เหตุการณ์ "14 ตุลาคม 2516" เกิดขึ้นอย่างไรและส่งผลอะไร

เนื่องจากมีปัจจัยจำนวนมากที่ช่วยส่งเสริมกันและกันอย่างพอเหมาะพอเจาะ ไม่ว่าจะเป็น ผลของการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองที่ไม่สม่ำเสมอ ไม่ทั่วถึง ทำให้เกิดการผูกขาด การกระจายทรัพย์สินและรายได้ที่ไม่เป็นธรรม

ค่าแรงในยุคนั้นต่ำมาก คือวันละ 10 บาทและรัฐบาลเผด็จการทหารห้ามคนงานจัดตั้งสหภาพแรงงานด้วย ภาวะความเดือดร้อนเรื่องค่าครองชีพ เช่น ข้าวสารมีราคาสูงขึ้นมากในช่วงนั้น โดยพ่อค้าได้กำไรมากกว่าชาวนา

การผูกขาดอำนาจการเมืองการทหาร โดยกลุ่มจอมพลถนอม-ประภาสติดต่อกันนาน (ราว 10 ปี ก่อนหน้านั้นคือ จอมพลสฤษดิ์อีก 5 ปี) และมีการคาดหมายว่า 2 ผู้นำรัฐบาลเผด็จการจะให้พันเอกณรงค์ กิตติขจร ลูกชายจอมพลถนอม (ซึ่งเป็นลูกเขยจอมพลประภาสด้วย) สืบอำนาจต่อ

นำไปสู่การขัดแย้งกับนายทหารกลุ่มอื่นๆ ที่มีตำแหน่งและอาวุโสระดับรองจากจอมพลถนอม-ประภาสลงมา

นอกจากนี้แล้ว การแพร่ระบาดของการทุจริตฉ้อฉล (คอร์รัปชัน) การเล่นพรรคเล่นพวก การใช้อำนาจบาตรใหญ่ของผู้มีอำนาจ ฯลฯ ขยายตัวมาถึงจุดที่เริ่มสร้างความไม่พอใจในหมู่นักศึกษาและประชาชนมากขึ้น

การเติบโตของเศรษฐกิจ การศึกษา และสื่อสารมวลชน ทำให้มีการเผยแพร่ความคิดแบบเสรีประชาธิปไตยและการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง

มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น (รวมทั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษาได้จำนวนมาก) มีนักศึกษาปัญญาชนรุ่นใหม่ที่เริ่มมีความรู้/ความตื่นตัวทางการเมืองสังคมเพิ่มขึ้น

กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสังคมของนิสิตนักศึกษาและวรรณกรรม เช่น บทกวี เรื่องสั้น บทความต่างๆ มีส่วนหนุนช่วยให้นักศึกษาสนใจปัญหาสังคมการเมืองเพิ่มขึ้น

พวกนักศึกษาในช่วงปี 2514-2516 เริ่มมีบทบาทในการรณรงค์คัดค้านรัฐบาลเผด็จการในประเด็นต่างๆ มาตามลำดับ ดังนั้น เมื่อกลุ่มนักศึกษาปัญญาชนกล้าหาญที่จะชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ประชาชนส่วนต่างๆ จึงให้การสนับสนุนมาก

แม้แต่นักธุรกิจสมัยใหม่ในยุคนั้นจำนวนมากที่ไม่พอใจกับปัญหาความด้อยประสิทธิภาพ/ล่าช้าและการทุจริตฉ้อฉลของรัฐบาลและระบบราชการ ก็คงอยากได้ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเช่นกัน

ในช่วง 14 ตุลาคม 2516 นั้น สังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปจนถึงจุดที่เกิดสภาพปัญหาความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม อย่างทั่วทุกด้าน ถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเป็น จุดใกล้วิกฤติ

เมื่อเกิดสถานการณ์ที่เหมาะสม คือมีผู้กล้าท้าทายรัฐบาลเผด็จการที่ประชาชนเริ่มไม่อยากอดทนต่อไปแล้ว และรัฐบาลเผด็จการใช้วิธีการที่ล้าหลังสุดโต่ง คือใช้อาวุธปราบปรามพวกนักศึกษากลุ่มที่ประท้วงอย่างรุนแรง

และออกข่าวเท็จว่ากลุ่มนักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ติดอาวุธ จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่รักความเป็นธรรมเห็นใจเข้าข้างนักศึกษา

แม้ว่าประชาชนหลายคนในยุคนั้นอาจไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองมาก่อนหรืออาจไม่ได้สนใจมากนักก็ตาม แต่ลึกๆ แล้วประชาชนไทยที่มาจากสังคมชนบท เป็นคนที่รักพวกพ้องและรักความเป็นธรรม

