‘สหรัฐ’เบอร์ 1 มหาอำนาจ ‘AI’ โลก ‘ไทย’ พร้อม 'อันดับ 3' ของอาเซียน

เปิดอันดับความพร้อมปัญญาประดิษฐ์ของประเทศทั่วโลก “สหรัฐ” ครองเบอร์ 1 มหาอำนาจ ทิ้งห่างจีนซึ่งอยู่ในอันดับ 2 ได้คะแนนเต็ม 100 คะแนน ส่วนจีนได้ 54 คะแนน ส่วนประเทศไทย มีความพร้อมเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน และอันดับ 43 ของโลก “นักวิชาการ” วิเคราะห์ ไทยยังด้อยเรื่องการพัฒนา “คน” ได้เพียง 3 คะแนนจาก 100 คะแนน ขณะที่ “ไทย” ครองอันดับ 2 ตื่นเต้นเรื่องเอไอมากที่สุดในโลก

ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี กล่าวว่า ความพร้อมด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของไทยในระดับโลก จากรายงานเรื่อง Global AI Index 2024 ครอบคลุม 83 ประเทศทั่วโลก เพื่อจัดอันดับประเทศตามการนำนวัตกรรม การลงทุน บุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน การวิจัย และยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ซึ่งปีนี้ก็มีการนำประเทศไทยเข้าเป็นหนึ่งในการจัดอันดับ พบว่า ประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 43 ของโลกมีเพียง 9 คะแนน โดยไทยเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ และมาเลเซียที่อยู่อันดับ 39

โดยไทยนำหน้าอินโดนีเซียที่อยู่ในอันดับ 49 ขณะที่เวียดนามอยู่ในอันดับ 58 และฟิลิปปินส์อยู่อันดับ 67 แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงอันดับที่ 35 ลงมาคะแนนจะห่างกันเพียงแค่ 2-3 คะแนนเท่านั้น

 

ยุทธศาสตร์เอไอรัฐดีแต่ “คน” สอบตก

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาอันดับในหมวดย่อยจะพบว่า ไทยมีอันดับที่ดีที่สุดคือ ด้านยุทธศาสตร์ภาครัฐ อยู่อันดับ 16 และด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่อันดับ 23 ส่วนด้านอื่นๆ จะอยู่อันดับค่อนข้างต่ำ ด้านระบบนิเวศเชิงพาณิชย์อยู่อันดับ 54 ด้านสภาพแวดล้อมการดำเนินงาน ด้านการวิจัย และด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ต่างก็อยู่อันดับ 63

หมวดที่ดูน่าเป็นห่วงที่สุดคือ ด้านบุคลากรที่ไทยอยู่อันดับ 66 และมีคะแนนเพียง 3 จาก 100 คะแนน ซึ่งเมื่อพิจารณาตัวชี้วัดต่างๆ ในหมวดย่อยนี้คะแนนประเทศไทยน้อยมาก โดยมีคะแนนด้านนักพัฒนา 5.3 คะแนน ด้านบุคลากรในวิชาชีพเอไอ 4.3 คะแนน และด้านนักวิทยาศาสตร์เอไอ 0.6 คะแนน ซึ่งคะแนนหมวดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในด้านการแข่งขันเทคโนโลยีเอไอที่ต้องเน้นบุคลากรที่เก่ง และมีจำนวนมากพอ

“ดัชนีนี้เป็นโอกาสที่ดีในการประเมินจุดแข็ง และจุดอ่อนของไทยในด้านเอไอ เพื่อวางแผนพัฒนาในอนาคต โดยเฉพาะการเร่งพัฒนาบุคลากร ไม่ว่าผลการจัดอันดับจะเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญคือ การนำข้อมูลนี้ไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย และส่งเสริมการพัฒนาเอไออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวทันโลกในยุคปัญญาประดิษฐ์นี้ และข้อสำคัญอย่าเพียงมุ่งเน้นสร้างภาพการตลาดว่า เราจะก้าวสู่ผู้นำเอไอโลก โดยไม่สนใจข้อมูลศักยภาพของประเทศไทยเราอย่างแท้จริง”

 

การสำรวจแบ่งการวัดออกเป็น 3 หมวดหลัก ได้แก่ การประยุกต์ใช้ (Implementation) นวัตกรรม (Innovation) และการลงทุน (Investment) โดยแต่ละหมวดหลักยังแบ่งย่อยเป็น 7 หมวดย่อยที่ครอบคลุมการวัดทั้งหมด 122 ตัวชี้วัด ซึ่งได้แก่ ความสามารถบุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน สภาพแวดล้อมการดำเนินงาน การวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีเอไอ ระบบนิเวศเชิงพาณิชย์ และยุทธศาสตร์ภาครัฐ

“สหรัฐ”ครองมหาอำนาจเอไอโลก

อย่างไรก็ตาม ผลการจัดอันดับล่าสุดได้เปิดเผยภาพรวมที่น่าสนใจของการแข่งขันด้าน เอไอ ระดับโลก โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

