‘Houshi Ryokan’ โรงแรมที่เปิดมาแล้ว 1,300 ปี ทำอย่างไรจึงส่งต่อลูกหลานได้นาน 46 รุ่น

หนึ่งในความท้าทายของการทำธุรกิจ คือต้องสร้างการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี แต่สำหรับ “ธุรกิจครอบครัว” หรือธุรกิจแบบกงสีที่มีการส่งต่อเก้าอี้ผู้บริหารจากรุ่นสู่รุ่นไม่ได้มีเพียงเรื่องตัวเลขเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการบริหารความขัดแย้ง การสื่อสาร ความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกัน เส้นแบ่งระหว่างครอบครัวและธุรกิจ รวมถึงการวางโครงสร้างที่ดี ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นกลไกในการแก้ไขความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปได้

เส้นแบ่งอันพร่าเลือนระหว่างชีวิตส่วนตัวและธุรกิจ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รอยร้าวในครอบครัวหยั่งลึกมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างในไทยเองก็พบว่า มีธุรกิจครอบครัวที่อยู่รอดจนถึงรุ่นที่ 2 เพียง 30% รุ่นที่ 3 12% และรุ่นที่ 4 เพียง 4% เท่านั้น โดยหนึ่งในจุดหักเลี้ยวสำคัญที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวสั่นสะเทือน คือการเลือกผู้นำ หรือ “ทายาท” ขึ้นมารับช่วงธุรกิจ

แม้ธุรกิจครอบครัวจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเพียงใด แต่เชื่อหรือไม่ว่า ความขัดแย้งที่ว่านี้กลับไม่เคยเกิดขึ้นกับ “โฮชิเรียวกัง” (Houshi Ryokan) ธุรกิจโรงแรมญี่ปุ่นอายุ 1,300 ปี ส่งต่อกันมาแล้ว 46 รุ่น และเพิ่งเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสืบทอดประจำตระกูล ด้วยการส่งต่อให้ทายาทผู้หญิงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

“เซ็งโกโร โฮชิ” (Zengoro Houshi) ทายาทรุ่นที่ 46 เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า หลักปรัชญาที่ทำให้ธุรกิจดำเนินมาได้กว่าพันปี คือความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลง ประกอบกับการสะสมความพยายามวันแล้ววันเล่า เพื่อทำให้ทั้งหมดนี้เป็นประเพณีประจำตระกูลส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นให้ได้

ทำตัวเหมือนกระแสน้ำ รักษาแต่ไม่ยึดติด อย่าหยุดที่จะปรับตัว

“โฮชิเรียวกัง” บริหารงานกันเองภายในครอบครัวตั้งแต่ปี 1261 ท่ามกลาง “อาวาซุออนเซ็น” (Awazu Onsen) ย่านที่ได้ชื่อว่า เป็นเมืองน้ำพุร้อนที่เก่าแก่ที่สุดในหมู่บ้านออนเซ็นคะงะ ปัจจุบัน “โฮชิเรียวกัง” บริหารงานโดย “เซ็งโกโร โฮชิ” ทายาทรุ่นที่ 46 ที่ตอนนี้ก็เริ่มเข้าสู่วัยชราแล้ว

ตอนแรกเขาตั้งใจส่งต่อธุรกิจให้กับลูกชายคนโต แต่เคราะห์ร้ายที่มาด่วนจากไปเสียก่อน ส่วนหลานชายก็เสียชีวิตในเวลาต่อมาเช่นกัน “เซ็งโกโร” จึงคิดส่งต่อธุรกิจให้กับทายาทรุ่นที่ 48 ผู้เป็นลูกสาว นับเป็นครั้งแรกในรอบ 1,300 ปี ที่จะมีทายาทผู้หญิงนำทัพ “โฮชิเรียวกัง” 

การปรับตัวไปตามความเปลี่ยนแปลง คือหนึ่งใน “Key Success” ที่ทำให้โรงแรมอายุพันปียังยืนเด่นโดยท้าทาย ลึกลงไปในรายละเอียดทายาทรุ่นที่ 46 คนนี้ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว “South China Morning Post” ไว้ว่า ปรัชญาในการทำธุรกิจที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น คือต้องทำตัวเองให้เหมือนกับน้ำในลำธารเล็กๆ นัยของน้ำ คือการเคลื่อนตัวไปตามกระแสธาร ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะจัดการกับอุปสรรคด้วยการขจัดสิ่งกีดขวางเล็กๆ ระหว่างทางด้วย

