“ภูมิธรรม” คาด 1-2 สัปดาห์ ชงชื่อคณะกรรมการศึกษาประชามติให้ นายกฯ ลงนาม

“ภูมิธรรม” รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ คาด 1-2 สัปดาห์ ชงรายชื่อ คกก.ศึกษาประชามติให้ “เศรษฐา” เซ็น จ่อ ดึงทุกภาคส่วน-ไอลอว์ เข้าร่วม ปัดประวิงเวลา ไม่ชัด แก้ รธน.เสร็จยุบสภาเลยหรือไม่ แต่อยากให้ทันเลือกตั้งรอบหน้า

เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 20 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ตนได้พยายามติดต่อคนที่จะเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ โดยได้คุยถึงหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราอยากแก้ไขให้สำเร็จและเสร็จสิ้นภายใน 4 ปีที่เป็นรัฐบาล จะเร่งให้เร็วที่สุด ในการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ อยากให้ปมขัดแย้งเดิมๆ หายไป และไม่อยากให้สร้างความขัดแย้งใหม่ขึ้นมา โดยจะใช้วิธีให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ทำประชามติ คณะกรรมการที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ได้หารือถึงแนวทางว่าจะใช้เวลาเท่าไร คาดว่าจะใช้เวลาในเร็ววัน หรือ 3-4 เดือน หรืออาจจะเร็วกว่านั้นในการทำประชามติ เพราะถ้า ครม.มีมติก็มีกระบวนการต่างๆ รองรับ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องมีการหารือกับบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ทราบถึงเหตุและผลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจะได้ช่วยกัน ไม่อยากให้ทำประชามติและร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วไม่ผ่าน ก็จะเป็นปัญหา

ผู้สื่อข่าวถามว่า การทำประชามติจะทำทั้งฉบับ หรือแก้ไขเป็นรายมาตรา นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตามนโยบายรัฐบาลได้พูดชัดเจนแล้วว่า เราจะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ยังคงหมวด 1 และหมวด 2 ไว้ เราจะไม่แตะเรื่องพระราชอำนาจในมาตราต่างๆ นอกนั้นทำได้หมด ทำอย่างไรให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการไปดูแผนยุทธศาสตร์ชาติ หรือหลายๆ อย่างที่เขียนมา ที่เป็นอุปสรรคต่อการเป็นประชาธิปไตยหรือการบริหารราชการแผ่นดิน เราชัดเจนว่าต้องเปิดให้มีการพูดคุย หากได้ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ ตัวแทนวิชาชีพ สมาคมทนายความ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิหลายๆ ด้าน รวมถึงเชิญตัวแทนสมาคมนักข่าวด้วย 1 คน แต่ต้องหารือนายกสมาคมนักข่าวก่อน อย่างไรก็ตาม บางคนได้ตอบรับมาแล้ว ถ้าทำได้เร็วที่สุด คาดว่า วันอังคารที่ 26 ก.ย.นี้ จะเอาเข้าที่ประชุม ครม. แต่ถ้าช้าหน่อย อาจจะใช้เวลาอีก 1 สัปดาห์ โดยจะต้องรวบรวมรายชื่อและพูดคุยกับทุกฝ่ายให้เข้าใจถึงความต้องการ

เมื่อถามว่า รายชื่อคณะกรรมการมีประมาณกี่คน นายภูมิธรรม กล่าวว่า ดูตามวิชาชีพต่างๆ ก็เกือบ 20-30 คน ไม่อยากให้เป็นคณะที่ใหญ่เกินไป อยากให้ทำงานคล่องตัว เมื่อถามอีกว่า จะเริ่มนับหนึ่งการทำงานเมื่อไร นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตอนนี้เริ่มดำเนินการแล้ว คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์ น่าจะมีรายชื่อคณะกรรมการเสนอให้กับนายกรัฐมนตรีเพื่อลงนามแต่งตั้ง หลังจากนั้นก็จะเริ่มดำเนินการ โดยจะมีตนเป็นประธานคณะกรรมการตามมติ ครม.ที่ผ่านมา ส่วนตัวเลขานุการคณะกรรมการขอดูคนที่เราทาบทามมาทั้งหมดก่อน คิดว่ารอไม่นาน ภายในสัปดาห์หน้าน่าจะมีรายชื่อออกมา

ต่อข้อถามว่า กรอบระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมการที่วางไว้นานหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ที่คาดไว้ไม่เกิน 3-4 เดือน ไม่ได้คิดที่จะยืดเวลา แต่ขอดูรายละเอียดและพูดคุยกันในยกแรกก่อน คิดว่าถ้าตั้งคณะกรรมการกันเรียบร้อยแล้วก็จะวางไทม์ไลน์ให้เกิดขึ้น คิดว่าจะต้องดำเนินการในทันที และต้องมีขั้นตอนที่จะต้องยื่นให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และต้องเข้าสภาเพื่อไปแก้ไขมาตรา 256 รวมถึงอะไรอีกหลายๆ อย่าง ซึ่งเราจะดำเนินการในทันที แต่ยืนยันว่าหลังจากแก้รัฐธรรมนูญและมีกฎหมายลูกแล้ว คิดว่าภายในไม่เกิน 3 ปี 3 ปีครึ่ง หรือ 4 ปี ถ้ามันจบได้ก็จะจบ และจะให้ทันการเลือกตั้งสมัยหน้าที่จะเกิดขึ้น

เมื่อถามย้ำว่า ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญจะยุบสภาทันทีเลยหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เดี๋ยวดูรายละเอียด แต่คิดว่าเราจะพยายามให้เข้าสู่กระบวนการปกติให้เร็วที่สุด เบื้องต้นขอคุยกับคณะกรรมการก่อน เพราะคณะกรรมการชุดนี้ได้รับมอบหมายให้มาศึกษาและวางรายละเอียดต่างๆ ถ้าตอบไปตอนนี้ก็จะเป็นความเห็นตนคนเดียว อยากให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมให้มากที่สุด ฉะนั้น การพูดคุย การวางไทม์ไลน์ที่ชัดเจนและโปร่งใส ซึ่งตนมีความคิดที่จะเชิญกลุ่มไอลอว์ และภาคประชาสังคมทุกภาคมาร่วมคณะกรรมการด้วย พยายามจะดึงเข้ามาให้หมด

เมื่อถามว่า กระบวนการต่างๆ จะเป็นการประวิงเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่ประวิงเวลาหรอก ยืนยันได้เลย การที่เราให้ ครม.ออกมติให้ทำประชามติ ถือเป็นการสะท้อนที่ชัดเจน ถ้าเราอยากประวิงเวลาก็โยนเข้ารัฐสภา ซึ่งจะไปถกกันอีกยาวนานและจะมีปัญหา หรือถ้าให้ประชาชนใช้เสียงเพื่อยื่นเสนอเข้ามาก็จะต้องมาตรวจสอบประวัติกันอีกนาน เราแสดงเจตจำนงชัด กำหนดไว้ในนโยบายของรัฐบาล สิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นในรัฐบาลเราแน่นอน ให้ได้ผลเพื่อให้มีความประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนได้สามารถตัดสินใจเลือกรัฐบาลที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด.

...

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...