สหรัฐ ยังครองผู้นำด้านเอไอของโลก ทิ้งห่างจีนซึ่งอยู่ในอันดับ 2 มากขึ้นกว่าปีที่แล้ว โดยได้คะแนนเต็ม 100 คะแนน ส่วนจีนได้ 54 คะแนน ทั้งสองประเทศนี้นำหน้าประเทศอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ คะแนนในหมวดย่อยทั้ง 7 หมวด สหรัฐอเมริกาชนะจีนในทุกหมวด และครองอันดับหนึ่งของโลกเกือบทั้งหมด ยกเว้นด้านสภาพแวดล้อมการดำเนินงานที่อิตาลีอยู่อันดับ 1 และด้านยุทธศาสตร์ภาครัฐที่ซาอุดีอาระเบียอยู่อันดับ 1

สิงคโปร์ ยังคงอันดับ 3 แซงหน้าสหราชอาณาจักรมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่คะแนนตามห่างๆ โดยมี 34 คะแนน สิงคโปร์ทำคะแนนสูงในตัวชี้วัดเชิงเปรียบเทียบหลายด้าน เช่น จำนวนนักวิทยาศาสตร์เอไอต่อประชากรล้านคน นอกจากนี้ยังมีความก้าวหน้าอย่างมากในด้านการวิจัย และการลงทุนด้านเอไอ

สหราชอาณาจักร รักษาอันดับ 4 ได้อย่างหวุดหวิด ในขณะที่ ฝรั่งเศส ก้าวกระโดดขึ้นมาอยู่อันดับ 5 เข้าสู่กลุ่มประเทศชั้นนำด้านเอไอเป็นครั้งแรก แม้สหราชอาณาจักรจะแข็งแกร่งในด้านเอไอเชิงพาณิชย์ แต่ฝรั่งเศสกลับทำผลงานได้ดีกว่าในด้านการพัฒนาแบบจำลองภาษาขนาดใหญ่ (open-source LLM) รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐ และการประมวลผล

เกาหลีใต้ ยังคงอยู่อันดับ 6 โดดเด่นในการประยุกต์ใช้เอไอ ในภาคอุตสาหกรรมสำคัญ ส่วนประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม 10 อันดับแรกรวมถึง อิสราเอล ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอันดับ 3 สำหรับการลงทุนด้านเอไอของภาคเอกชน และ แคนาดา ซึ่งมียุทธศาสตร์ภาครัฐด้านเอไอที่ครอบคลุมเป็นอันดับ 3

อินเดีย ก้าวสู่ 10 อันดับแรกเป็นครั้งแรก โดยโดดเด่นด้วยบุคลากรเอไอ ที่แข็งแกร่งและหลากหลายอย่างไรก็ตาม บุคลากรด้าน AI ของอินเดียส่วนใหญ่ย้ายไปทำงานในต่างประเทศ และความสำเร็จด้านเอไอของประเทศยังไม่ส่งผลให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชน และความสามารถในการประมวลผลในระดับสูง

ทั่วโลกลงทุน Gen AI เพิ่ม

ขณะที่  รัฐบาลทั่วโลกเพิ่มงบประมาณด้านเอไอไปมาก โดยเฉพาะ ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งภาครัฐมีการใช้จ่ายด้าน เอไอ สูงกว่าสหรัฐ และจีนอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่มองว่า การลงทุนภาคเอกชนด้านเอไอโดยรวมทรงตัว แต่การลงทุนในด้านเจเนอเรทีฟ เอไอ (Generative AI) มีเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ตลาด Generative AI ยังถูกครอบงำโดยบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ไม่กี่แห่งของสหรัฐ

ดร.ธนชาติ ยังยกรายงาน “ผลสำรวจ AI Monitor 2024” ของบริษัท Ipsos ซึ่งสำรวจทัศนคติของผู้คนใน 32 ประเทศทั่วโลกเกี่ยวกับเทคโนโลยีเอไอรวมทั้งประเทศไทย การสำรวจนี้ดำเนินการโดย Ipsos ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Global Advisor ระหว่างวันที่ 19 เม.ย.- 3 พ.ค.2024มีผู้เข้าร่วมการสำรวจทั้งสิ้น 23,685 คน จาก 32 ประเทศทั่วโลก

กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยประชากรประมาณ 1,000 คนในแต่ละประเทศหลักๆ เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี สหราชอาณาจักร อิตาลี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และไทย รวมถึงอีกประมาณ 500 คนในประเทศ อื่นๆ โดยครอบคลุมกลุ่มอายุตั้งแต่ 16-74 ปี ข้อมูลได้รับการถ่วงน้ำหนักเพื่อให้สะท้อนลักษณะทางประชากรศาสตร์ของประชากรผู้ใหญ่ในแต่ละประเทศตามข้อมูลสำมะโนประชากรล่าสุด

คนไทยเชื่อมั่นเอไอสูง

ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า ความรู้สึกของผู้คนต่อเอไอ ยังคงแบ่งเป็นสองขั้วระหว่างความตื่นเต้น และความกังวล โดยข้อมูลส่วนใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งอาจตีความได้ว่าทัศนคติของผู้คนต่อเอไออาจถึงจุดสูงสุดแล้วหรืออาจเป็นเพียงการหยุดพักชั่วคราวก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งในอนาคต

