นักวิเคราะห์ชี้ ‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ ทำเศรษฐกิจอ่อนแอ เครดิตประเทศลด เสี่ยงขาดดุลสูง

ข้อถกเถียงว่าด้วยเรื่องนโยบาย “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ยังคงฝุ่นตลบ หลัง “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีเชิญ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมโต๊ะรับประทานอาหารหารือประเด็นด้านเศรษฐกิจและการเงิน โดยก่อนหน้านี้ “ดร.นก” เคยออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวว่า ควรเป็นการทำแบบเฉพาะกลุ่มจะช่วยประหยัดงบประมาณ และไม่กระทบเสถียรภาพจนเกินไป นอกจากผู้ว่าฯ คนปัจจุบันแล้ว กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์แนวหน้าของไทย นำโดยอดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ “วิรไท สันติประภพ” และ “ธาริษา วัฒนเกส” ร่วมออกแถลงการณ์ค้านการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท พร้อมกับนักเศรษฐศาสตร์รวม 99 คน ระบุว่า นโยบายนี้อาจทำประเทศเสียโอกาสการลงทุน และ “ได้ไม่คุ้มเสีย”

ไม่เพียงกลุ่มนักการเงิน-นักวิชาการไทยเท่านั้น แต่บรรดาสถาบันจัดอันดับเครดิตทางการเงินระดับโลกยังมีความเห็นไปในทิศทางคล้ายกัน โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า “เศรษฐา ทวีสิน” ตั้งเป้าจีดีพีประเทศเติบโตเฉลี่ย 5 เปอร์เซ็นต์ตลอด 4 ปี ทว่า แผนการดำเนินงานแรกๆ ของรัฐบาลชุดนี้กลับเป็นความพยายามในการผลักดันนโยบาย “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” มีงบประมาณที่ต้องใช้จ่ายในโครงการสูงถึง 5 แสนล้านบาท นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องการดำเนินนโยบายพักชำระหนี้ไปพร้อมกับการแจกเงินดิจิทัลด้วย ท่ามกลางการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นจึงมีแนวโน้มที่ประเทศจะขาดดุลทางการคลัง นำไปสู่ปัจจัยเสี่ยงในการรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ได้

บลูมเบิร์กชี้ว่า เป้าหมายของ “เศรษฐา ทวีสิน” ในตอนนี้ คือการผลักดันให้ประเทศเติบโตเฉลี่ย 5 เปอร์เซ็นต์ตามที่เจ้าตัวได้ลั่นวาจาไว้ นโยบายของรัฐบาลจึงทุ่มไปกับการใช้จ่ายจำนวนมหาศาลเพื่อการกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์และอุปทานในตลาด แต่ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นได้สร้างความวิตกกังวลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่ถือครองพันธบัตรจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นในระยะสั้น รวมทั้งยังกระทุ้งความตึงเครียดระหว่างนายกรัฐมนตรีและผู้ว่าฯ แบงก์ชาติที่ต้องการให้เกิดการใช้จ่ายตรงตามเป้าหมายมากขึ้น

 

“มูดีส์” (Moody’s) ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า นโยบายการคลังของประเทศไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นอาจส่งผลให้เกิดการขาดดุลการคลัง รวมทั้งยังเป็นเพิ่มภาระหนี้ให้ภาครัฐมากขึ้น ยิ่งในตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ทางการคลังในระยะกลางว่า รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะหากหนี้สูงอันดับเครดิตประเทศก็จะลดลงด้วย

ด้าน “เอสแอนด์พี” (S&P Global Ratings) ระบุว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายแจกเงินจะทำให้รัฐบาลเป็นหนี้เร็วขึ้น หากมีการกู้ยืมเพิ่มก็จะยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้นในปีงบประมาณ 2566 กระทบอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งจะเป็นสาเหตุทำให้อันดับเครดิตลดลงได้ โดย “เอสแอนด์พี” มองว่า ตัวเลขจีดีพีของไทยในปีนี้จะเติบโต 2.8 เปอร์เซ็นต์ และในปีหน้า (ปี 2567) จะขยายตัวเพิ่มเป็น 3.5 เปอร์เซ็นต์ โดยได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่กำลังทยอยฟื้นตัว รวมถึงความเชื่อมั่นในการลงทุนหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ

“ฟิทช์ เรตติ้ง” (Fitch Ratings) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มองว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบาย “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” คือรัฐบาลจะไม่สามารถรักษาเสถียรภาพระดับหนี้สาธารณะได้ เนื่องจากงบประมาณการคลังตกต่ำเป็นเวลานาน การดำเนินนโยบายที่ส่งผลให้ประเทศขาดดุลงบประมาณมากขึ้นอาจสร้างแรงกดดันต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการใช้จ่ายภายในประเทศจากการกระตุ้นด้วยนโยบายแจกเงินไม่สามารถพยุงการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างแข็งแรง ก็อาจสร้างแรงกดดันทำให้อันดับเครดิตประเทศลดลงในที่สุด

 

อ้างอิง: Bloomberg

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำ ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ถล่มเมียนมา เวียดนาม ลาว และไทยด้วยกำลังลมที่แรงมาก และทำใ...

ท่วมหนักสุด 'ในรอบ 3 ทศวรรษ' พายุบอริสถล่มยุโรป ผลกระทบจากโลกร้อน

จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ชื่อว่า “พายุบอริส” ส่งผลให้มีฝนตกหนักจากออสเตรียไปจนถึงโรมาเนีย จนเกิด “น้...

ฮามาสโวความสามารถสูง ทำสงครามกาซาต่อได้แม้สูญเสีย

นายโอซามา ฮัมดัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่นครอิสตันบูลของตุรกี ระบุ “ขบวนก...

สงครามสู้ฮามาสและยอดส่งออกร่วง กดดันจีดีพี ‘อิสราเอล’ Q2 ให้โตเพียง 0.7%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในไตรมาสที่สองชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไ...