11 นิคมฯ ใหม่เปิดพื้นที่ 8.9 พันไร่ รับ ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ กดดันย้ายฐาน

จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ขยายวงกว้าง ผู้ประกอบการในประเทศจีนมีการย้ายฐานเข้ามาประกอบการตั้งโรงงานในไทยมากขึ้น ปัจจัยหลักมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ดังนั้น ประเทศกลุ่มอาเซียนถือเป็นเป้าหมายสำคัญ ซึ่งไทยมีความพร้อมที่จะรองรับการลงทุนจากมาตรการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ.กล่าว ตั้งเต่ ม.ค. 2567 จนถึงปัจจุบัน มีนิคมฯ ที่ขอจัดตั้งรวมจำนวน 11 นิคมฯ รวมพื้นที่ประมาณ 8,943 ไร่ ประกอบด้วย

1. ดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 ขยายโรงงานจำนวน 40 ไร่

2. ดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ขยายโรงงาน จำนวนพื้นที่ 75 ไร่

3. แอลพีพี นครสวรรค์ จัดตั้งใหม่ จำนวนพื้นที่ 673 ไร่

4. เวิลด์ ลําพูน ขยายพื้นที่ จำนวนพื้นที่ 29 ไร่

5. เวิลด์ (ลําพูน) 2 จัดตั้งใหม่ จำนวนพื้นที่621 ไร่

6. เฮอร์มีส จัดตั้งใหม่ จำนวนพื้นที่ 1,231 ไร่

7. ดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 5 จัดตั้งใหม่ 3,393 ไร่

8. ดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 2.1 จัดตั้งใหม่ จำนวนพื้นที่ 595 ไร่

9. ดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3.1 จัดตั้งใหม่ จำนวนพื้นที่ 629 ไร่

10. อมตะซิตี้ ชลบุรี ขยายพื้นที่ จำนวนพื้นที่ 593 ไร่ และ

11. ปิ่นทอง (โครงการ 7) จัดตั้งใหม่ จำนวนพื้นที่ 1,059 ไร่

นอกจากนี้ อยู่ระหว่างรอเสนอคณะกรรมการ กนอ.ขณะนี้ 3 แห่ง ประกอบด้วย 

1.โครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 8) (จัดตั้งใหม่) พื้นที่ประมาณ 1,101ไร่ 

2.โครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 3) จ.ชลบุรี (ส่วนขยาย) พื้นที่ประมาณ 697ไร่ และ

3. โครงการนิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ 2 (จัดตั้งใหม่) พื้นที่ประมาณ 1,302ไร่ 

ดังนั้น เมื่อรวมพื้นที่โครงการที่อนุมัติไปแล้วและเตรียมอนุมัติในปี 2567 รวม 14 โครงการ จะมีพื้นที่รองรับการลงทุนรวม 12,000 ไร่ และคาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนโรงงานประมาณ 480,000 ล้านบาท

สำหรับโครงการที่อนุมัติล่าสุดและมีการลงนามเมื่อวันที่ 9 ต.ค.2567 ระหว่างผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินการและ กนอ.คือ โครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 7) ต.เขาคันทรง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พื้นที่ 1,059 ไร่ โดย คณะกรรมการ กนอ.เห็นชอบเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2567 

ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 7 เป็นโครงการที่ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตอุตสาหกรรมบนฐานของเทคโนโลยีสมัยใหม่ และนวัตกรรม โดยรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, โลจิสติกส์, อุตสาหกรรมสะอาด 

รวมถึงอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)

นายสุเมธ กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 7 จะรองรับการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยคาดว่าจะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนและสนับสนุนนโยบาย EEC

ฟุ้งนักธุรกิจจีนแห่ลงทุนไทยใน 3-4 ปี

นายสุจินต์ เรียนวิริยะกิจ กรรมการฝ่ายบริหาร บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ร่วมดำเนินงานกับ กนอ.แล้ว 6 โครงการ โดยเมื่อรวมททั้ง 7 โครงการ จะมีพื้นที่ 86,000 ไร่ ซึ่งจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค 2,205 ล้านบาท และจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุน 42,360 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 10,560 คน

นายสุรัช พัฒนวงศ์ยืนยง กรรมการบริหาร ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทำให้เกิดการย้ายฐานการลงทุนมากลุ่มอาเซียนมากขึ้น โดยช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ จีน ไต้หวันและเกาหลี ต่างเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทองมากแบบก้าวกระโดด เพราะจุดเด่นความเป็นไทยเชื้อสายจีนที่สร้างความรู้สึกว่าอยู่เมืองไทยแล้วปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินระยะยาว

“แม้บางประเทศให้เงื่อนไขดีกว่าทั้งราคาพลังงาน และค่าแรง แต่ในทางการเมืองไทยเป็นกลางไม่เข้าข้างใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเป็นมิตรกับทุกประเทศจึงฝากชีวิตกับคนไทยได้ ตรงนี้เป็นคำพูดของคู่ค้าที่มีการหารือกัน” นายสุรัช กล่าว

นายสุรัช กล่าวว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้เทียบเวียดนามเรื่องสิทธิประโยชน์อาจเทียบไม่ได้ แต่สิทธิในการถือครองที่ดินในไทย 100% ซื้อขายได้เสรีกว่า เพราะมีกฎหมาย กนอ.ต่างจากเวียดนาม ไต้หวันและจีน เมื่อครบกำหนดต้องคืนให้รัฐบาล

