‘มาม่า’ปรับยุทธศาสตร์ลงทุนใหม่ ขยายโรงงานฮังการี-กัมพูชาป้อนไทย

เผยนิยามปี 67 ตลาดบะหมี่ฯ ทางเลือก พรีเมียม เติบโต กำลังซื้อชนชั้นกลางหดตัวแรง ฉุดฐานะปี 68 จับตาโลกแบ่งขั้วขัดแย้ง ดันต้นทุน “แป้งสาลี-น้ำมันปาล์ม” ขยับ

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ ไทยเพรซิเดนท์ ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มาม่า เปิดเผยว่า จากที่บริษัทเคยประกาศแผนลงทุนใหญ่ 2,000 ล้านบาท ในรอบ 20 ปี เพื่อสร้างโรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่าแห่งใหม่ในประเทศไทย หลังจากปัจจุบันกำลังการผลิตสินค้าค่อนข้างเต็ม ขณะที่ยอดขายบะหมี่ฯ ซองใหญ่ราคา 10 บาท บะหมี่ฯ พรีเมียมราคา 15 บาท มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

เพื่อรองรับการเติบโต บริษัทได้พิจารณาปรับแผนการลงทุนในประเทศไทย เดิมจะหาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) แต่พบว่าราคาที่ดินค่อนข้างแพง ต้องใช้เงินลงทุนเฉพาะซื้อที่ดินหลักพันล้านบาท ส่วนจะสร้างโรงงานในพื้นที่ส่งเสริมการลงทุน หรือทำเลยุทธศาสตร์ที่เชื่อมเศรษฐกิจการค้าของไทยในภาคอีสาน ลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อผลิตบะหมี่ฯ ป้อนตลาดภาคอีสาน รวมถึงส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่มีข้อจำกัดการส่งสินค้าไปยังคู่ค้าพันธมิตรห้างค้าปลีก ที่ต้องส่งสินค้ากลับมายังศูนย์กลางการกระจายสินค้าในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อส่งกลับไปจำหน่ายในพื้นที่ภาคอีสาน บริษัทจึงต้องมองหาทำเลสร้างโรงงานใหม่ในจังหวัดนครนายก จังหวัดนครราชสีมา ที่ใกล้กับศูนย์กระจายสินค้าต่างๆ

“ภายใน 5-6 ปี บริษัทไม่มองการลงทุนใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งเดิมเราจะซื้อที่ดินสร้างโรงงานใหม่ พอดูที่ดินในพื้นที่อีอีซี ทั้งศรีชารา ระยอง ค่อนข้างแพง พอจะไปตั้งโรงงานในภาคอีสาน ในทางปฏิบัติเราไม่สามารถส่งสินค้าตรงไปยังศูนย์กระจายสินค้าของห้างค้าปลีกต่างๆ ในพื้นที่ได้ ต้องส่งกลับมายังศูนย์กลางเพื่อส่งสินค้าไปจำหน่ายในภาคอีสาน จึงต้องขยับแผนลงทุนโรงงานมายังพื้นที่อาจจะนวนคร หรือพื้นที่โคราช”

นอกจากนี้ โรงงานเดิมจะมีการลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ เทคโนโลยีใหม่ เพิ่มสปีดในการผลิตราว 200 ล้านบาท เช่น โรงงานที่จังหวัดลำพูน และยังมีโปรเจคลงทุนขยายโรงงานรองรับการผลิตสินค้าอีก 5-6 ปี

ขยายโรงงานต่างประเทศป้อนตลาด

พร้อมกันนี้ การผลิตสินค้าป้อนตลาดในประเทศ ยังปรับไปลงทุนสร้างและขยายโรงงานในต่างประเทศแทน โดยโรงงานที่ฮังการีคาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1,500 ล้านบาท และประเทศกัมพูชาลงทุนประมาณ 400-500 ล้านบาท สำหรับพื้นที่ใกล้โรงงานเดิมในไทย จะมีการนำเครื่องจักรมาติดตั้ง เพิ่มกำลังการผลิตบะหมี่ฯซองใหญ่ และบะหมี่ฯพรีเมียม ซึ่งปัจจุบันเครื่องจักรของโรงงานมี 30 เครื่อง ใช้ผลิตบะหมี่ฯ 28 เครื่อง แต่ผลิตบะหมี่ฯซอง 10 บาท และบะหมี่ฯ พรีเมียมเพียง 4 เครื่องเท่านั้น

