ปชน. เสนอ 4 ข้อ ลบล้างมรดกรัฐประหาร ต้องแก้รัฐธรรมนูญห้ามนิรโทษพวกยึดอำนาจ

พรรคประชาชน ชี้ 18 ปี รัฐประหาร 49 การเมืองที่ไม่มีประชาชนในสมการ คนบาดเจ็บล้มตาย แต่พวกเขากลับชื่นมื่น เสนอ 4 ข้อ ลบล้าง ต้องปฏิรูปกองทัพ ทบทวนบทบาท กอ.รมน.  กระจายอำนาจท้องถิ่น และแก้รัฐธรรมนูญ ห้ามนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร ลั่นหากผลักดันสำเร็จ เชื่อจะเป็นหลักประกัน ไม่ทำให้เกิดรัฐประหารอีก

วันที่ 19 กันยายน 2567 พรรคประชาชน ได้โพสต์เฟซบุ๊กรำลึกถึงเหตุการณ์รัฐประหาร ว่า 18 ปี รัฐประหาร 49 : ประเทศกลับมาที่เก่า การเมืองที่ไม่มีประชาชนในสมการ พรรคประชาชนผลักดัน 4 วาระลบล้าง “มรดก” รัฐประหาร 2549 

วาระครบรอบของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กลับมาอีกครั้งหนึ่ง ผ่านไป 18 ปี หลังการรัฐประหารที่เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตทางการเมืองในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ ใครจะไปเชื่อว่าสังคมไทยจะถูกนำกลับมาสู่จุดเดิม 

จุดเดิม ที่เป็นการเมืองหลอมรวมบ้านใหญ่ แต่ละตระกูลผลัดเปลี่ยนเวียนกันนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี ไม่เสนอวาระทางการเมืองที่ท้าทาย “ชนชั้นนำ” แม้วาระนั้นจะสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาของประเทศ ทะเลาะกันเมื่อแบ่งเค้กไม่ลงตัว แต่พร้อมจับมือ “สลายขั้ว” เมื่อดีลผลประโยชน์กันได้ โดยไม่มีประชาชนในสมการ

คู่ขัดแย้งทั้งหมดที่เคยนำพาประชาชนลงถนนต่อสู้กันเองมานานเกือบสองทศวรรษ บาดเจ็บล้มตายกันไปมาก สูญหนีหายอีกไม่น้อย ติดคุกมีคดีความอีกนับไม่ถ้วน บัดนี้ “พวกเขา” กลับมาสู่จุดที่สมานฉันท์ชื่นมื่น ก้าวข้ามประชาชนที่เคยร่วมต่อสู้ ทำราวกับที่ผ่านมาไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ในแง่นี้การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงเป็นรัฐประหารที่ “เสียของ” โดยสิ้นเชิง แต่ผลกระทบที่เลวร้ายยิ่งกว่า คือทำให้ประเทศ “เสียหาย” ย่ำอยู่กับที่ โอกาสทางเศรษฐกิจที่ควรพัฒนาได้มากกว่านี้ การเมืองที่ควรพัฒนาประชาธิปไตยได้เข้มแข็งกว่านี้ และสังคมที่ควรก้าวไปสู่ความเป็นธรรมได้มากกว่านี้ ทั้งหมดถูกทำลายลงด้วยการรัฐประหาร

...

เราไม่รู้ว่า “เครือข่ายผู้รัฐประหาร” กับ “เครือข่ายผู้เคยถูกรัฐประหาร” จะข้ามขั้วอยู่กันได้ยืดยาวแค่ไหนท่ามกลางการต่อรองผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มที่เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ผลพวงของการรัฐประหารจะยังอยู่กับสังคมไทยไปอีกนาน ตราบเท่าที่ไม่มีใครจัดการสะสางมัน

ในเมื่อวันนี้พวกเขาพาประเทศกลับมาที่เดิม พวกเราประชาชนยิ่งต้องยืนยันว่าต้องการอนาคตแบบใหม่ พรรคประชาชนเห็นว่ามี 4 วาระที่รัฐบาลต้องเร่ง “ปฏิรูป” เพื่อพาประเทศเดินไปข้างหน้า ไม่ถูกฉุดรั้งจากมรดกรัฐประหาร โดยเฉพาะมรดกหรือปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดจากการผ่านกฎหมายโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในยุคคณะรัฐประหารปี 2549 

วาระ 1 ปฏิรูปกองทัพ จากการที่ สนช. 2549 ออก พ.ร.บ. ระเบียบราชการกลาโหม 2551 ทำให้กองทัพมีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือน ทั้งเรื่องนโยบาย งบประมาณ และการแต่งตั้งนายพล 

