คดี‘ค่าโง่1,590ล้าน’ชัยชนะรัฐสภา? สารพัดคำร้องจ่อคิวป.ป.ช.

โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ บนถนนเกียกกาย ซึ่งล่าสุดมีการตรวจรับงานแบบ100% ตั้งแต่วัน4 ก.ค.ที่ผ่านมา ปิดฉากมหากาพย์ก่อสร้างโครงการก่อสร้างที่ยืดเยื้อมายาวนานนับ10 ปีนับตั้งแต่เซ๋นสัญญาก่อสร้างเมื่อปี2556 

ไม่ต่างจากคดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจำนวน1,590ล้านบาท ระหว่างบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่นจำกัด (มหาชน)ในฐานะผู้ฟ้องคดี กับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้ถูกฟ้องคดี กรณีการส่งมอบพื้นที่เพื่อก่อสร้างล่าช้าจนเป็นเหตุให้การก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนด 

ซึ่งล่าสุดศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17ก.ย.ที่ผ่านมา “ยกฟ้อง” บริษัทซิโน-ไทยฯ ด้วยเหตุผล  ทั้งผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีต่างรับรู้และตระหนักถึงปัญหาเรื่องการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างที่อาจไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ในเบื้องต้น โดยเห็นได้จากในข้อ 1 วรรคสอง ของสัญญาพิพาท ตกลงกันว่า ในการดำเนินการตามสัญญานี้ ผู้ว่าจ้างจะส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง หรือตามความพร้อมของผู้ว่าจ้าง

และในกรณีที่มีการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าผู้รับจ้างไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากผู้ว่าจ้างได้ หรือหากผู้ว่าจ้างไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและผู้รับจ้างไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากผู้ว่าจ้างได้เช่นกัน

ขณะเดียวกันนัยข้อ 24.2 ของสัญญาพิพาท ที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิได้รับการพิจารณาขยายเวลาก่อสร้างออกไปและผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่ต้องพิจารณาขยายระยะเวลาของงานส่วนที่ต้องล่าช้าออกไปตามความเหมาะสมโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วได้ขยายเวลาทำการก่อสร้างตามสัญญาออกไป 4 ครั้ง รวมเป็นเวลา 1,864 วัน

กรณีจึงเห็นว่า ฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีได้ทำหน้าที่พิจารณาขยายระยะเวลาของงานส่วนที่ต้องล่าช้าออกไปให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ จากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิ้น ทั้งนี้ ตามข้อ 1 วรรคสอง และข้อ 24.2 ของสัญญา

ผ่านไป10ปีมหากาพย์ก่อสร้างอาคารรัฐสภาสถานที่ซึ่งเปรียบเป็น “กองบัญชาการ” ของฝ่ายนิติบัญญัติวันนี้ดูเหมือนจะปิดฉากลง ทว่าลึกแล้วแล้วยังมีสารพัดคำร้องที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 

โดยเฉพาะในส่วนของ “วิลาศ จันทร์พิทักษ์”อดีตประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร( กมธ.ป.ป.ช.) และอดีต สส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) เปิดเผย ถึงการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลโครงการก่อสร้างรัฐสภาว่าวันนี้มีอีกหนึ่งความท้าทายนั่นคือเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการก่อสร้างอาคารรัฐสภา วันนี้หากไปถามคนที่เกี่ยวข้องก็จะเห็นภาพการก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำท่วมที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ การที่มีการระบุว่ามีการตรวจรับงานก่อสร้าง 100% แล้วเป็นเรื่องที่แปลกตรงที่ มีการตรวจรับงานตั้งแต่วันที่4ก.ค. 2567 แต่เรื่องกลับเงียบ

ขอเปรียบองค์กรแห่งนี้ว่าเป็นองค์กรเทวดา มีข้าราชการระดับสูงรัฐสภาบางคนพูด ในทำนองว่าไม่กลัวเนื่องจากมีทีมทนายและรู้จักกับผู้พิพากษารวมถึงพร้อมชี้แจงหากกระบวนการเข้าสู่ชั้นอนุกรรมการไต่สวนตนก็จะติดตามว่า ขณะนี้คำร้องที่ค้างอยู่ 40 ถึง 50 เรื่องจะ สามารถต่อสู้ได้ทั้งหมดหรือไม่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องไปพิสูจน์กัน

ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ได้มีอคติอะไรทั้งสิ้นแค่เห็นว่าไม่ถูกต้องตามแบบก็จะเอาไปบอกเอาไปร้องและและยิ่งมาทำเหมือนกับองค์กรที่มีความลึกลับมีการตรวจรับงานตั้งแต่วัน4 ก.ค.ที่ผ่านมาแต่กลับไม่มีใครรู้เรื่องแถมล่าสุดยังเกิดกรณีกำแพงพังถล่ม คณะที่เว็บไซต์ของรัฐสภาก็ไม่ได้มีการแจ้งความคืบหน้าดังกล่าวไม่เข้าใจว่ากลัวจะมีคนไปตรวจสอบหรือไม่จึงขอตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ในเรื่องนี้ย้ำ ว่าไม่ได้อคติ

ส่วนอีกกรณีข้อสงสัยมีการตรวจพบความผิดปกคิ โดยมีการใช้ไม้ในการก่อสร้างและตกแต่งอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของสัญญา เนื่องจากปรากฏหลักฐานชัดเจน ตามบันทึกข้อความรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และหนังสือกรมป่าไม้ ที่ ทส 1607.520/2554 ลงวันที่ 11 ก.พ.65 สรุปได้ว่ามีการใช้ “ไม้พะยอม” จากที่ตามแบบต้องเป็น “ไม้ตะเคียนทอง” นั้น เรื่องนี้มีคำชี้แจงจากสภา อ้างว่ามีการหยิบไม้ผิดไปใช้ทำให้ต่อมามีการหยิบไม้อีกราว 50 แผ่นไปตรวจจาก 27,300 แผ่น พบว่าเป็นไม้ตะเคียนทองซึ่งตนก็ไม่ทราบว่ามีการเข้าข้างกันหรือไม่

อีกทั้งหนังสือที่มีการตอบกลับมากลับมีการลงนามโดยหัวหน้าคณะทำงานแทนที่จะเป็นอธิบดีกรมป่าไม้นอกจากนี้ยังมีการพูดในคณะกรรมการตรวจแจ้งว่าต้องไปนำหนังสือฉบับดังกล่าวมา แต่กลับพบว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือส่วนตัวจะผิดหรือถูกไม่รู้แต่ตอนยืนยันว่า ไม้นั้นปลอม

ทั้งนี้อยากพูดว่าปลอม เพื่อให้มีการฟ้องร้องตนเสียด้วยซ้ำเพื่อที่จะได้นำผู้เชี่ยวชาญเรื่องไม้ไปเดินตรวจสอบว่าจุดไหนที่ใช้ไม้ปลอมบ้าง ตนได้เข้าไปตรวจสอบส่วนหนึ่งแล้วและได้ทำตำหนิไว้เสียด้วยซ้ำ เรื่องนี้จึงอยากให้มีการพิสูจน์กันยืนยันว่าไม้ปลอม แม้จะมีไม้ตะเคียนทองมาปนเป็นส่วนน้อย อีกทั้งเรื่องนี้จะมีการร้องเรียน ขอให้ตรวจสอบด้วยว่าหากทางสภายืนยันว่าเป็นไม้จริงเหตุใดจึงมีการออกไปส่งของ ซึ่งเป็นเท็จ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ถึงที่สุดคนกลางจะเป็นคนชี้ที่ผ่านมาไม่เคยมีคำชี้แจงจากทางรัฐสภาส่วนตัวยืนยันว่าหากมีการชี้แจงกลับมาตนก็พร้อมที่จะรับฟัง

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีนักการเมืองเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่เรื่องนี้ต้องดูที่เจตนาซึ่งต้องมีการพิสูจน์กันต่อไปแต่มีข้าราชการรัฐสภามาให้ข้อมูลกับตนว่าคนนั้นได้ 10ล้าน คนนั้นได้ 15ล้านซึ่งตนก็ไม่รู้ว่าข้อมูลที่แท้จริงเป็นอย่างไร เดี๋ยวต้องไปพิสูจน์กันขอให้เตรียมตัวรับมือ ขณะนี้มีเรื่องที่เตรียมที่จะร้องเรียนอีกประมาณ 10 เรื่องซึ่งก็ต้องไปพิสูจน์กันต่อไป

ชำแหละหลากหลายคำร้องที่ “อดีตประธานกมธ.ป.ป.ช.”  ผู้นี้ ยื่นคำร้องต่อป.ป.ช.มีทั้ง  คำร้องขอให้ตรวจสอบการกระทำของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่อเข้าข่ายกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กรณีเห็นชอบตรวจรับงานโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ หรือไม่

หนังสือส่งมอบงานเสร็จสมบูรณ์ 100% ของผู้รับจ้างลงวันที่ 4 ก.ย. 2566 แต่ข้อเท็จจริงพบว่ายังมีการก่อสร้างเพิ่มเติมอีกหลายรายการ

ขณะเดียวกันมีหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ว่า ผู้ว่าจ้างสามารถแก้ไขสัญญาได้ตลอดเวลาถ้ายังไม่มีการส่งมอบงานงวดสุดท้าย ฉะนั้นเมื่อมีการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 16 เมื่อ 29 มี.ค. 2567 การส่งมอบงานต้องเกิดขึ้นภายหลัง 29 มี.ค. 2567 การรับงานเมื่อ 4 ก.ย. 2566 เห็นว่าเป็นการกระทำที่มิชอบ

การที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รับงานตามหนังสือวันที่ 4 ก.ย. 2566 โดยอ้างว่างานเสร็จสมบูรณ์ 100% จะเห็นว่าเมื่อ 4 ก.ย. 2566 มีการก่อสร้างผิดแบบอยู่ 24 รายการ

ถัดมาคือคำร้อง ขอให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของเลขาธิการสภฯ และคณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เนื่องจากตามสัญญาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่เป็นเวลา 900 วัน เริ่มสัญญาวันที่ 8 มิ.ย. 2566 สิ้นสุดสัญญา 24 พ.ย. 2558 และขยายสัญญาออกไป 4 ครั้งเป็นเวลา 1,864 วัน สิ้นสุดขยายสัญญาวันที่ 31 ธ.ค. 2563 นั้น

นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 ตามสัญญาจะต้องเริ่มปรับเนื่องจากการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา แต่เนื่องจากมีการลดค่าปรับเหลือ 0% ตามหนังสือเวียนของคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ อย่างไรก็ตามในสัญญาข้อ 20 เรื่องค่าปรับและค่าเสียหาย นอกจากผู้รับจ้างต้องชำระค่าปรับ ผู้รับจ้างต้องชำระค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานและค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการเป็นจำนวนเงินวันละ 332,140 บาท นับจากวันที่กำหนดแล้วเสร็จตามสัญญา คือ 31 ธ.ค. 2563

อดีตประธานกมธ.ป.ป.ช.ผู้นี้เห็นว่า จำนวนเงินดังกล่าวไม่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 และไม่ใช่ความผิดของผู้ว่าจ้าง ซึ่งผู้ว่าจ้างจะต้องเรียกเงินดังกล่าวมาชำระให้ผู้ควบคุมงาน และที่ปรึกษาบริหารโครงการ มิใช่หน้าที่ของผู้ว่าจ้างเป็นผู้ชำระเงินดังกล่าว ทั้งนี้ไม่มีการเรียกเงินดังกล่าวแต่ประการใด อาจเข้าข่ายจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทำให้ราชการเสียหาย เป็นการจงใจฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่

นอกจากนี้ยังมีคำร้องที่ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเลขาธิการสภฯ กับพวก ในโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่2ประเด็น

1.ขอให้ตรวจสอบการกระทำของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่อเข้าข่ายกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กรณีเห็นชอบตรวจรับงานโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

2.กรณียังไม่เรียบเก็บเงินค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานและค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการเป็นจำนวนเงินวันละ 332,140 บาท นับจากวันที่กำหนดแล้วเสร็จตามสัญญา คือ 31 ธ.ค. 2563 จากผู้รับจ้าง

3.กรณีการก่อสร้างเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ประเด็นเสาโครงสร้างฐานรากเขื่อนกั้นน้ำเยื้องศูนย์ แต่หลังจากที่มีการร้องเรียน และก่อนจะมีการตรวจรับงานงวดสุดท้ายพบว่า มีการแก้ไขเสาเยื้องศูนย์ โดยเอาปูนไปหล่อขยายโครงสร้างฐานราก อ้างว่ามีสามัญวิศวกรลงนามรับรอง อีกทั้งผู้ออกแบบและผู้ควบคุมงานได้เห็นชอบด้วยแล้ว

4.กรณีปูหินวิทิตาส้มบริเวณทางเดินเท้ารอบสภาฯ กรณีมีการเปลี่ยนแปลงขนาด สี และชนิดของหิน ซึ่งเห็นว่าเป็นการกระทำมิชอบ โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นความประหลาดเพราะทางเท้าเดินรอบอาคารรัฐสภามีหิน 2 แบบ และมีสีแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่มีการอ้างว่า ที่ต้องเปลี่ยนการก่อสร้างเป็นหินดังกล่าว เพราะหินวิทิตาส้ม มีจำหน่ายเฉพาะบริษัท นิวยอร์คหินอ่อนและแกรนิตฯ เท่านั้น แต่เนื่องจากบริษัทดังกล่าวสัมปทานการทำเหมืองหินวิทิตาส้มหมดอายุปี 2563 จึงต้องเปลี่ยนขนาด ชนิด และสีหิน

ทั้งนี้การกระทำดังกล่าว ที่มีการแก้ไขสัญญาอาจเป็นการเอื้อประโยชน์โดยการอ้างเหตุผลอันเป็นเท็จ โดยเฉพาะตามระเบียบพัสดุการแก้ไขสัญญา จะทำได้ต้องเป็นกรณีที่รัฐได้ประโยชน์เท่านั้น การแก้ไขสัญญาตามข้อกล่าวหาดังกล่าว ได้ประโยชน์หรือไม่อย่างไร รวมทั้งการจ่ายเงินงวดก่อนที่จะมีการแก้ไขสัญญาชอบด้วยสัญญาหรือระเบียบกฎหมายหรือไม่

และล่าสุดคือคำร้องขอให้ดำเนินการตรวจสอบการทำหน้าที่ของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กับพวก ประเด็นการตรวจรับงานโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ 100% แล้ว แต่ยังพบข้อบกพร่องอยู่

ทั้งการก่อสร้างกำแพงซึ่งอยู่ติดกับดินรอบลานประชาชนบางส่วน พบทางน้ำไหลตามกำแพง หรือพบคราบความชื้นตามกำแพงจำนวนมาก นอกจากนี้ตามแบบก่อสร้างผนังด้านข้างทางเดินเชื่อมลานประชาชนเข้าตัวอาคาร จะมีภาพจิตกรรมฝาผนังไทย ถ้าผนังทางเดินดังกล่าวมีความชื้นหรือมีน้ำซึมเช่นนี้ จะไม่สามารถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังไทยได้ ด้วยเหตุนี้หรือไม่ จึงยังไม่สั่งสั่งทำจิตกรรมฝาผนังไทยแต่อย่างใด

ขณะที่ตู้ครอบตู้ไฟฟ้า ประมาณ 200 ตู้ ไม่เป็นไปตามแบบ ส่วนตาข่ายดักแมลงมีติดแค่บางตู้ไม่น่าจะเป็นแบบที่ถูกต้อง ขณะที่โครงสร้างตู้และการเชื่อมไม่มีมาตรฐาน ขึ้นสนิมจำนวนมาก เป็นต้น

จึงขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการตรวจสอบว่า เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กับพวก กระทำการทุจริต หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...