“เราจะลงทุนไม่ใหญ่ในต่างประเทศ แต่การลงทุนจะรองรับการทรานส์ฟอร์มกำลังการผลิตบางส่วนป้อนตลาดในประเทศไปที่ฮังการีและกัมพูชา ส่วนในประเทศจะเหลือพื้นที่ไว้ติดตั้งเครื่องจักรผลิตบะหมี่ฯซองใหญ่เครื่องที่ 4 ในปี 2568 และเครื่องที่ 6 ในปี 2569”

สินค้าจำเป็นไร้อานิสงส์เงินหมื่น

ด้านภาพรวมตลาดบะหมี่ฯ มีมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท การเติบโต 6-7% ขึ้นลงตามโปรโมชันที่แข็งแรงของแต่ละค่าย ขณะที่มาม่า 9 เดือนเติบโตสูงกว่าตลาด

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ตลาดโต มาจากการปรับราคาที่มีผลต่อเนื่องจากปี 2565 รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคซื้อบะหมี่ฯซองใหญ่ 10 บาท และซื้อบะหมี่ฯพรีเมียมราคา 15 บาท 30 บาท และ 50 บาท ส่วนเชิงปริมาณไม่เปลี่ยนแปลงนัก ขณะที่การบริโภคบะหมี่ฯของคนไทยเฉลี่ย 53-54 ซองต่อคนต่อปี อย่างไรก็ตาม ตลาดบะหมี่ฯแบบถ้วยหรือคัพ มีการหดตัวลง เนื่องจากผู้บริโภครับรู้ถึงความคุ้มค่าไม่ต่างจากซองหลัก 7 บาท ที่ผ่านมา บะหมี่ฯถ้วยแบรนด์ญี่ปุ่นครองสัดส่วน 60% ลดเหลือ 40%

นายพันธ์ กล่าวอีกว่า ตลาดบะหมี่ฯรวมถึงสินค้าจำเป็น (FMCG) ภาพรวมไม่ได้รับอานิสงส์จากเงินหมื่นของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 มากนัก เนื่องจากรอบแรกจ่ายให้กับกลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านราย วงเงิน 1.45 แสนล้านบาท ซึ่งนำไปใช้จ่ายโดยไม่มีเงื่อนไข พบว่าส่วนใหญ่นำไปใช้หนี้ ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย และเก็บไว้ จึงประเมินเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอาจไม่มากเท่าที่ควร

“แนวโน้มกำลังซื้อไตรมาส 4 ผู้บริโภคอาจไม่มีเงินใช้จ่ายคึกคักนัก เพราะเศรษฐกิจไม่ดี เงินของคนลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะชนชั้นกลางที่กำลังแปรสภาพเป็นคนยากจน ชนชั้นล่างโดยสมบูรณ์ในเร็วๆนี้ ส่วนผู้มีรายได้น้อย คนไม่ลำบากหรือยากจนกว่าเดิม แต่ภาระหนี้มากขึ้น เนื่องจากส่วนหนึ่งเผชิญเงินไหลออกไปยังวงจรสีเทาๆ ทั้งการพนัน การหลอกลวงจากแก๊งคอลเซนเตอร์ และอีกมากมาย สิ่งเหล่านี้จะทำให้ฐานชนชั้นล่างขยายตัวกว้างขึ้น”

บุกส่งออก รุกตลาดเกาหลี ธ.ค.