พรรคประชาชนโดย สส.ธนเดช เพ็งสุข เสนอกฎหมายแก้ไขเรื่องนี้ แต่ ครม. อุ้มไปศึกษา 60 วัน ดังนั้นขอให้ ครม. เร่งมีมติเห็นชอบร่างดังกล่าว หรือหาก ครม. จะเสนอร่างของตัวเอง ขอให้เห็นตรงในหลักการเดียวกับเราคือการปรับลดอำนาจของสภากลาโหม จากสภาที่ครอบงำรัฐมนตรี มาเป็นสภาที่ให้คำปรึกษารัฐมนตรี 

วาระ 2 ทบทวนบทบาทของ กอ.รมน. จากการที่ สนช. 2549 ออก พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในฯ พ.ศ. 2551 ฟื้นคืนชีพ กอ.รมน. ให้เข้ามารับผิดชอบภารกิจเรื่อง “ความมั่นคงภายใน” ที่ถูกนิยามไว้อย่างกว้างขวาง ล่าสุดทำตัวเป็นกองเซ็นเซอร์ ข่มขู่ให้มีการแบนหนังสือของนักวิชาการ แทนที่จะออกมาชี้แจงในประเด็นที่หน่วยงานเห็นว่าหนังสือนำเสนอข้อมูลคลาดเคลื่อน

พรรคประชาชนโดย สส.รอมฎอน ปันจอร์ ได้เสนอร่างกฎหมายยุบ กอ.รมน. แล้ว แต่อดีตนายกฯ เศรษฐาไม่รับรองให้เข้าสภาฯ ดังนั้นนายกฯ แพทองธาร ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดคนใหม่ของ กอ.รมน. ควรต้องตอบว่าจะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ โดยขั้นต่ำควรทบทวนบทบาทของ กอ.รมน. เพื่อป้องกันไม่ให้ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนหรือทำอะไรตามอำเภอใจจนขี่คอรัฐบาลพลเรือน

วาระ 3 กระจายอำนาจ จากการที่ สนช. 2549 แก้ไขมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ยกเลิกข้อความที่เคยกำหนดว่ารัฐบาลจะต้องเพิ่มสัดส่วนรายได้ท้องถิ่นเป็น 35% ภายในปีไหน จนทำให้ตัวเลขดังกล่าวลดมาอยู่ที่ 29.1% 2 ปีติด ภายใต้รัฐบาลเศรษฐา

ดังนั้นรัฐบาลแพทองธารควรต้องประกาศให้ชัด จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ท้องถิ่นให้ขยับถึงเป้าหมาย 35% ภายใน 2 ปีงบประมาณที่เหลือได้หรือไม่ และหากพรรคประชาชนยื่นร่างกฎหมายเรื่องการกระจายอำนาจเข้าไปอีกครั้ง นายกฯ แพทองธาร จะไม่ทำเหมือนอดีตนายกฯ เศรษฐา ที่ปัดตกร่างตั้งแต่ต้น ไม่เปิดโอกาสแม้แต่ให้เข้าสภาฯ เพื่อเกิดการถกเถียง

วาระ 4 ป้องกันรัฐประหาร โดยเร็วๆ นี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชนจะเข้าที่ประชุมร่วมรัฐสภา เนื้อหาสำคัญคือการยกเลิกมาตรา 279 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบ ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพจากประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารที่ผ่านมา มีโอกาสโต้แย้งถึงความชอบด้วยกฎหมายของประกาศและคำสั่งเหล่านั้น รวมถึงเพิ่มหมวดป้องกันและต่อต้านรัฐประหาร เช่น การห้ามไม่ให้มีการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร การกำหนดให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายที่ฟ้องผู้ก่อรัฐประหารฐานกบฏได้โดยปราศจากอายุความ

หากรัฐบาลเห็นด้วยกับพรรคประชาชนในเรื่องนี้ หวังว่าจะร่วมสนับสนุนให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านรัฐสภา เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในประเด็นที่สำคัญ คู่ขนานกับการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ควรเกิดขึ้นโดยเร็วเช่นกัน

พรรคประชาชนเห็นว่า มีแต่การผลักดันวาระเหล่านี้ให้สำเร็จเท่านั้น ที่จะสร้างหลักประกันให้สังคมไทยว่าการรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีก ประเทศไทยจะเดินหน้าสู่การพัฒนาประชาธิปไตย ระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม สังคมที่มีเสรีภาพ ไปสู่อนาคตที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...