมองไปข้างหน้านั้น เหตุผล คือ นโยบายการเงินนั้น จะใช้เวลาในการทำงาน เมื่อประเมินระยะเวลาข้างหน้าก็ใช้เวลา 6 ไตรมาส กว่านโยบายจะมีผล ดังนั้น เราก็ต้องประเมินภาวะเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย โดยเราไม่ได้มองเป็นจุดว่าปีหน้าจะโตเท่าไหร่และปรับดอกเบี้ยให้เหมาะสม

“ถ้าสมมุติ เราทำนโยบายแบบข้อมูลออกมาเราปรับดอกเบี้ยตามนั้น หน้าตาดอกเบี้ยจะผันผวนมาก แต่ถ้าเราใช้มองภาพไปข้างหน้า ดอกเบี้ยนโยบาย เป็นหลักการที่เราหลีกเลี่ยงการผูกดอกเบี้ยนโยบายกับความผันผวนระยะสั้น กระบวนการคิดแบบนี้ เป็นหลักการที่เราทำแบบสากลทั่วไป”

ส่วนเรื่องความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน เขากล่าวว่า ด้วยภาพเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวดีขึ้น เราคิดว่า มีความจำเป็นน้อยลง เพราะการขยายตัวเศรษฐกิจยังเป็นไปตามคาด การใช้ดอกเบี้ยต่ำในขณะนี้ จึงช่วยอะไรมากไม่ได้ ขณะที่ ค่าเงินบาทอ่อนด้วยซ้ำ และขอเน้นย้ำว่า อัตราดอกเบี้ยที่ 2.5% และเราได้ถอนคันเร่ง เศรษฐกิจมีโมเมนตั้มไม่ต้องอาศัยการสนับสนุนอะไรเป็นพิเศษจากนโยบายเงิน และแม้ไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในปีหน้าภาพการนำดอกเบี้ยนโยบายนี้ก็ยังเหมาะสม

มีคำถามด้วยว่า อย่างน้อยๆขอดอกเบี้ยต่ำไว้ไม่ได้เหรอ จะได้ช่วยเศรษฐกิจ เขากล่าวว่า เป็นเรื่องต้นทุนการใช้ดอกเบี้ยนโยบายมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องที่ได้มาฟรี เพราะกลไกสินเชื่อและนโยบายการเงินนั้น เราใช้มาอย่างหนักมากในช่วงโควิด ตอนนี้ ไม่จำเป็นต้องเร่งเครื่องสินเชื่อ อีกด้าน การใช้นโยบายการเงิน เป็นการดึงรายได้ในอนาคตมาใช้ ซึ่งจะเร่งให้เกิดการกู้ยืม และยังมีหลายสัญญาณเมื่อดอกเบี้ยนโยบายต่ำเป็นเวลานาน จะมีความเสี่ยงที่มาก อาทิ หลายกรณีมีเรื่องหนี้ครัวเรือน เก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนในสหกรณ์มากเป็นพิเศษ ถือเป็นสัญญาณชีพจรว่า ดอกเบี้ยที่ต่ำมากนาน จะสร้างแรงจูงใจให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น จะเป็นความเปราะบางในระบบ ถ้าไม่จำเป็น สุดท้ายจะเกิดต้นทุนได้ในอนาคต

“การขยายสินเชื่อที่สูงในช่วงโควิดที่ผ่านมา มาถึงจุดนี้จำเป็นต้องพักฐาน ซึ่งการใช้นโยบายดอกเบี้ยก็มีต้นทุน เพราะเราใช้เงินในอนาคต สะท้อนผ่านภาระหนี้ในประเทศที่สูงขึ้น โดยภาระหนี้ในสินเชื่อ Home และ Corporate เทียบต่อจีดีพีไทยอยู่ที่ 170-180% ของจีดีพี ซึ่งประเทศเกิดใหม่ มีภาระหนี้ต่ำกว่าไทยซึ่งหากเราต้องใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีก จะต้องเป็นเพราะเศรษฐกิจไทยเผชิญกับวิกฤต”

จีดีพีปีหน้าโต4.4%นับรวมมาตรการกระตุ้นรัฐบาลแล้ว

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงินกล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจว่าเศรษฐกิจในปีนี้ จะขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.8% ซึ่งเป็นผลจากอุปสงค์ต่างประเทศ ส่วนปีหน้ามีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นที่ 4.4% ซึ่งเป็นตัวเลขที่เราบวกมาตรการภาครัฐไปแล้ว ดังนั้น เครื่องยนต์เศรษฐกิจจะมาพร้อมกันหลายตัว ทั้งการบริโภคเอกชนจะขยายตัวได้ 4.6% การลงทุนก็คาดจะมาในปีหน้าจากเม็ดเงินเมกกะโปรเจกส์และทำให้เอกชนลงทุนเพิ่มเติมด้วย อีกตัวที่น่าจะฟื้นตัวได้ คือ การส่งออกจะกลับมาเป็นบวกจาก -1.7% ในปีนี้ เป็น 4.2% ในปีหน้า ทั้งนี้ ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยจะมาจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวช้าเป็นหลัก

นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงินกล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 66 คาดว่า จะอยู่ในระดับต่ำ จากฐานที่สูงในปีที่แล้ว และ เรื่องปัจจัยเฉพาะในเรื่องผลผลิตเกษตรที่ออกมามาก ทำให้เงินเฟ้อหมวดอาหารสดลดลง หรือมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพทั้งไฟฟ้าและน้ำมันดีเซล ทำให้เงินเฟ้อปรับลงต่ำ ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปี 2567 มีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้น บางไตรมาสอาจจะเกิน 3% แต่ในภาพรวมระยะปานกลางประมาณปี 2568 จะกลับไปอยู่ในจุดเป้าหมาย โดยรวมถือว่า มีเสถียรภาพ แต่เราก็ติดตามความเสี่ยงด้านสูง เพราะว่า ปี 2567 จะมีปัจจัยด้านอุปทานไม่ว่าจะเป็นด้านเอลนีโญหรือเศรษฐกิจที่ขยายตัวดี

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำ ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ถล่มเมียนมา เวียดนาม ลาว และไทยด้วยกำลังลมที่แรงมาก และทำใ...

ท่วมหนักสุด 'ในรอบ 3 ทศวรรษ' พายุบอริสถล่มยุโรป ผลกระทบจากโลกร้อน

จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ชื่อว่า “พายุบอริส” ส่งผลให้มีฝนตกหนักจากออสเตรียไปจนถึงโรมาเนีย จนเกิด “น้...

ฮามาสโวความสามารถสูง ทำสงครามกาซาต่อได้แม้สูญเสีย

นายโอซามา ฮัมดัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่นครอิสตันบูลของตุรกี ระบุ “ขบวนก...

สงครามสู้ฮามาสและยอดส่งออกร่วง กดดันจีดีพี ‘อิสราเอล’ Q2 ให้โตเพียง 0.7%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในไตรมาสที่สองชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไ...