ความขัดแย้ง ‘ทะเลจีนใต้’ เดือด ฉุด ‘การค้าโลก’ ตกอยู่ในความเสี่ยง

ผู้เชี่ยวชาญเตือน เส้นทางขนส่งทางเรือบางแห่งที่พลุกพล่านที่สุดในโลกกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง เนื่องจากมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นในทะเลจีนใต้

ซีเอ็นบีซี รายงานว่า ช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมาเกิดเหตุปะทะกันอย่างรุนแรงมากขึ้นในทะเลจีนใต้ ทะเลชายขอบมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกที่เป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญสำหรับ 3 ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่างจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย และเป็นน่านน้ำที่มีการแข่งกันอ้างกรรมสิทธิ์หลายประเทศ 

จีนอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดทับซ้อนกับหลายประเทศ จึงก่อให้เกิดการปะทะกันอยู่หลายครั้งระหว่างจีน ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม กลายเป็นความกังวลว่า เหตุการณ์ปะทะกันอาจส่งผลกระทบต่อการค้าโลก

มาร์โก แพปิก หัวหน้านักยุทธศาสตร์ด้านภูมิรัฐศาสตร์มหภาคระดับโลกจากบีซีเอรีเสิร์ช กล่าวว่า  ตลาด และห่วงโซ่อุปทานโลกควรจับตาความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ เนื่องจากเส้นทางเดินเรือนี้มีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศ

“ทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางขนส่งที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ในแง่ของมูลค่าการค้าที่ผ่านเส้นทางนี้” แพปิก กล่าวกับซีเอ็นบีซี และย้ำว่า ความขัดแย้งในพื้นที่สร้างความเสี่ยงต่อการขนส่งของโลกอย่างเห็นได้ชัด เส้นทางเดินเรือในทะเลจีนใต้มีความสำคัญต่อสินค้าอุปโภคบริโภค และปัจจัยการผลิตที่ขนส่งผ่านเส้นทางนี้เพื่อเข้าไปจีน และสินค้าที่ผลิตจากจีนจะขนส่งผ่านเส้นทางดังกล่าวไปยังพื้นที่อื่นๆ ของโลก

ซีเอ็นบีซี ระบุว่า ความขัดแย้งในภูมิภาคนี้กลายเป็นที่สนใจของหลายรัฐบาลทั่วโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่มีสนธิสัญญาป้องกันประเทศร่วมกับฟิลิปปินส์ และแม้ซีเอ็นบีซีไม่สามารถติดตามข้อมูลมูลค่าการค้าที่ผ่านเส้นทางในทะเลจีนใต้ได้อย่างแม่นยำ แต่ CSIS China Power Project คาดว่า การค้ามูลค่า 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ ที่ผ่านทางทะเลจีนใต้ในปี 2559 คิดเป็น 21% ของการค้าโลก ขณะที่การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) คาดว่า การค้าทางทะเลขนส่งผ่านเอเชีย 60% ในปีเดียวกัน และคาดว่าทะเลจีนใต้รองรับการขนส่งทางทะเลราว 1 ใน 3 ของโลก

‘ทะเลจีนใต้’ กำลังเดือด

ทะเลจีนใต้ที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกนั้น อยู่ระหว่างจีน ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย และกัมพูชา และหลายประเทศก็อ้างสิทธิเหนือพื้นที่น่านน้ำแห่งนี้ แต่จีนอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด ภายใต้ “เส้นประ 9 เส้น” ของจีน ที่ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ตัดสินให้การอ้างสิทธิดังกล่าวเป็นโมฆะ เพราะไม่พบกฎหมายหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใดๆ ที่รองรับการอ้างสิทธิของรัฐบาลปักกิ่ง

ประเด็นนี้จึงทำให้เกิดความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นระหว่างจีนกับเพื่อนบ้านอีกหลายประเทศที่เชื่อว่า หน่วยยามฝั่งของจีนรุกล้ำเข้าไปยังเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตน

ช่วงต้นเดือนต.ค. ที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์ กล่าวหาว่าเรือขีปนาวุธของจีนไล่ตามเรือฟิลิปปินส์ และยิงเลเซอร์ไปที่เครื่องบินลาดตระเวนโดยตรงใกล้กับพื้นที่ข้อพิพาท “สันดอนฮาล์ฟมูน”

