'ทิเบต' แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ พาสัมผัสธรรมชาติบริสุทธิ์

ทิเบต (Tibet) หรือเขตปกครองตนเองซีจ้าง (Xizang) ในประเทศจีน ที่ใครหลายคนรู้จักกันดีว่าเป็น “ดินแดนหลังคาโลก” ด้วยพื้นที่เป็นที่ราบสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยกว่า 4,000 เมตร และรายล้อมไปด้วยภูเขาสูง หากท้องฟ้าปลอดโปร่ง จะสามารถเห็นองค์ประกอบธรรมชาติสามส่วนที่มาบรรจบกัน ได้แก่ ท้องฟ้าสีครามเหนือภูเขาสูงใหญ่สีน้ำตาล รองรับด้านล่างด้วยแม่น้ำสีเขียวมรกตที่เป็นต้นสายของแม่น้ำหลายสายทั่วโลก

กรุงเทพธุรกิจมีโอกาสเข้าร่วม “สัมมนาซีจ้าง” ของกระทรวงการต่างประเทศจีน ซึ่งเป็นสัมมนาที่พาผู้สื่อข่าวและนักวิชาการนานาชาติเยี่ยมชมสถานที่สำคัญและเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรมในท้องถิ่น ทั้งในเมืองหลินจือและเมืองเอกของทิเบตอย่าง “ลาซา” ระหว่างวันที่ 23 - 28 ก.ย. ที่ผ่านมา

ทริปนี้เจ้าหน้าที่พาทัวร์ในเมืองหลินจือก่อน เพราะเมืองนี้อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลราว 2,000 -3,000 เมตร ทำให้ร่างกายสามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่ราบสูงที่มีออกซิเจนเบาบางได้เบื้องต้น ก่อนไปเมืองลาซา ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 3,000 เมตร

หลินจือพร้อมรับมือนักท่องเที่ยว

ระหว่างเดินทางในตัวเมืองหลินจือ เราจะสามารถพบเห็นจามรีหรือวัวได้ตามถนนหรือทุ่งหญ้าข้างทาง ซึ่งเป็นเรื่องปกติเพราะจามรีและวัวเป็นสัตว์ท้องถิ่นของทิเบต ผู้คนมักเลี้ยงไว้เพื่อเอาผลิตภัณฑ์นม ชีส และเพื่อบริโภคเนื้อ หรือแม้แต่กระดูกก็สามารถนำไปบดและปั้นเป็นจานชามคล้ายเซรามิกได้ เพื่อลดขยะจากการบริโภคเนื้อสัตว์ส่วนทิวทัศน์ในตัวเมืองยังคงสามารถเห็นภูเขาและแม่น้ำเกือบทุกเส้นทาง

นอกจากนี้ ยังพบอาคารหลายแห่งในเมืองที่กำลังก่อสร้างและก่อสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่มีคนเข้าไปอยู่ เมื่อถามไกด์และเจ้าหน้าที่พบว่าอาคารเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นโรงแรม และที่อยู่อาศัย สร้างขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่กำลังเข้ามามากขึ้น และรองรับผู้คนที่อาจย้ายเข้ามาอาศัยในอนาคต

ปัจจุบัน ซีจ้างหรือทิเบต เขตปกครองตนเองที่มีประชากรอยู่ราว 3.6 ล้านคน ยังคงมีรายได้หลักมาจากภาคการเกษตร ทว่าภาคการท่องเที่ยวก็เป็นแหล่งรายได้สำคัญที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แวะเลี้ยวหมู่บ้านซิก้าดูชีวิตท้องถิ่น

หมู่บ้านซิก้า (Xiga Village)เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เปิดให้ผู้คนสามารถเข้าเยี่ยมชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นได้ หมู่บ้านแห่งนี้ก่อตั้งเมื่อปี 2546 มาจากการย้ายถิ่นฐานและการรวมหมู่บ้านหลายแห่งเข้าด้วยกัน ปัจจุบันมีครัวเรือนราว 80 หลัง และมีสมาชิกในชุมชนราว 300 คน

หมู่บ้านซิก้าขึ้นชื่อในด้านการผลิตกระดาษทิเบตแบบดั้งเดิม ปัจจุบันคนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ปลูกข้าวบาร์เลย์และผลไม้ชนิดต่างๆ และส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตร เช่น ผลไม้อบแห้ง ไปยังเมืองต่างๆ ในจีน

คณะได้เยี่ยมชมบ้านหลังหนึ่งในชุมชน เป็นบ้านสองหลังในที่ดิน 1 แปลง หลังหนึ่งมีชั้นเดียวเป็นห้องนั่งเล่น อีกหลังเป็นบ้าน 2 ชั้น มีห้องนั่งเล่น ห้องนอน และห้องน้ำตกแต่งสไตล์พื้นเมือง หากเทียบดูแล้วเหมือนกับการตกแต่งภายในวัดทิเบต บ่งบอกได้ว่าครอบครัวนี้นับถือศาสนาพุทธและศรัทธาในศาสนามาก เพราะมีห้องพระเดี่ยวอีกห้องหนึ่งด้วย

สำหรับงบสร้างบ้าน เจ้าของบ้านเผยว่ารัฐบาลออกงบให้ประมาณ 80-90%

พิพิธภัณฑ์เน้นบอกเล่าประวัติศาสตร์

ต้องยอมรับว่าประเทศจีนเอาใจใส่เกี่ยวกับการสร้างพิพิธภัณฑ์มาก และพิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมซีจ้างตะวันออกเฉียงใต้ ก็เป็นอีกสถานที่ที่นำเสนอประวัติศาสตร์ทิเบตได้เป็นอย่างดี ทำให้คณะทัวร์ได้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในยุคพระเจ้าซองเซนกัมโป กษัตริย์แห่งทิเบตที่อภิเษกกับเจ้าหญิงเหวินเฉิงพระราชนัดดาในองค์พระจักรพรรดิ์ถังไท่จง

