“จุลพันธ์” ตอบกระทู้ “ศิริกัญญา” แจงเหตุปรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจ

“ศิริกัญญา” ตั้งกระทู้ถามสดปมกระตุ้นเศรษฐกิจ-ดิจิทัลวอลเล็ต ถาม แจ้งกะทันหัน เลื่อนไม่มีกำหนด ประชาชนจะได้เมื่อไหร่ รมช.คลัง รับ เปลี่ยนจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มาเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมแจงเหตุแจกเงินสดกะทันหัน ยัน กลุ่มที่เหลือจ่ายเป็นดิจิทัลวอลเล็ต

วันที่ 19 กันยายน 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ตั้งกระทู้ถามสดต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงกรณีการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มาเป็นผู้ตอบคำถามแทน โดย น.ส.ศิริกัญญา เริ่มต้นคำถามแรกว่า การปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจากแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล มาเป็นการแจกเงินสดผ่านพร้อมเพย์ หรือโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ แต่โครงการมีความเร่งรีบและสร้างความสับสนแก่ประชาชนอย่างมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันหนักแน่นว่าโครงการดิจิทัลจะไม่สะดุดแม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาล แต่พอเปลี่ยนรัฐบาลได้ไม่เท่าไหร่ก็สะดุดทันที

ต่อมามีหลายคนออกมาพูดว่าโครงการจะเปลี่ยนเป็นการแจกให้กลุ่มเปราะบางก่อน และจะแจกเป็นเงินสด แต่ก็ไม่มีใครแจ้งกลุ่มเปราะบางทั้งผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการเลยว่าจะแจกเงินสดนี้อย่างไร จนมาประกาศจริงๆ ก็คือในวันที่ 13 กันยายน 2567 ที่ระบุว่าให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ไม่ได้ผูกบัญชีกับพร้อมเพย์ 2 ล้านคน รีบไปผูกบัญชี จนนำไปสู่ปรากฏการณ์ที่ประชาชนแห่ไปธนาคาร เพราะรัฐบาลประกาศกระชั้นชิด ทำให้มีคำถามว่าอะไรคือสาเหตุที่ต้องรีบร้อนจ่ายให้ทันวันที่ 30 กันยายน 2567 ซึ่งรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังต่างยืนยันว่าไม่มีปัญหาเรื่องกฎหมาย แต่ต้องรีบแจกเพราะเศรษฐกิจไม่ดี ขณะเดียวกันก็บอกว่าเศรษฐกิจเริ่มดี ผงกหัวขึ้นแล้ว เลยไม่ต้องแจกเยอะ จนประชาชนเริ่มสงสัยว่าตกลงเศรษฐกิจเป็นอย่างไรแน่ ต้องดูดัชนีหรือเครื่องชี้ตัวไหนที่จะบอกว่าต้องกระตุ้นภายใน 30 กันยายน ทั้งๆ ที่ควรกระตุ้นตั้งแต่เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว แถมไปกระตุ้นให้ผลตกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นที่การบริโภคภายในประเทศดีอยู่แล้ว

...

ทั้งนี้ อยากทราบสาเหตุจริงๆ ว่าทำไมรัฐบาลต้องรีบร้อนจ่ายเงินภายในวันที่ 30 กันยายน จุดเปลี่ยนคืออะไร รู้ตัวตอนไหนว่าต้องแจกเงินสด ทำไมไม่รีบแจ้งประชาชนให้ผูกพร้อมเพย์ แม้ตนเข้าใจว่าต้องมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบก่อน แต่เมื่อมติ ครม. ออกมาล่าช้าแบบนี้ทำไมถึงไม่ขยายการลงทะเบียนและการแจกเงินให้เลยวันที่ 30 กันยายนเป็นต้นไป ถ้าไม่ใช่เพราะปัญหาข้อกฎหมาย เป็นเพราะรัฐบาลรู้ตัวมาก่อนตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2567 ใช่หรือไม่ เพราะในวันนั้นเอกสารที่เข้า ครม. สำนักงบประมาณตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ถ้าจะใช้งบประมาณเพิ่มเติมของปี 2567 การแจกเงินต้องแจกให้ทันภายใน 30 กันยายน 2567 และยังเสนอด้วยว่าให้แจกให้กับกลุ่มเปราะบางที่เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.98 ล้านคนก่อนเป็นโอกาสแรก ถ้าไม่ได้รีบร้อนต้องทำตามกฎหมาย ทำไมถึงไม่ใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง ที่อย่างน้อยสามารถระบุเงื่อนไขต่างๆ จำกัดประเภทสินค้า ร้านค้าขนาดเล็ก และพื้นที่ให้ตรงกับวัตถุประสงค์และแนวทางการทำงานอย่างที่รัฐบาลเคยแถลงข่าวไว้ครั้งแล้วครั้งเล่า จะกักเงินเอาให้หมุนเอาไว้หลายๆ รอบก่อนก็ยังได้ ถ้าไม่ใช่เหตุผลด้านข้อกฎหมายแล้ว ตกลงดัชนีเครื่องชี้ตัวไหนที่เพิ่งเปลี่ยนจนทำให้รอหลัง 30 กันยายนไม่ได้ ทำให้รัฐบาลเปลี่ยนใจจนทุกคนต้องเร่งร้อนไปเร่งรัดประชาชน ให้ต้องรีบไปธนาคารเพื่อผูกกับพร้อมเพย์โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าในเวลาที่มากเพียงพอ

นายจุลพันธ์ ชี้แจงว่า การแจ้งรายละเอียดโดยเฉพาะการผูกพร้อมเพย์เป็นไปโดยล่าช้า เพราะรัฐบาลต้องการให้เกิดความมั่นใจจากกระบวนการราชการก่อน ทั้งการเข้า ครม. และการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ทำให้ประกาศก่อนทำไม่ได้ เพราะยังไม่มีความชัดเจน ถ้าไม่ดำเนินตามขั้นตอนทางกฎหมายให้ครบถ้วน ส่วนเรื่องสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันดูดีขึ้นหลังการทำงานของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เริ่มมีสัญญาณบวกในหลายด้าน ทั้งการท่องเที่ยว การลงทุนจากต่างชาติ แม้ปัญหาปัจจุบันจะมีอยู่ ทั้งการที่ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ค่าเงินในขณะนี้ก็มีปัญหา แต่การรักษาโมเมนตัมทางเศรษฐกิจที่ต้องเดินหน้าไปก็เป็นปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลนำมาพิจารณา

“จึงมีการตัดสินใจร่วมกันให้ปรับเปลี่ยนจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมาเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฟสแรกจะกระตุ้นโดยไม่ได้ใช้วอลเล็ต แต่ในเฟสถัดไปรัฐบาลก็ยังยืนยันว่าสำหรับกลุ่มที่เหลือจะมีการเดินหน้าในการทำดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อประเทศจะได้วางรากฐานด้านดิจิทัลต่อไป”

สำหรับประเด็นการเร่งรีบให้ทันวันที่ 30 กันยายนนั้นเป็นเรื่องข้อกฎหมายหรือไม่ แม้ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงบประมาณ จะยืนยันว่าสามารถดำเนินการได้โดยผูกพันข้ามปี และรัฐบาลก็มีความเชื่อมั่นว่าสามารถดำเนินการได้ แต่รัฐบาลก็ไม่อยากให้มีปัญหาเกิดขึ้นจากการร้อง รัฐบาลพยายามจำกัดในเรื่องของความเสี่ยงต่างๆ เพราะถ้ามีการร้องเรียนขึ้นมาไม่ใช่แค่ความเสี่ยงของรัฐบาลเท่านั้น แต่จะกระทบความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งหมดจากความไม่มีเสถียรภาพที่จะทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการใช้สอยและลงทุน

น.ส.ศิริกัญญา ถามกระทู้ในรอบที่ 2 ว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นก็จริง แต่การไม่สามารถรักษาคำพูดก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนลดลง เช่น ประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟนแต่ไม่ใช่กลุ่มเปราะบางที่ถูกหลอกให้ไปลงทะเบียนเก้อ ที่เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลยังย้ำกำหนดการเดิมว่าผู้ไม่มีสมาร์ทโฟนให้ลงทะเบียนระหว่าง 16 กันยายน - 16 ตุลาคม 2567 แต่สัปดาห์ต่อมามีการเลื่อนการลงทะเบียนของผู้ไม่มีสมาร์ทโฟนออกไปอย่างไม่มีกำหนด กว่าจะเป็นข่าวก็วันที่ 14 กันยายน ทำให้ประชาชนไม่ทราบข่าวการเลื่อน โดยที่ปัจจุบันก็ยังไม่มีความชัดเจนแน่นอน ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่าเป็นเพราะต้องการให้ไม่มีการทับซ้อนกันระหว่างการลงทะเบียนของผู้ไม่มีสมาร์ทโฟนกับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ตนขอถามว่าลงทะเบียนซ้อนแล้วจะเป็นอะไร เพราะฐานข้อมูลรัฐบาลสามารถจำแนกได้อยู่แล้วว่าใครซ้ำซ้อนหรือไม่ การลงทะเบียนยืนยันสิทธิของตัวเองสำหรับประชาชนคือความเชื่อมั่น แต่ก็ยังไม่ได้มีการประกาศว่าจะให้ประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนลงทะเบียนได้อีกครั้งเมื่อไหร่