ทางการฟิลิปปินส์เผยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นหลังจากก่อนหน้านี้มีการปะทะกันอยู่หลายครั้ง ซึ่งมีทั้งเหตุการณ์ที่เรือชนกัน การฉีดน้ำใส่เรือ และลูกเรือฟิลิปปินส์ได้รับบาดเจ็บ

เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ได้ยกประเด็นดังกล่าวกดดันในที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อวันพฤหัสบดี (10 ต.ค.67) ที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้มีการเร่งเจรจาหลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้ และกล่าวโทษรัฐบาลปักกิ่งว่าทำการคุกคาม และข่มขู่

ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศของเวียดนามออกมาประณามการกระทำของจีนในทะเลจีนใต้เมื่อไม่นานมานี้ โดยกล่าวหาว่าเรือจีนโจมตีเรือประมงของเวียดนามอย่างรุนแรง

ริชาร์ด เฮย์ดาเรียน ที่ปรึกษาด้านนโยบาย และอาจารย์อาวุโสสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ กล่าวว่า 

“สองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นความตึงเครียดที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นแค่ระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์เท่านั้น แต่รวมถึงเวียดนามด้วย อีกไม่นานชาติอาเซียนจะออกมาพูดมากขึ้นเรื่อยๆ และอีกไม่นานเราจะได้เห็นการปะทะที่น่ากังวลมากขึ้น”

หลายฝ่ายเลี่ยงทวีความรุนแรง

แม้ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ในทะเลจีนใต้กำลังเพิ่มขึ้น แต่พวกเขาบอกด้วยว่า ยังมีเหตุผลอีกหลายประการที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหลีกเลี่ยงไม่ให้ความขัดแย้งมีมากขึ้น

ในการยืนยันการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ข้อพิพาท จีนใช้ยุทธศาสตร์ ที่นักวิชาการเรียกว่า ยุทธศาสตร์ “แดนสีเทา” ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นการใช้กำลังบังคับ แม้ไม่ถึงขั้นเป็นความขัดแย้งทางอาวุธ แต่เป็นกิจกรรมทางการทูตที่เกินกว่าขอบเขตปกติ

“ยุทธศาสตร์แดนสีเทา เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความมุ่งมั่นของจีนที่ต้องการรุกคืบผ่านทะเลจีนใต้ที่ละน้อย ๆ ไม่ใช่การถาโถมทีเดียว” เฮย์ดาเรียน กล่าว

ขณะเดียวกันประเทศที่ปะทะกันได้ประโยชน์ร่วมจากการขนส่งผ่านทะเลจีนใต้ หลายประเทศจึงพยายามเลี่ยงไม่ให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากขึ้น

อับดุล ยาคอบ นักวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากสถาบันโลวี บอกว่า หากจีนเริ่มดำเนินกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการเดินเรือ เช่น การประกาศจำกัดการเดินเรือของพลเรือนในหลายพื้นที่ของทะเลจีนใต้ อาจทำให้สหรัฐเข้ามามีส่วนร่วมในภูมิภาคมากขึ้น

“แต่ขณะนี้ทุกฝ่าย รวมถึงจีน ไม่ต้องการให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นจนนำไปสู่ความขัดแย้งทางทหารอย่างเต็มรูปแบบ” ยาคอบ ย้ำ

 

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

เนทันยาฮูลั่นเดินหน้าถล่มฮิซบอลเลาะห์‘ไร้ความปรานี’ l World in Brief

เนทันยาฮูลั่นเดินหน้าถล่มฮิซบอลเลาะห์‘ไร้ความปรานี’ นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอล ลั่นวา...

ความขัดแย้ง ‘ทะเลจีนใต้’ เดือด ฉุด ‘การค้าโลก’ ตกอยู่ในความเสี่ยง

ผู้เชี่ยวชาญเตือน เส้นทางขนส่งทางเรือบางแห่งที่พลุกพล่านที่สุดในโลกกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง เนื่องจาก...

จีน 'รีดภาษี' เศรษฐีเพิ่ม เน้นพวกลงทุนต่างประเทศ ลุยหาเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า “จีน” เริ่มเข้มงวดกับการเก็บภาษีคนรวยมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐีที่ลงทุ...

ไขปริศนาผลกระทบจากอาณานิคมยุโรปกับความมั่งคั่งชาติ กับนักเศรษฐศาสตร์โนเบล

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (15 ต.ค.) ว่า ผลกระทบระยะยาวของอาณาจักรเก่าในยุโรปต่อการเติบโตทางเศ...