'กิตติ์รัฐ' ผบ.ตร.คนที่ 15 มือปราบ กู้วิกฤติ ฟื้นศรัทธา

มีเหตุการณ์สำคัญที่เป็นบททดสอบครั้งใหญ่ ก่อนนั่งตำแหน่ง ผบ.ตร. ของ “พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์” ภายหลังนั่งเป็นรักษาการ ผบ.ตร. ตามหนังสือคำสั่งของ นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ได้เพียงสัปดาห์ เกิดเหตุสะเทือนขวัญคนไทยทั้งประเทศ กรณี รถทัวร์ทัศนศึกษาไฟไหม้ มีนักเรียนและครูเสียชีวิต รวม 23 คน เมื่อวันที่ 1 ต.ค.

“พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ” ลงพื้นที่เพื่อสังเกตการณ์อย่างทันท่วงที และในวันต่อมาได้ตั้งโต๊ะแถลงเหตุการณ์ พร้อมหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อให้ประชาชนทราบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ อย่างถูกต้อง จากหน่วยงานผู้รับผิดชอบโดยตรง นับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและรวดเร็ว ในยุคที่มีการเสพข้อมูล ข่าวสารหลากหลายช่องทาง เพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อน ที่กระทบต่อความรู้สึกของผู้สูญเสีย

ในเวทีการแถลง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ยังได้เชิญผู้ร่วมแถลงและสื่อมวลชน ในห้องแถลง ร่วมกันยืนไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตทั้ง 23 คน เป็นเวลา 1 นาที

คล้อยหลังจากเหตุการณ์นี้เพียง 2 วัน ในช่วง นายกรัฐมนตรี อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจที่กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 3 (3rd Asia Cooperation Dialogue: ACD) ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ ระหว่างวันที่ 2-4 ตุลาคม

ช่วงค่ำวันที่ 3 ต.ค.เวลา 22.50 น. เกิดเหตุการณ์ คนร้ายจับเด็กเป็นตัวประกัน ในซอยอินทามระ 29 โดยมีการยิงปะทะกับตำรวจเป็นระยะ “พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ” ได้สั่งการกำกับดูแลให้ตำรวจคลี่คลายสถานการณ์คนร้ายจับตัวประกันในพื้นที่ซอยอินทามระ 29 ให้ได้ด้วยความเรียบร้อยปลอดภัย

วานนี้ ( 9 ต.ค. )ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) วาระพิเศษพิจารณาแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเอกฉันท์ 8 เสียง เลือก พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ เป็นผบ.ตร.คนที่ 15

โดยมีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำทันที ซึ่งเป็นนโยบาย “รัฐบาลแพทองธาร” ที่แถลงต่อรัฐสภา คือ แก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาด และครบวงจร เริ่มตั้งแต่การตัดต้นตอการผลิตและจำหน่าย ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน สกัดกั้น ควบคุมการลักลอบนำเข้าตัดเส้นทางการลำเลียงยาเสพติด การปราบปรามและการยึดทรัพย์ ผู้ค้าอย่างเด็ดขาด การค้นหาผู้เสพในชุมชนเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา บำบัด

เร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยการเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และรับมือกับอาชญากรรมออนไลน์ อย่างรวดเร็ว ช่วยเหลือเหยื่อของมิจฉาชีพอย่างทันท่วงที

ชีวิตรับราชการที่ผ่านมาของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ เรียกได้ว่า ครบเครื่องทั้งบุ๊นและบู๊ ตั้งแต่งานบริหาร เช่น การริเริ่มโครงการพัฒนาระบบรับแจ้งเอกสารหายออนไลน์ การจัดการปัญหาหนี้สินข้าราชการตำรวจ และการบริหารงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ช่วงสถานการณ์โควิด

ในขณะที่เป็น ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้ดูแลงานบริหาร ป้องกันปราบปราม และสืบสวนสอบสวน และ รองผู้อำนวยการศูนย์พิเศษ ตร. 5 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ศูนย์ปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง, ศูนย์บริหารงานป้องกันปราบปราม และศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และเป็นหัวหน้าคณะทำงานพัฒนาระบบแจ้งความออนไลน์ thaipoliceonline.com

เมื่อปี 2566 พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ได้เข้าบัญชาการ เหตุกราดยิงในศูนย์การค้าย่านปทุมวันทันทีหลังเกิดเหตุ ทำให้สามารถป้องกันความเสียหายและยับยั้งอันตรายที่จะเกิดขึ้นตามมาได้ โดยหลังจบเหตุการณ์ได้ถอดบทเรียนกรณีที่เกิดขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ศึกษาและเรียนรู้เพื่อป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าวต่อไป

พร้อมกันนี้ได้ลงพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนงานป้องกันปราบปรามของหน่วยงานในพื้นที่ เช่น การอบรมต้นแบบการฝึกยุทธวิธี (ภ.1) ต้นแบบศูนย์ 191 (ภ.7) ต้นแบบการป้องกันยาเสพติด (ภ.4) ต้นแบบการจัดทำข้อมูลบุคคลเฝ้าระวัง (ภ.9) ต้นแบบ SmartSafetyZone (ภ.6) และระบบงานสายตรวจและการตั้งด่านตรวจ (บช.น.)

สำหรับการดำเนินงานของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลด้านการป้องกันยาเสพติด อาทิ โครงการชุมชนบำบัด 100 ตำบล นำผู้เสพเข้าบำบัด 21,060 คน โครงการชุมชนบำบัดในพื้นที่แพร่ระบาด มีผู้เข้าบำบัด 28,288 คน โครงการลดความรุนแรงผู้ป่วยจิตเวช นำผู้ป่วยเข้าบำบัด 6,987 คน และติดตามผู้ป่วยรายเก่า 23,570 คน และโครงการตำรวจประสานโรงเรียน ดำเนินการใน 1,483 โรงเรียน

ทว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ยังมีเรื่องท้าทายคือ การกอบกู้วิกฤตศรัทธาองค์กรตำรวจจากประชาชน เพราะที่ผ่านมา ผบ.ตร. หลายต่อหลายคน พยายามทำมาตลอด แต่ก็ยังไม่ปรากฏผลโดยประจักษ์ต่อสายตา ตรงกันข้าม ในช่วงที่ผ่านมากลับมีตำรวจระดับนายพล ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาเสียเอง

อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ได้ระบุถึงหลักการทำงานอาชีพตำรวจว่า ใช้หลักธรรมาภิบาล หรือ GOOD GOVERNANCE ประกอบด้วย

1.หลักนิติธรรม (RULE OF LAW) ดำรงตนในยุติธรรม โดยคำนึงถึงหลักกฏหมาย กฏระเบียบ ข้อบังคับและการไม่เลือกปฏิบัติ

2.หลักคุณธรรม (MORALITY) ส่งเสริมให้ตำรวจยึดมั่นในการทำสิ่งที่ถูกต้อง และมีมาตรการปกป้องผู้ปฏิบัติจากการถูกกลั่นแกล้ง

3.หลักความโปร่งใส (TRANSPARENCY) ความโปร่งใส จะเป็นเกราะป้องกันการทำงานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประชาชนเชื่อมั่นศรัทธา

4.หลักการมีส่วนร่วม (PARTICIPATION) ตำรวจคือประชาชน ประชาชนคือตำรวจ ตำรวจต้องไม่โดดเดี่ยวตัวเอง

5.หลักความรับผิดชอบ (RESPONSIBILITY) เชื่อมั่น เชื่อใจ ผู้ปฏิบัติเมื่อได้ให้อำนาจและความรับผิดชอบไปแล้ว 6.หลักความคุ้มค่า (COST–EFFECTIVENESS) ทำคนน้อยให้เป็นคนมาก นำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารงาน

“พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ” นายร้อยตำรวจรุ่น 41 และนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 25 กับการนั่งเก้าอี้ ผบ.ตร. 2 ปีนับจากนี้ จะสนองตอบนโยบายรัฐบาล เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปทิศทางใด เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

3สมาคมอสังหาฟันธงปี67พ้นจุดต่ำสุดชงปลดล็อกLTVลดดอกเบี้ยหนุนปี68ฟื้นตัว

ท่ามกลางปัจจัยลบที่รุมเร้าภาคอสังหาฯเผชิญ"แรงกดดัน"ต้นทุนราคาบ้านแพงขึันสวนกำลังซื้อ และยอดกู้ไม่ผ่า...

ดาวโจนส์ร่วงเกือบ 400 จุด ตลาดกังวลวิกฤติตะวันออกกลาง-ทิศทางเฟด

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันจันทร์ที่ 7 ต.ค. เนื่องจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธ...

เซ็นทรัลผนึกกองทุนความมั่งคั่งแห่งซาอุฯ PIF ลงทุนในกลุ่มเซลฟริดเจส

เขย่าวงการสร้างปรากฎการณ์รีเทลระดับโลกอีกครั้งสำหรับทุนสัญชาติไทยรายใหญ่ กลุ่มเซ็นทรัล ประกาศจับมือ ...

ศักยภาพ‘อาเซียน’ ขับเคลื่อน ศก.โลก

มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระหว่างเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ทำให้อาเซียนได้เปรี...