เมื่อพวกเขาได้เห็นความไม่อยุติธรรมที่ชัดเจน เช่น กรณีที่รัฐบาลส่งทหารตำรวจอาวุธครบมือมาปราบนักศึกษาที่เป็นฝ่ายค้านชุมนุมโดยสันติวิธี ไม่ได้มีอาวุธอะไรเลย

ประชาชนในยุคนั้นมองว่านักศึกษาคือเยาวชนลูกหลาน เป็นพลังบริสุทธิ์ที่ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง

การที่นักศึกษาประชาชนไม่ยอมจำนนต่อมาตรการการปราบปรามของรัฐบาลเผด็จการ แต่กลับตอบโต้ด้วยการขว้างปาตำรวจ ทหาร ทุบป้อมตำรวจ เผาอาคารตึกกกป. - กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน (ที่พันเอกณรงค์ใช้เป็นสำนักงานหาเงิน) ขับรถเมล์ชนรถถัง ฯลฯ

ขณะที่ตำรวจทหารก็ปราบปรามผู้ประท้วงรุนแรงขึ้น ทำให้เรื่องการปราบปรามลุกลามไปจนเกิดเป็นสภาพที่รัฐบาลปกครองให้บ้านเมืองอยู่ในความสงบไม่ได้

กลุ่มการเมืองอื่นจึงใช้สถานการณ์ที่มีลักษณะคล้ายกับการ “จลาจล” นี้ สร้างพันธมิตรกับขบวนการนักศึกษาประชาชน บีบให้ผู้นำรัฐบาล 3 คนที่ถูกประชาชนตอนนั้นเรียกว่า “3 ทรราช” ต้องยอมลาออกจากทุกตำแหน่งและบินออกนอกประเทศไป เปิดทางให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

พลังเริ่มต้นและสำคัญที่สุดคือ การประท้วงของขบวนการนักศึกษาประชาชน

ลำพังนักศึกษาประชาชน (รวมทั้งนักเรียนระดับมัธยม อาชีวศึกษา ฯลฯ) ที่ออกไปชุมนุมถึงจะมีจำนวนมากราว 5 แสนคน แต่พวกเขาไม่มีกำลังอาวุธ ไม่มีการจัดตั้งองค์กรที่เข้มแข็ง ไม่ได้อยู่ในวิสัยที่จะเอาชนะรัฐบาลเผด็จการทหารได้โดยตรง

ที่ขบวนการนักศึกษาฯ ชนะได้ก็เพราะว่าประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุน ประชาชนเชื่อว่านักศึกษาคือพลังบริสุทธิ์ ไม่ได้เป็นเครื่องมือของพรรคหรือกลุ่มการเมืองใด

แม้แต่หนังสือพิมพ์ของเอกชนที่ปกติต้องเซ็นเซอร์ (ควบคุม) ตัวเองในยุคเผด็จการก็ยังพยายามรายงานข่าวแบบเรียบๆ ตามความเป็นจริงว่านักศึกษาถูกปราบปรามอย่างไรบ้าง

ปัจจัยที่สำคัญต่อมาคือ การที่กลุ่มผู้มีอำนาจทางการเมืองและการทหารกลุ่มอื่นเข้ามาแทรกแซง ใช้สถานการณ์ที่นักศึกษาประชาชนแข็งข้อต่ออำนาจรัฐ ผลักดันบีบบังคับ (หรือแม้แต่อาจจะใช้วิธีหลอก) ให้ทั้งจอมพลถนอม-จอมพลประภาสและพันเอกณรงค์ยอมลาออกจากตำแหน่งและบินออกไปต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม พลังนักศึกษาประชาชนเป็นทั้งปัจจัยเริ่มต้นและปัจจัยที่สำคัญที่สุด ถ้าหากนักศึกษาประชาชนไม่พร้อมใจกันต่อสู้กับกลุ่มจอมพลถนอม-จอมพลประภาสอย่างกล้าหาญถึงขั้นที่อาจจะต้องสละเลือดเนื้อและชีวิตแล้ว

กลุ่มผู้มีอำนาจในสังคมกลุ่มอื่นที่ลึกๆ แล้ว อาจเคยคิดในใจว่าอยากจะผลักดันกลุ่มจอมพลถนอม-จอมพลประภาสลงไป ก็ยังคงจะไม่มีช่องทาง ไม่มีสถานการณ์ที่เหมาะสมที่จะช่วยให้พวกเขาตัดสินใจลงมือผลักดันได้จริง

ถ้าไม่มีขบวนการ 14 ตุลาคมเกิดขึ้น ผู้มีอำนาจกลุ่มอื่นก็คงจะประนีประนอมแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกับกลุ่มถนอม-ประภาสต่อไปได้ ชัยชนะของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม จึงเป็นเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่าง “ประจวบเหมาะ”