เมื่อถามว่า เป้าหมายในการดำเนินงานแต่ละวันมีอะไรบ้าง “เซ็งโกโร” บอกว่า มีอยู่ 2 ข้อเท่านั้น คือให้การต้อนรับผู้มาเยือน และเตรียมการสืบทอดให้กับรุ่นต่อไป ทุกๆ วัน เขาและภรรยาจะตระเตรียมสถานที่ไว้รองรับแขก จัดการกับปัญหาเล็กๆ น้อยๆ และปรับปรุงโรงแรมอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ยึดติดกับสูตรสำเร็จเดิมที่รุ่นก่อนเคยทำไว้

เรื่องการส่งต่อให้ทายาทผู้หญิงเป็นครั้งแรกสะท้อนถึงปรัชญาแห่งสายน้ำได้เป็นอย่างดี เพราะนี่คือคุณลักษณะประการสำคัญที่ตระกูลโฮชิไม่เคยฝ่าฝืนกฎ เหมือนกับธุรกิจครอบครัวในเอเชียหลายแห่งที่ยังยึดมั่นในผู้นำที่เป็นลูกชายหรือหลานชายคนโตเท่านั้น

-เซ็งโกโร โฮชิ ทายาทรุ่นที่ 46 ของโฮชิเรียวกัง-

กฎของ “โฮชิเรียวกัง” ก็เช่นกัน หากไม่มีลูกชายคนโต ตำแหน่งนี้จะถูกเสนอให้กับลูกเขย และมากไปกว่านั้นลูกเขยเองต้องเปลี่ยนมาใช้นามสกุลของฝั่งภรรยาด้วย เป็นสูตรการทำธุรกิจที่มีกลิ่นอายแบบอนุรักษ์นิยมถึงขีดสุด

แต่กฎอะไรก็ไม่สู้ปรัชญาแห่งสายน้ำ ในเมื่อไม่มีทั้งลูกชายและหลานชายคนโต สำคัญกว่าคือจะทำอย่างไรให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ นั่นจึงเป็นที่มาของทายาทรุ่นที่ 48 นอกจากนี้ ตระกูลโฮชิยังเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ หลายด้าน โดยเฉพาะเทคโนโลยีและความทันสมัยในภาคธุรกิจบริการ

“โฮชิเรียวกัง” รับทราบข้อสังเกตตรงนี้ดี โดย “เซ็งโกโร” บอกว่า หลังจากนี้ธุรกิจจะเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น ปัจจุบันได้มีการเปิดจองห้องผ่านระบบออนไลน์แล้ว และกำลังปรับปรุงเว็บไซต์เพื่อรองรับภาษาอังกฤษด้วย เขาตระหนักดีว่า หลังจากนี้ธุรกิจต้องเจอกับบททดสอบอีกมากมาย เศรษฐกิจซบเซาทำให้โรงแรมในย่านเดียวกันปิดตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ตรงกันข้ามกับในอดีตที่ “เรียวกัง” เคยเป็นธุรกิจในฝันของใครหลายคน

“โฮชิเรียวกัง” คืองานยาก ต้องแบกประวัติศาสตร์ไว้บนบ่าด้วย

“ธุรกิจโรงแรมถ้าทำแล้วรายได้ไม่ดีเขาก็ตัดสินใจออกจากตลาดได้ แต่นั่นไม่ใช่กับโฮชิเรียวกัง” ทายาทรุ่นที่ 46 ยังคงยึดมั่นที่จะทำธุรกิจด้วยการเรียนรู้จากน้ำต่อไป เขาไม่กลัวที่จะลองสิ่งใหม่แม้สุดท้ายอาจล้มเหลว เพราะเชื่อว่า ด้วยมนต์ขลังของโรงแรมอายุ 1,300 ปี ทำให้ทุกๆ ความเคลื่อนไหว มักจะมีธุรกิจเรียวกังแห่งอื่นๆ เดินตามรอยเสมอ “เซ็งโกโร” เชื่อว่า ความเปลี่ยนแปลงจะทำให้ระบบนิเวศอุตสาหกรรมโรงแรมแข็งแรงมากขึ้น โดยเฉพาะโรงแรมดั้งเดิมแบบ “เรียวกัง”

ธรรมเนียมปฏิบัติในการสืบทอด “โฮชิเรียวกัง” ถือเป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่ วัตรปฏิบัติที่ต้นตระกูลส่งต่อกันมา ทำให้แม้แต่ทายาทที่ได้รับภารกิจเร่งด่วนแบบไม่ทันตั้งตัวยังเต็มใจที่จะสละความฝันบางส่วนเพื่อรับหน้าที่บริหารธุรกิจต่อ “เซ็งโกโร” บอกว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งเขาจะเกษียณตัวเอง แล้วให้ทายาทข้ามารับช่วงกิจการ แม้ก่อนหน้านี้เธอจะไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนว่า ต้องเป็นหัวเรือใหญ่ของโฮชิเรียวกัง แต่เมื่อได้รับมอบหมายเธอก็ไม่รอช้าที่จะเข้ามาเรียนรู้-วางภาพอนาคตของธุรกิจทันที

-โรงแรมเรียวกังสไตล์ญี่ปุ่น ที่นับวันจะหาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ-

ด้วยความที่เรียวกังเป็นธุรกิจเก่าแก่ โครงสร้างในการกำกับดูแลและบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมจึงถูกปูทางมาเป็นพันๆ ปี โดยเฉพาะการวางตำแหน่งผู้สืบทอดเป็นผู้ชายเท่านั้น ลูกชายคนโตจะได้รับการเลี้ยงดูเพื่อสืบทอดตำแหน่งทายาท ทั้งเรียนรู้วิชาการจัดดอกไม้ และการทำงานด้านสถาปัตยกรรม “เซ็งโกโร” บอกว่า พ่อของตนดีใจมากตอนที่เขาเกิด เพราะนั่นหมายความว่า จะมีผู้สืบทอดช่วยดูแลธุรกิจต่ออย่างแน่นอน

ทว่า ปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว “เซ็งโกโร” บอกว่า ธรรมเนียมในการเตรียมลูกชายเพื่อสืบทอดธุรกิจในญี่ปุ่นค่อยๆ โรยรา สอดคล้องกับเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก บริษัทน้อยใหญ่ต่างมีเวทีให้ผู้หญิงเก่งเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นทุกวัน เขาเชื่อว่า หลังจากนี้ “โฮชิเรียวกัง” ในมือผู้บริหารหญิงจะสร้างการเติบโตได้ดีกว่าผู้ชายด้วยซ้ำไป 

ส่งต่อธุรกิจ-มรดก คือความท้าทายขั้นสูงสุด

กว่าจะตัดสินใจหักล้างประเพณีเดิมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหนึ่งในมายาคติของคนรุ่นก่อนๆ มักจะมองว่า ลูกหลานยังไม่มีความพร้อมขึ้นมาบริหารธุรกิจ บ้างก็กลัวลูกไม่เก่ง ทำได้ไม่ดีเท่าตนเอง จึงทำให้ตัดสินใจลงจากตำแหน่งล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น ยกตัวอย่างเช่น “เช่า อี้ฟู” หรือ “เซอร์ รัน รัน ชอว์” (Sir Run Run Shaw) นักธุรกิจผู้คร่ำหวอดในวงการภาพยนตร์ชางฮ่องกง ที่กว่าจะลงจากตำแหน่งก็อายุมากถึง 103 ปี หรือ “ลี กาชิง” (Li Ka-Shing) มหาเศรษฐีชาวฮ่องกง ก็เพิ่งประกาศรีไทร์ตัวเองไปตอนอายุ 91 ปี 

การวางแผนสืบทอดตำแหน่งสำคัญมาก ทั้งการวางตัวทายาทและแผนโอนกรรมสิทธิ์ มีงานวิจัยระบุว่า ธุรกิจครอบครัวหลายแห่งสูญเสียมูลค่าไปมหาศาลเมื่อผู้ก่อตั้งเริ่มแก่ชรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลูกชายหรือลูกสาวไม่ได้มีความสามารถเท่ากับผู้เป็นพ่อ หรือบางครั้งก็ไม่ได้มีความสนใจอยากจะบริหารธุรกิจต่อด้วยซ้ำไป

ตระกูลโฮชิเป็นต้นแบบของการวางแผนสืบทอดอำนาจ หลายครอบครัวได้รับแรงบันดาลใจจากโฮชิเรียวกังที่สามารถส่งต่อสม่ำเสมอมาได้มากกว่า 1,300 ปี โดยพบว่า รูปแบบของตระกูลโฮชิไม่ได้บริหารแบบกงสี แต่ต้องโอนธุรกิจและทรัพย์สินทั้งหมดให้กับทายาทแต่เพียงผู้เดียว ในแต่ละรุ่นจะมีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่รับหน้าที่บริหารบริษัท วางแผนครอบคลุมตั้งแต่ความมั่งคั่ง การแต่งงาน รวมไปถึงการรับบุตรบุญธรรม ที่จะถูกจัดเตรียมไว้ในแบบฉบับทายาทเพื่อรักษามรดกในอนาคต

