ก้าวไกล ดัน พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ เข้าสภา ดักคอเพื่อไทย เคยหนุน คงไม่เปลี่ยน

"ก้าวไกล" ยื่นร่าง พ.ร.บ.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เข้าสภา กำหนดนายกฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องขออนุมัติสภาใน 7 วัน ดักคอ ‘เพื่อไทย’ เคยหนุน วันนี้เป็นรัฐบาล หวังว่าไม่เปลี่ยนจุดยืน 

วันที่ 21 ก.ย. 2566 สส.พรรคก้าวไกล นำโดย รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และ นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ แถลงข่าวการยื่นร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ โดยรังสิมันต์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ พรรคก้าวไกลเคยยื่นต่อสภาในสมัยที่ผ่านมา เกือบผ่านวาระหนึ่ง โดยได้รับความร่วมมือจากพรรคฝ่ายค้านด้วยกันในเวลานั้น เช่น พรรคเพื่อไทย ที่วันนี้เป็นพรรครัฐบาล

เหตุผลของการเสนอกฎหมาย เนื่องจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในจังหวัดชายแดนใต้มีมายาวนาน และยังมีการประกาศใช้ในสถานการณ์ทางการเมืองหลายขณะ โดยพบว่าปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลของสภาฯ แม้ที่ผ่านมาสภาส่งเสียง แต่มักไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล เช่น สถานการณ์โควิด มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นำไปใช้ในลักษณะการปราบปรามผู้ชุมนุมที่เห็นต่างทางการเมือง จนมีคำถามจากประชาชนว่าตกลงแล้ว การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในเวลานั้น มีจุดประสงค์อย่างไร ต้องการแก้ปัญหาโควิด หรือปกป้องผู้มีอำนาจ

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ด้วยปัญหาทั้งหมด พรรคก้าวไกลจึงเสนอร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้มีกฎหมายที่ทำให้สภาฯ สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

ประการที่ 1 การประกาศ พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังคงอำนาจของนายกรัฐมนตรีในการประกาศได้ แต่เงื่อนไขในการประกาศ ต้องมีการขออนุมัติจาก ครม. ภายใน 3 วัน และต้องขออนุมัติจากสภาฯ ภายใน 7 วัน เพื่อให้ตัวแทนของประชาชนสามารถอนุญาตให้รัฐบาลใช้กฎหมายในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของพวกเขาได้ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

ประการที่ 2 การขออนุมัติกับสภาฯ รัฐบาลมีหน้าที่ทำแผนว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว จะสามารถแก้ไขวิกฤติสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยวิธีการใด เพราะปัจจุบัน เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว รัฐบาลขาดความชัดเจนว่าท้ายที่สุดทำไปทำไม มีแผนอย่างไร แผนดังกล่าวจะแก้วิกฤติได้เมื่อไร ประชาชนไม่เคยรับทราบ ดังนั้นสภาฯ มีสิทธิที่จะรู้ว่ารัฐบาลที่กำลังจะใช้อำนาจพิเศษ มีแผนการจัดการวิกฤติอย่างไร

ประการที่ 3 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับปัจจุบัน ศาลปกครองไม่มีอำนาจตรวจสอบ แต่กฎหมายที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ให้อำนาจประธานสภาฯ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในการร้องศาลปกครอง ว่าถึงที่สุดยังมีเหตุในการประกาศใช้หรือไม่ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล 

ประการที่ 4 การใช้อำนาจพิเศษอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เจ้าหน้าที่แทบไม่ต้องรับผิดอะไรเลย แต่กฎหมายที่เสนอโดยพรรคก้าวไกลระบุว่า หากการใช้อำนาจนั้น เป็นการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง เกิดความเสียหาย การดำเนินคดีตามกฎหมายต่อเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจนั้น สามารถดำเนินการได้

...

รังสิมันต์ กล่าวว่า หลักการที่นำเสนอผ่านกฎหมายฉบับนี้ คือหลักการสากลที่ประเทศไทยควรจะมี และจะนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ควบคู่กับการใช้อำนาจพิเศษที่เราเข้าใจว่าบางครั้งจำเป็นต้องมีในสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดคะเนได้ ส่งเสริมให้รัฐบาลใช้อำนาจได้อย่างเป็นที่ยอมรับ ตรวจสอบได้ จึงหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะได้รับการสนับสนุนจาก สส. โดยเฉพาะจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเคยสนับสนุนมาก่อน วันนี้เมื่อเป็นรัฐบาล หวังว่าจะไม่ทำให้จุดยืนของพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนไป 

“สาระสำคัญของร่างนี้คล้ายกับร่างเดิมที่พรรคเพื่อไทยเคยสนับสนุน สถานการณ์วันนี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากเดิม ความแตกต่างมีประการเดียว คือวันนี้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล คำถามคือพรรคเพื่อไทยจะว่าอย่างไร หากเพียงพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลเห็นด้วย เราจะสามารถเดินหน้า ทำให้กฎหมายพิเศษนี้ได้รับการตรวจสอบให้มีความชอบธรรมในการใช้อำนาจมากขึ้น” รังสิมันต์ กล่าว...

จากนั้น นายรอมฎอน ซึ่งเป็นผู้ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา ต่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กรณีการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ออกไปอีก 1 เดือน ระบุคำถามสำคัญว่า รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง จะมีความกล้าหาญทางการเมืองเพียงใด ในการกำหนดทิศทางการบริหารสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง 

นายรอมฎอน กล่าวถึงความสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ว่า เมื่อสมัยที่ผ่านมา ตนไม่ได้เป็น สส. ได้เกาะติดร่างกฎหมายฉบับนี้ เช่นเดียวกับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สนใจติดตาม ความเคยชินที่เคยอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้ประชาชนในพื้นที่จินตนาการไม่ออกว่ากฎหมายไทยจะสามารถปกครองได้อย่างชอบธรรมมากกว่านี้หรือไม่ หรือหลักนิติธรรมหน้าตาเป็นอย่างไร 

นี่จึงเป็นโอกาสของรัฐสภาไทยในการฟื้นฟูความเชื่อมั่น และความไว้วางใจต่ออำนาจรัฐไทย ต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม ทำให้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่ง ได้รับการปฏิบัติ ได้รับการเคารพยอมรับในตัวตนของตัวเอง และสิทธิเสรีภาพที่ควรมี

นอกจากนี้ สส.จากพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเฉพาะในพรรครัฐบาลมีถึง 12 คน จาก 13 เขตเลือกตั้ง คาดหวังว่าจะทำให้กฎหมายฉบับนี้เป็นฉันทามติร่วมกัน เปลี่ยนโฉมหน้าของประเทศต่อไป

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...