ด้วยปัจจัยต่างๆ ทางสังคมที่นักศึกษาประชาชนมีส่วนสำคัญ ไม่ใช่เกิดขึ้นโดย “บังเอิญ” หรือแบบสุ่มๆ หรือวางแผนและจัดการโดยกลุ่มการเมืองอื่นที่ต้องการโค่นกลุ่มจอมพลถนอมอย่างที่นักวิเคราะห์สถานการณ์ภายหลังบางคนกล่าวอ้าง

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ส่งผลอะไร

ไม่ว่าการสั่งตะลุมบอนนักศึกษาประชาชนในเช้าวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จะเกิดจากความผิดพลาดเนื่องจากความชุลมุน หรือมีใครอยู่เบื้องหลังเพื่อสร้างสถานการณ์ เรื่องนี้ก็เกิดขึ้นไปแล้วอาจจะด้วยหลายปัจจัยประกอบกัน

เรื่องที่ผู้เขียนอยากให้ความสำคัญกว่าคือประเด็นที่ว่า 14 ตุลาคม 2516 มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอย่างไร เราจะประเมินเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเดินที่ยาวนานของประวัติศาสตร์กันอย่างไร

ในช่วงเกิดการปะทะกันช่วง 14-15 ตุลาคม 2516 นั้น นักศึกษามีบทบาทและได้รับการยอมรับจากประชาชนสูงมาก พวกตำรวจ (และทหารด้วย) ตระหนักว่านักศึกษาประชาชนในกรุงเทพฯ เกลียดชังพวกตน ต่างถอดเครื่องแบบเวลาออกไปข้างนอก

สถานีตำรวจในกรุงเทพฯ หลายแห่งถูกทิ้งร้าง ตำรวจไม่กล้าไปทำงาน นักศึกษาต้องไปช่วยทำงานดูแลจราจรและรับแจ้งความที่สถานีตำรวจบางแห่งแทน

แม้นายทหารและกลุ่มการเมืองกลุ่มอื่นจะเป็นผู้เดินหมากทางการเมืองจนเอาชนะกลุ่ม 3 ทรราชได้จริง แต่ในช่วงสถานการณ์ขัดแย้งเฉพาะหน้านั้น รัฐบาลใหม่นำโดย นายสัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรีและอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องเล่นบทบาทยอมรับนักศึกษาประชาชนไปก่อน

รัฐบาลใหม่ยังเชิญให้ผู้แทนนักศึกษาไปออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ของทางราชการ เพื่อให้ประชาชนเชื่อถือและยอมยุติการต่อต้านรัฐบาล แสดงว่ารัฐบาลใหม่ในตอนนั้นยังไม่มั่นใจมากพอว่าพวกนักศึกษาประชาชนจะเชื่อถือรัฐบาลและยอมหยุดประท้วงหรือไม่ (พีรพล ตริยะเกษม จากหนังสือ 50 ปี TU13 มรดกความคิด)

อย่างไรก็ตาม ขบวนการนักศึกษาประชาชนในยุคนั้นรวมตัวกันขึ้นมาเฉพาะกิจแบบหลวมๆ ไม่ได้มีกำลังคนและการจัดตั้งองค์กรเข้มแข็งขนาดที่จะเป็นพรรคการเมืองใหญ่เพื่อส่งคนสมัคร ส.ส. และเข้าไปเป็นรัฐบาลได้

ดังนั้นช่วง 3 ปี หลัง 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 ที่กลุ่มตัวแทนเจ้าที่ดินนายทุนผลัดกันเข้าไปเป็นรัฐบาล (และฝ่ายค้านด้วย) นั้น จึงไม่ได้ทำให้สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมอย่างแท้จริง

มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นในระดับหนึ่ง มีรัฐธรรมนูญและรัฐสภาที่สมาชิกสภาผู้แทนส่วนใหญ่ เป็นอดีตนักการเมืองตัวแทนของชนชั้นสูง/ชนชั้นกลาง มีคนหนุ่มสาว ปัญญาชนฝ่ายหัวก้าวหน้าสมัครและได้รับเลือกไปเป็น ส.ส.ฝ่ายค้านจำนวนหนึ่งแต่ก็เป็นเสียงส่วนน้อย

ปัญหาความยากจน ปัญหาเศรษฐกิจสังคมในแง่ต่างๆ ยังคงดำรงอยู่ ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพ ความเป็นธรรมอย่างมากเพียงพอ

สิ่งที่ขบวนการนักศึกษาประชาชนทำได้คือ แค่เข้าไปรับฟังปัญหาของประชาชนและเสนอเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปทางเศรษฐกิจสังคมในประเด็นต่างๆ เช่น ลดค่าเช่านา เพิ่มค่าจ้างแรงงาน ฯลฯ

ขบวนการนักศึกษาประชาชนในช่วงแรกแม้จะได้รับการยอมรับสูงแต่ไม่มีกำลังผลักดันมากพอที่จะทำให้ข้อเรียกร้องได้ผลในทุกเรื่อง

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...