“เซ็งโกโร” ยอมรับว่า กฏเกณฑ์เหล่านี้อาจฟังดูล้าสมัย และไม่ยุติธรรมสำหรับลูกหลานคนอื่นๆ แต่เขาก็ยืนยันว่า รากฐานเหล่านี้มีความจำเป็น และทำให้ “โฮชิเรียวกัง” ประสบความสำเร็จในการส่งต่อ คุ้มค่าหรือไม่คงชี้วัดได้จากการส่งต่อที่รักษามาได้ 46 ครั้งแล้ว

-บ่อน้ำพุร้อนจากธรรมชาติภายในที่พัก เอกลักษณ์แบบเรียวกัง-

เรียวกังไม่ตาย หาที่พักแบบนี้ที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว

ปัจจุบัน “โฮชิเรียวกัง” มีลูกค้าทั้งชาวญี่ปุ่นและต่างชาติ “เซ็งโกโร” เชื่อว่า ธุรกิจเรียวกังจะยังได้รับความนิยมต่อไป แต่ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างบาลานซ์ระหว่างการปรับตัวให้ทันยุค คู่ขนานไปกับการรักษาอัตลักษณ์แบบเดิมที่เป็น “จุดขาย” ของเรียวกังไว้ให้ดี เขามองว่า หากเรียวกังมีลักษณะเหมือนกับโรงแรมสมัยใหม่มากเกินไป จะทำให้รากเหง้าทางวัฒนธรรมแห่งนี้คลายมนต์เสน่ห์ลงในที่สุด

แก่นแท้ของเรียวกัง คือบ่อน้ำพุร้อน สวน และการเสิร์ฟอาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม แต่เพื่อให้มีลูกค้านึกถึงเรียวกังอยู่เสมอ การนำเทคโนโลยีเข้ามาทำให้แขกเหรื่อสะดวกสบายก็สำคัญไม่แพ้กัน มองว่า ประสบการณ์แบบเรียวกังไม่สามารถหาจากที่อื่นได้ ตรงนี้คือจุดแข็งที่อย่างไร “เรียวกัง” ยังไม่ตาย เป็นโจทย์ของทายาทรุ่นใหม่ที่จะรักษาสมดุลทั้งสองส่วนให้เดินต่อไปได้อย่างมั่นคง

 

อ้างอิง: South China Morning Post, Tharawat Magazine, Walden Labs

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

สมราคาแชมป์โลก "บันยาญา" ผงาดแชมป์โมโตจีพี ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ ที่บุรีรัมย์

สมราคาแชมป์โลก "ฟรานเชสโก บันยาญา" ผงาดแชมป์โมโตจีพี 2024 สนามไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ ที่บุรีรัมย์ วันท...

แฟนปืนเฮลั่น "อาร์เซนอล" ได้ 2 ข่าวดีล่าสุดก่อนบู๊ "ลิเวอร์พูล" ศึกพรีเมียร์ลีกคืนนี้

แฟนปืนเฮสนั่น! "อาร์เซนอล" ได้ 2 ข่าวดีสำคัญ ก่อนปะทะ "ลิเวอร์พูล" ศึกพรีเมียร์ลีกคืนนี้ ชี้ชะตาลุ้น...

"เนวิน" เคลื่อนไหวถึง "ศศลักษณ์ - ลิซ่า" หลังแข้งบุรีรัมย์ ได้ตีธงหมากรุกในโมโตจีพี

ระดับโลก "เนวิน" เคลื่อนไหวถึง "ศศลักษณ์ - ลิซ่า" ทันที หลังแข้งบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ได้ตีธงหมากรุกในโ...

เวทีระดับโลก "ศศลักษณ์" เปิดใจ หลังได้โบกธงหมากรุกในโมโตจีพี ที่บุรีรัมย์ บ้านเกิด

เวทีระดับโลก "ศศลักษณ์" นักเตะทีมชาติไทย เปิดใจหนแรก หลังได้โบกธงหมากรุกในโมโตจีพี ที่บุรีรัมย์ จังห...