นอกจากนี้ยังได้รู้จักกับอุปกรณ์เครื่องใช้ของชนพื้นเมืองท้องถิ่นในยุคต่าง ๆ รวมถึงเครื่องแต่งกายชนพื้นเมืองทิเบตและเมื่อสังเกตดูพบว่าเครื่องแต่งกายของชนพื้นเมืองมีความละม้ายคล้ายกับชุดชนเผ่าทางภาคเหนือของประเทศไทย ต่างตรงที่มีความหนามากกว่าเพราะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่หนาวเย็นกว่า

สนุกด้วยกันที่สวนน้ำพุ

หากใครเคยไปเที่ยวจีน ไม่ว่าจะเมืองใดก็ตาม มักจะได้เห็นสวนน้ำพุที่เปิดแสดงในยามค่ำคืน พร้อมสาดแสงสีเสียงประกอบ เพียงเท่านั้นก็กลายเปนโชว์น้ำพุที่ไม่ธรรมดาแม้อยู่ในเมืองธรรมดา เช่นเดียวกับ“กงปูพาร์ค” สวนน้ำพุใจกลางเมืองหลินจือ พร้อมสวนสาธารณะให้ผู้คนในเมืองได้เดินเล่นและพักผ่อนตามอัธยาศัย

สวนนี้มีเอกลักษณ์แตกต่างจากเมืองอื่นคือ มีการฉายภาพน้ำตกไปบนภูเขาที่อยู่ข้างๆสวนด้วยขณะที่รอบนอกของสวนแห่งนี้เต็มไปด้วยร้านค้าและร้านอาหาร เรียกได้ว่า “กินอิ่มช้อปเสร็จ”สามารถเดินเล่นต่อเพลินๆในสวนแห่งนี้ได้เลย

แวะดูอุทยานแห่งชาติ

สถานที่ท่องเที่ยวที่เรียกได้ว่าเป็นแลนด์มาร์กอีกแห่งของเมืองหลินจือคือ อุทยานแห่งชาติพื้นที่ชุ่มน้ำยานี (Yani National Wetland Park) ที่ล้อมไปด้วยภูเขาและแม่น้ำสีเขียวมรกต เมื่อได้เข้าไปดูใกล้ๆและสัมผัสน้ำในแม่น้ำตามจุดที่อุทยานจัดไว้ พบว่าน้ำที่นี่ใสและเย็นมากเหมือนจุ่มมือลงไปในน้ำแข็ง ส่วนสีเขียวที่เห็นคาดว่าเป็นสีจากสาหร่ายที่อยู่ในน้ำ

อุทยานแห่งชาติยานีมีพืชพรรณกว่า 500 ชนิด มีสัตว์อาศัยอยู่กว่า 30 ชนิด และเป็นสัตว์ที่ต้องอนุรักษ์ 6 ชนิด แต่พื้นที่นี้ไม่ใช่ป่าล้วน เพราะมีชุมชนอาศัยอยู่หลายกลุ่ม ประชาชนทุกคนมีที่ดินทำกิน แต่สามารถใช้พื้นที่ได้ตามที่รัฐบาลกำหนดเท่านั้น เนื่องจากเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ

เจ้าหน้าที่อุทยานเผยว่า รัฐบาลได้จีนสนับสนุนลงทุนกว่า 150 ล้านหยวน เพื่อช่วยฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่เช่น การปลูกพืชท้องถิ่น การให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแก่คนทั่วไป การสร้างสถาบันวิจัยพืช สัตว์ อากาศและดิน และยังได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกกว่า 2,400 ล้านหยวน นอกจากนี้ อุทยานยังได้จัดทัวร์ท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วย

เพียงแค่ท่องเที่ยวในเมืองหลินจือก็ทำให้ได้รู้ว่า ทิเบตมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีกมากมาย และมีธรรมชาติแสนสวยงามที่ทุกคนต้องไปสัมผัสสักครั้งหนึ่งในชีวิต และในฉบับต่อไปห้ามพลาดเรื่องราวใน “เมืองลาซา” เมืองแห่งศรัทธาและซอฟต์พาวเวอร์ “ภาพทังก้า”

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

'ทิเบต' แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ พาสัมผัสธรรมชาติบริสุทธิ์

ทิเบต (Tibet) หรือเขตปกครองตนเองซีจ้าง (Xizang) ในประเทศจีน ที่ใครหลายคนรู้จักกันดีว่าเป็น “ดินแดนหล...

ปัญญาประดิษฐ์ AI กับสิ่งที่คนไทยต้องรับมือ

Siri เวอร์ชั่นใหม่ช่วยเราตอบข้อความหรืออีเมล รวมทั้งสรุปย่อยอะไรที่ยาวๆ ไปถึงขนาดแนะนำระดับความสุภาพ...

อสังหาฯวิกฤติหนักรอบทศวรรษ‘รีเจกต์เรต-ดอกเบี้ย-น้ำท่วม’ทุบตลาดติดลบ 20%

ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยไตรมาส 4 ปี 2567 ยังคงเผชิ...

เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งกว่าคาด

ในบทความเมื่อเดือนที่ผ่านมา ผมได้ชี้ให้เห็นว่าตลาดแรงงานของสหรัฐไม่ได้อ่อนแออย่างที่หลายฝ่ายกังวล แล...