ซึ่งเมื่อดูผลการสำรวจ พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับสูงในหลายด้าน ดังนี้ คนไทยมีความเชื่อมั่นในความเข้าใจของตนเองเกี่ยวกับเอไอสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 75% เชื่อว่าตนเองเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับเอไอ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 67% โดยมีอินโดนีเซีย (86%) เม็กซิโก (80%) เปรู (79%) แอฟริกาใต้ (76%) ที่อยู่ในอันดับที่สูงกว่า และฮังการี (75%) ซึ่งอยู่ในอันดับเท่ากัน

ด้านความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้เอไอประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 69% ที่เห็นด้วยว่าพวกเขารู้ว่าผลิตภัณฑ์และบริการใดใช้เอไอสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 52% อย่างมีนัยสำคัญ โดยมีเพียงจีน (81%) และอินโดนีเซีย (80%) ที่มีอัตราสูงกว่าไทย

ความรู้สึกตื่นเต้นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และบริการที่ใช้เอไอ พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 2 ของโลก โดย 76% ของคนไทยรู้สึกตื่นเต้นกับผลิตภัณฑ์ และบริการที่ใช้เอไอ รองจากจีน (80%) และเท่ากับอินโดนีเซีย (76%) ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามคนไทยมี 52% บอกว่า รู้สึกกังวลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และบริการที่ใช้เอไอซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของโลกที่ 50%

ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าคนไทยมีทัศนคติเชิงบวกต่อเอไอโดยมีความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และบริการที่ใช้เอไอสูง และมีความรู้สึกตื่นเต้นมากกว่าความรู้สึกกังวลซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ แต่แตกต่างจากประเทศในกลุ่มตะวันตกที่มีแนวโน้มจะกังวลมากกว่า

และหากมาดูผลสำรวจในด้านความไว้วางใจต่อเอไอ ยิ่งไม่แปลกใจที่ผลสำรวจ พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับหนึ่งของโลก ที่เชื่อมั่นว่าบริษัทที่ใช้เอไอจะปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของเรา โดยผู้ตอบแบบสอบถามคนไทย 66% ตอบว่า เชื่อมั่นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 47% อย่างมีนัยสำคัญ และมีเพียง 22% ที่ตอบว่าไม่เชื่อมั่น ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 41%

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามของคนไทย 73% มีความไว้วางใจว่าเอไอจะไม่เลือกปฏิบัติหรือแสดงอคติต่อกลุ่มคนใดๆ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 54% อย่างมีนัยสำคัญ โดยไทยอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก รองจากจีน (76%) เม็กซิโก (76%) และเปรู (74%) และมีเพียง 19% ของคนไทยที่ไม่เชื่อว่าเอไอ จะไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 36%

คนไทยเชื่อเอไอมาแทนคนใน 5 ปี

ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ คนไทยถึง 69% เชื่อว่ามีความไปได้ที่เอไอ จะมาทำงานแทนที่เราในอีก 5 ปี ข้างหน้า สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยมี อินโดนีเซีย (66%) ตุรเคีย (63%) และมาเลเซีย (62%) อยู่ในอันดับรองลงมา ในขณะที่ค่าเฉลี่ยโลกอยู่เพียงที่ 26% เช่นเดียวกับประเทศในกลุ่มตะวันตกโดยเฉพาะในยุโรปจะมีความเชื่อเรื่องนี้ต่ำกว่ามาก

“ดูผลการสำรวจแล้ว เหมือนว่าคนไทยให้ความไว้วางใจเอไอในระดับสูงเกินไป ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากทัศนคติเชิงบวกโดยรวมต่อเอไอของไทย และความคาดหวังต่อประโยชน์ที่จะได้รับ อย่างไรก็ตาม ก็อาจสะท้อนถึงความจำเป็นในการให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความเสี่ยง และข้อควรระวังในการใช้เอไอ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการยอมรับเทคโนโลยี และการตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น” ดร.ธนชาติ กล่าว

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ทูตจีนยินดีไทยร่วมหุ้นส่วน BRICS

นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยแสดงปาฐกถาพิเศษ “เศรษฐกิจจีนในมุมมองใ...

'สตาร์บัคส์' ปรับใหญ่เมนูร้าน ถอดเมนูที่ซับซ้อนเกิน เร่งดึงลูกค้ากลับ

ไบรอัน นิคโคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) คนใหม่ของเชนร้านกาแฟรายใหญ่ “สตาร์บัคส์” (Starbucks) ...

'มาริษ' ร่วมเฟรม 'ปูติน-สี จิ้นผิง' ระหว่างประชุม BRICS Plus

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนของนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าร่วมก...

‘Intel’ รอดคดีผูกขาด! ไม่ต้องจ่ายค่าปรับเกือบ 4 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า “อินเทล” (Intel) ผู้ผลิตชิปซีพียูระดับโลก “ชนะ” ศึกต่อสู้ทางกฎหมายรอบล่...