“อิ๊งค์” สั่งส่วนราชการอำนวยความสะดวกคนน้ำท่วม กังวลเอกสารสำคัญสูญหาย

“จิรายุ” เผย นายกฯ สั่งส่วนราชการฝ่ายปกครอง อำนวยความสะดวกประชาชนพื้นที่น้ำท่วม หลังกังวลเอกสารสำคัญสูญหาย ไม่สามารถขึ้นทะเบียนรับเงินเยียวยาและเงิน 10,000 บาทได้

วันที่ 18 กันยายน 2567 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการส่วนราชการฝ่ายปกครอง อำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย ในกรณีมีประชาชนกังวลใจสอบถามถึงกรณีที่เอกสารสำคัญสูญหาย เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน หายไปกับสายน้ำ โดยกังวลว่าจะไม่สามารถมีเอกสารบัตรประจำตัวไปขึ้นทะเบียนรับเงิน 10,000 บาท และเงินช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ จากทางรัฐบาลนั้น

นายจิรายุ กล่าวว่า พี่น้องประชาชนสามารถทำบัตรใหม่ได้ โดยไปติดต่อ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตเทศบาล ในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ ภายในเวลา 60 วันนับตั้งแต่วันที่บัตรหาย ทั้งนี้ ในปัจจุบันไม่ต้องแจ้งความแล้ว เจ้าของบัตรไปแสดงตน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะสแกนลายนิ้วมือที่มีในฐานข้อมูลก็สามารถออกบัตรและทะเบียนบ้านของเจ้าของบ้านใหม่ได้เลย ส่วนเขตพื้นที่ กทม. สามารถจองคิวเพื่อนัดเวลาล่วงหน้าได้ผ่านแอปพลิเคชัน BMAQ เพื่อสะดวกการเข้ารับบริการจากสำนักงานเขตเร็วขึ้น สามารถตรวจสอบคิวและข้อมูลเอกสารที่ใช้ติดต่อราชการ

...

ทางด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 3,045.519 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นมา สำหรับพื้นที่ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย หรือพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินใน 57 จังหวัด ขณะนี้มีประชาชนแสดงข้อกังวลว่ากรณีที่เอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านที่ใช้ประกอบการขอรับเงินช่วยเหลือได้สูญหายไปพร้อมอุทกภัย อาจทำให้เสียสิทธิ หรือถูกสวมสิทธิ

ทางกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้เตรียมการเพื่อช่วยเหลือและลดข้อกังวลต่อกรณีดังกล่าว ออกเป็นแนวทางปฏิบัติ ขั้นตอนการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนในพื้นที่ประสบสาธารณภัย โดยประชาชนที่ประสงค์ยื่นคำขอมีบัตรใหม่ ขอเปลี่ยนบัตร เช่น บัตรหมดอายุ บัตรหาย บัตรชำรุดในสาระสำคัญ สามารถยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเขต ศาลาว่าการเมืองพัทยา และสำนักงานเทศบาลที่เปิดให้บริการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนได้ทุกแห่ง

สำหรับการขอมีบัตรใหม่ ผู้ที่เคยจัดทำบัตรด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบประวัติการทำบัตรประจำตัวประชาชนในฐานข้อมูลทะเบียนบัตรว่ามีลายพิมพ์นิ้วมือและภาพใบหน้าถูกต้องตรงกับเจ้าของรายการหรือไม่ เมื่อระบบแจ้งผลการตรวจสอบโดยไม่มีเหตุปฏิเสธการจัดทำบัตรของบุคคลดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่จะมีคำสั่งอนุญาตให้จัดทำบัตรประจำตัวประชาชนได้ โดยไม่ต้องเรียกเอกสารหลักฐานอื่นใด แต่หากเป็นกรณีที่ระบบแจ้งผลการตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือและภาพใบหน้าไม่ผ่านการเปรียบเทียบ พนักงานเจ้าหน้าที่อาจเรียกเอกสารหลักฐานหรือสอบสวนเจ้าบ้านหรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือแล้วแต่กรณีเพิ่มเติมได้เท่าที่จำเป็น

“ในการนี้ กรมการปกครองได้ให้ยกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันที่มีประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรณีมีเหตุจำเป็นให้ขยายระยะเวลาได้อีก 15 วัน รวมเป็น 30 วันได้”

พร้อมกันนี้ กรมการปกครองยังได้มีแนวทางช่วยเหลือในส่วนของการขอคัดรับรองเอกสารทะเบียนราษฎรในพื้นที่ประสบสาธารณภัย ให้สามารถติดต่อขอคัดรับรองรายการทางทะเบียนราษฎร ณ สำนักทะเบียนในเขตพื้นที่ ได้แก่ ทะเบียนคนเกิด, ทะเบียนคนตาย, รายการทะเบียนบ้าน, สำเนาทะเบียนบ้าน, รายการข้อมูลทะเบียนประวัติ, ทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย โดยจะได้รับการยกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันที่มีประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและกรณีมีเหตุจำเป็นให้ขยายระยะเวลาได้อีก 15 วัน รวมเป็น 30 วัน

โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อไปว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ได้ผ่านความเห็นของ ครม. ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดเตรียมทำความเข้าใจในแนวปฏิบัติเพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอลงไปถึงระดับหมู่บ้านเพื่อให้สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือแก่พี่น้องประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในกรอบเวลาที่กำหนด

สำหรับเอกสารหลักฐานที่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยต้องมีในการรับการช่วยเหลือ ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชนและหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้ 1. สำเนาทะเบียนบ้าน กรณีเป็นบ้านพักอาศัยที่มีทะเบียนบ้าน 2. สัญญาเช่าบ้าน หรือหนังสือรับรองการเช่าจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีเป็นบ้านเช่า หรือ 3. กรณีเป็นที่อยู่อาศัยอื่นๆ ให้กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารท้องถิ่น ร่วมกับผู้นำชุมชน ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและลงนามรับรองร่วมกันอย่างน้อย 2 ใน 3

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

แหล่งข่าวเผย อิสราเอลแจ้งสหรัฐจะทำอะไรบางอย่างในเลบานอน!

เมื่อวันพุธ (18 ก.ย.) กระทรวงสาธารณสุขเลบานอนแถลงว่า วิทยุมือถือ (ว.) ที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ใช้ ได้ระเ...

ว.ฮิซบอลเลาะห์ระเบิด แปะฉลาก ‘เมด อิน เจแปน’

ภาพถ่าย ว.ฮิซบอลเลาะห์ที่ระเบิดเมื่อวันพุธ (18 ก.ย.) พบฉลาก “ICOM” และ “เมด อิน เจแปน” สำนักข่าวรอยเ...

'บิลลี ไอลิช-โจ โรแกน' เชียร์'คามาลา แฮร์ริส'

เว็บไซต์บลูมเบิร์กรายงาน ป็อปสตาร์ “บิลลี ไอลิช” โพสต์คลิปเคียงข้างพี่ชายบนอินสตาแกรม กระตุ้นให้ผู้ต...

‘รถไฟ’ กระจายความเจริญ กรณีศึกษา: โฮคุริคุ ของญี่ปุ่น | กันต์ เอี่ยมอินทรา

ได้เห็นการเชื่อมต่อด้วยระบบรางระหว่างกรุงเทพกับลาวแล้วก็อดคิดถึงรถไฟต่างประเทศไม่ได้ เพราะรถไฟไทยเรา...