“ญี่ปุ่น”ชะลอเงินทุนสัดส่วนลดเหลือ70%

ทั้งนี้ ตลอดเกือบ 30 ปี ที่เริ่มต้นตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะมีการลงทุนเป็นญี่ปุ่นสัดส่วน 70% และปัจจุบันจีนลงทุนมากขึ้นเป็นสัดส่วน 21% ซึ่งการลงทุนจากญี่ปุ่นยังมีแต่ไม่ลงทุนเพิ่มโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์เชื้อเพลิง ชิ้นส่วนอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและครัวเรือน เริ่มเป็นจีนที่มาเป็นกลุ่มใหญ่ แต่ไม่ได้แย่งตลาดกันเพราะนักลงทุนจีนส่วนใหญ่ส่งสินค้าไปยุโรปและอเมริกาเป็นหลัก

“ตอนนี้มีพื้นที่เหลือพัฒนา 15% ราว 500 ไร่ ส่วนที่พัฒนาและขายไปแล้วที่ 85% แต่ละแปลงมีนักลงทุนรอทำสัญญาราว 4-5 ราย ซึ่งปิ่นทอง 7 อยู่ระหว่างขั้นตอนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะเริ่มพัฒนาและเปิดขายได้กลางปี 2568 ซึ่งตอนนี้จากการหารือปากเปล่ามีนักลงทุนสนใจซื้อที่ดินราว 70% ราว 700 ไร่” นายสุรัช กล่าว

ไล่ซื้อที่ดินเตรียมขยายนิคมฯ เพิ่ม

นอกจากนี้ บริษัทฯ มี backlog 3,000 ไร่ และจะขอจัดตั้งเพิ่ม คือ โครงการปิ่นทอง 8, 9 และ 10 และเดินหน้าซื้อพื้นที่เพิ่มเพื่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม โดยพื้นที่เฉลี่ยโครงการละ 1,500 ไร่ เงินลงทุนด้านสาธารณูปโภคเบื้องต้นแห่งละ 2,500 ล้านบาท ซึ่งมีพื้นที่หลักเน้น จ.ชลบุรี ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง

นายสุรัช กล่าวว่า โครงการใหม่ต่อจากนี้จะรองรับอุตสาหกรรมใหม่ที่นอกจากจะเป็นกลุ่มผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้ว ยังมีชิป และกลุ่ม Data Center ด้วย โดยราคาที่ดินปีนี้ขึ้นมาเฉลี่ย 30% จากราคาไร่ละ 5 ล้านบาท มาที่ราวไร่ละ 8 ล้านบาท ซึ่งราคาที่ปรับขึ้นอยู่ที่ตลาดเศรษฐกิจเพราะต้นทุนขึ้น ทุกนิคมอุตสาหกรรมประสบปัญหาเดียวกันคือพื้นที่ไม่พอขาย

สำหรับการพัฒนาพลังงานสะอาดจะลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 5 รวม 120 เมกะวัตต์ โดยร่วมกับพันธมิตร คาดจะดำเนินการเสร็จภายใน 3 ปีนี้ เพื่อรองรับการใช้ไฟของลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงเตรียมแผนติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ

“ข้อเสียหลักจะเป็นขั้นตอนการเปิดพื้นที่ที่ล่าช้า อยากให้ภาครัฐช่วยเร่งเวลาเพราะการตั้งนิคมฯ แต่ละครั้ง ต้องติดต่อหลายหน่วยงานใช้เวลา 2 ปี หากเหลือ 1 ปีจะดี ดังนั้น ขั้นตอนควรกระชับเป็น One Stop Service” นายสุรัช กล่าว

นายสุรัช กล่าวว่า มั่นใจรายได้สิ้นปีเพิ่มขึ้น 15% ปัจจุบันยอดขายเกินเป้าแล้วกว่า 750 ไร่ จึงคาดว่าสิ้นปีนี้จะปิดยอดขายที่ 850 ไร่ ดังนั้น คาดว่ากลางปี 2567 เปิดขายพื้นที่ปิ่นทอง 7 จะขายหมดภายใน 1 ปี และเตรียมเปิดขายปิ่นทอง 8 ต่อทันที ซึ่งอยู่ระหว่างขอจัดตั้งกับ กนอ. 

ส่วนนโยบายนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการให้ทุกนิคมฯ มีพื้นที่ให้ SME เพื่อ Supply ชิ้นส่วนในประเทศไทยด้วยนั้น บริษัทฯ ได้เตรียมพื้นที่ขนาด 15-20 ไร่รองรับเรียบร้อยแล้ว จากปกติสัดส่วนโรงงานขนาดใหญ่ที่ขอซื้อเฉลี่ยที่ 100-300 ไร่ต่อโรงงาน

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

'ทิเบต' แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ พาสัมผัสธรรมชาติบริสุทธิ์

ทิเบต (Tibet) หรือเขตปกครองตนเองซีจ้าง (Xizang) ในประเทศจีน ที่ใครหลายคนรู้จักกันดีว่าเป็น “ดินแดนหล...

สุลต่าน CEO ฉลอง 50 ปี มาเลย์-จีน | กันต์ เอี่ยมอินทรา

เมื่อปลายเดือนก่อนมาเลเซีย และจีนฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 50 ปี สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งก็ประจ...

ปัญญาประดิษฐ์ AI กับสิ่งที่คนไทยต้องรับมือ

Siri เวอร์ชั่นใหม่ช่วยเราตอบข้อความหรืออีเมล รวมทั้งสรุปย่อยอะไรที่ยาวๆ ไปถึงขนาดแนะนำระดับความสุภาพ...

อสังหาฯวิกฤติหนักรอบทศวรรษ‘รีเจกต์เรต-ดอกเบี้ย-น้ำท่วม’ทุบตลาดติดลบ 20%

ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยไตรมาส 4 ปี 2567 ยังคงเผชิ...