ด้านแผนการตลาดโค้งสุดท้ายปี 2567 มาม่าจะให้น้ำหนักกับบะหมี่ฯ ซองใหญ่ 10 บาท และมาม่าออเรียนทัลคิตเชน หรือมาม่าโอเค ที่จะเห็นการร่วมมือหรือคอลแลปกับ 2 แคมเปญที่จะสร้างเซอร์ไพรส์และความเท่ให้กับตลาด

พร้อมกันนี้จะเห็นมาม่า บุกตลาดส่งออกไปยังประเทศเกาหลีเดือนธันวาคมนี้ นำร่องรสชาติแกงเขียวหวาน และกะเพรา จากนั้นจะเสริมทัพด้วยมาม่าต้มยำกุ้ง และพะแนงเนื้อ จำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ GS25 รวมถึงการผนึกร้านอาหารไทยในกรุงโซล เพื่อลุยมาม่า สเตชั่น(MAMA STATION) ชิมลางตลาด 3 ร้านในต้นปี 2568 หลังจากที่ผ่านมาเปิดโมเดลป๊อปอัพสเตชั่นร่วมกับพันธมิตรในฮ่องกง 1 เดือนเศษ และสิงคโปร์ 2 เดือนเศษ ผลตอบรับด้านแบรนด์และยอดขายดีมาก

“เราจะนำรสชาติไทยๆไปแข่งในตลาดบะหมี่ฯเกาหลี ค่อยๆสร้างตลาดและการเติบโต”

ปีแห่งตลาดทางเลือกหนุนขยายตัว

อย่างไรก็ตาม ปี 2567 ถือเป็นปีแห่งตลาดทางเลือกของบะหมี่ฯ เป็นตัวแปรทำให้เกิดการขยายตัว ขณะที่สินค้าหลักซอง 7 บาท ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเท่าเดิม กลับกันไม่ได้สะท้อนภาพเศรษฐกิจไม่ดี เพราะมาม่าและบะหมี่ฯ ยังเป็นสินค้าแรกและตัวเลือกสุดท้ายที่คนบริโภค

“มาม่า หากไม่เป็นตัวเลือกแรกก็ตัวเลือกสุดท้ายของผู้บริโภค คนทานเพราะชอบมาม่า และเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี มาม่าก็เป็นตัวเลือกสุดท้ายที่จำเป็น มาม่าเป็นตัวเลือกของผู้บริโภคอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ปี 2567 บริษัทมองปัจจัยที่จะกระทบตลาดและธุรกิจบะหมี่ฯ คือต้นทุนแป้งสาลีและน้ำมันปาล์ม ที่มาจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ซึ่งหากราคาวัตถุดิบดังกล่าวขึ้นพร้อมกัน ผู้ประกอบการกระอักแน่นอน”

ด้านภาพรวมยอดขายมาม่า (เฉพาะบะหมี่ฯของบริษัท) อยู่ที่ 2.3 หมื่นล้านบาท หากมองเป้าหมาย 3 หมื่นล้านบาท คาดการณ์ใช้เวลา 7-10 ปี โดยปี 2567 ยอดขายในประเทศเติบโตดีราว 1.7 หมื่นล้านบาท และต่างประเทศ 5,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากภาพรวมบริษัท (รวมเพรซิเดนท์เบเกอรี่, แพ็กเกจจิ้ง และการผลิตแป้งสาลี) รายได้กว่า 3 หมื่นล้านบาท

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘เอส โอเอซิส’ ฮับธุรกิจดาวรุ่ง ‘โทรคม-พลังงาน-EV-เทคโนฯ’แห่เช่าพื้นที่

ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดีมานด์ข...

เปิดแล้ววันนี้วัน แบงค็อกอภิมหาโปรเจกต์แสนล้านแลนด์มาร์คใหม่ย่านพระราม4

‘วัน แบงค็อก’ One Bangkok ถือเป็นอภิมหาโปรเจกต์มิกซ์ยูสขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยมูลค่าการลงทุนสู...

“อัปเดตการพัฒนา SEC Digital Services มุ่งสู่ตลาดทุนดิจิทัล (1)”

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก.ล.ต. จัดงานสัมมนา “SEC Digital Services” ในหัวข้อ “Digital Horizons : Shaping ...

จับจังหวะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก่อนการเลือกตั้ง โอกาสหรือความเสี่ยง

การเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 5 พ.ย. 2567 เป็นเหตุการณ์ที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญ และ...