ทั้งนี้ ยังไม่นับร้านค้าที่รอลงทะเบียนวันที่ 25 กันยายน 2567 ว่าจะมีการเลื่อนอีกหรือไม่ เพราะร้านค้าต้องเตรียมตัวอย่างมากตามเงื่อนไข ทั้งการซื้อซิมรายเดือนมาเปิดบัญชี การเข้าระบบภาษีต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สรุปจะมีการเลื่อนหรือไม่ อย่างไร คำถามคือตกลงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตดั้งเดิมจะแจกเมื่อไหร่ กี่คน กี่ครั้ง และกี่บาท จะเป็นการเลื่อนแบบไม่มีกำหนดหรือไม่ การลงทะเบียนต่างๆ จะเลื่อนไปถึงเมื่อไหร่ หรือถ้าต้องดูสถานการณ์ตัวชี้วัดต่างๆ ก็ช่วยระบุให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นประชาชนที่รอคอยก็จะต้องเกิดความหวังลมๆ แล้งๆ ว่าจะได้เงิน 10,000 บาท ทำให้การอุปโภคบริโภคไม่คล่องตัวหรือทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นที่จะออกไปใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้ง จำนวนเงินที่มีอยู่ตอนนี้เพียงพอที่ราว 34 ล้านคนเท่านั้น และอยากถามว่าแหล่งที่มาของเงินจะมาจากไหนกันแน่ เพราะตอนนี้รัฐมนตรีหลายท่านก็ออกมาพูดแล้วว่าจะไม่ใช้งบกลางเงินสำรองใช้จ่ายฉุกเฉินจำเป็น

นายจุลพันธ์ ตอบประเด็นนี้ว่า ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 36 ล้านคน ยังไม่ได้คัดกรองเพราะมีกระบวนการอีก 1-2 อย่าง ส่วนในกลุ่มผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน ปลัดกระทรวงการคลังเคยให้ตัวเลขไว้นานแล้วกะว่าไม่เกิน 4 ล้านราย ซึ่งหากพิจารณาโดยหลักพื้นฐานโดยมากก็คือคนในกลุ่มเปราะบาง เมื่อแจกกลุ่มเปราะบางไปแล้ว แนวโน้มคือ 4 ล้านคนจะเหลือไม่มากอย่างมีนัยสำคัญ ก็จะลดภาระประชาชนในกลุ่มที่ต้องเดินทางมาลงทะเบียนไปอีกส่วนหนึ่ง และสิ่งที่ต้องดำเนินการคือหลังตรวจสอบสิทธิจาก 36 ล้านราย อาจจะเหลือ 34-35 ล้านราย เมื่อปิดยอดหักจากรายชื่อที่ได้รับเงินจากกลุ่มเปราะบางก็จะได้ตัวเลขสุดท้าย จะสามารถบริหารจัดการด้วยงบประมาณที่มีอยู่ได้ หากขาดเหลือไม่มากก็เติมให้ครบได้ในครั้งเดียวหากเป็นประโยชน์กับการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือถ้าเกิดมีจำนวนมากก็ยังมีแนวทางในการแบ่งยอด แม้ประชาชนบางส่วนอาจไม่พอใจ แต่ก็ต้องมองถึงประโยชน์ที่เกิดกับประเทศเป็นหลัก

การถามรอบสุดท้าย น.ส.ศิริกัญญา ถามว่า ด้วยปัญหาหัวใจของระบบการชำระเงินที่ยังมีความไม่แน่นอน รัฐบาลยังยืนยันไทม์ไลน์เดิมในการสร้างระบบการชำระเงินว่าจะเสร็จภายในปีนี้หรือไม่ ถ้าเสร็จแล้วจะแจกเป็นดิจิทัลวอลเล็ตอยู่หรือไม่ และสุดท้ายอยากให้รัฐบาลวาดภาพให้เห็นว่าระบบการชำระเงินนี้จะทำให้ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเกิดขึ้นได้อย่างไร สรุปแล้วกระเป๋าเงินดิจิทัลจะถูกใช้กันอย่างแพร่หลายต่อจากนี้ไปหลังหมดโครงการนี้ในโอกาสใดบ้าง และจะนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลแบบใด

ทางด้าน นายจุลพันธ์ ระบุว่า ผู้ดูแลระบบชำระเงินปัจจุบันคือสำนักงานรัฐบาลดิจิทัล (DGA) ที่ผ่านมาเคยมีการพูดกันในสังคมว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมีการล็อก แต่พอกระบวนการออกมาจริงไม่มีการคัดเลือกล่วงหน้า โปร่งใสทุกประการ จึงมีการเลื่อนกระบวนการในการประมูลไป ส่วนเรื่อง Open Loop หรือการเชื่อมต่อกับธนาคารพาณิชย์ ยังเป็นภาพที่รัฐบาลมองไว้อยู่ แต่ที่เลื่อนไปเพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ที่รัฐบาลรักษาการไม่มีอำนาจในการทำข้อตกลงกับธนาคารใด

“ส่วนเรื่องความหวังต่อเศรษฐกิจดิจิทัล รัฐบาลยืนยันว่าต้องเริ่มจากความคุ้นชินของประชาชน ที่ผ่านมาไม่เคยมีแอปไหนในประเทศไทยที่เป็นของรัฐที่จะดึงคนเข้ามาได้ถึง 36 ล้านคนภายในเวลาแค่ 1 เดือน นี่คือข้อมูลกลางที่จะเป็นประโยชน์กับภาครัฐในการกำหนดนโยบายเป็นอย่างยิ่ง กระบวนการในการพัฒนาระบบชำระเงินเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีความคิดว่าจะมีการทดลองแซนด์บ็อกซ์ในการจ่ายชดเชยน้ำท่วม ยิงเงินไปยังประชาชนในกลุ่มที่รัฐบาลกำหนดตามแนวนโยบายของรัฐได้”

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...