นักวิเคราะห์มอง 'ลอบฆ่าทรัมป์รอบ 2' ไม่สะเทือนผลเลือกตั้งสหรัฐเท่ารอบแรก

อัลจาซีราเผยว่า หลังจากเกิดการ ลอบสังหาร โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ และแคนดิเดตจากพรรครีพับลิกันเมื่อเดือนก.ค. ที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ

สองวันหลังจากทรัมป์รอดชีวิต เขาขึ้นเวทีปราศรัยประชุมใหญ่พรรครีพับลิกันในรัฐวิสคอนซินอย่างผู้ชนะ การโจมตีครั้งนั้นได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ โดยผู้สนับสนุนทรัมป์ที่เข้าฟังปราศรัยต่างติดผ้าพันแผลที่หูเหมือนกับทรัมป์ ซึ่งขณะนั้นหูของทรัมป์มีผ้าพันแผลปิดอยู่เพราะได้รับบาดเจ็บจากการถูกลอบยิง

นักวิเคราะห์ทางการเมืองบางส่วนมองว่า การลอบสังหารทรัมป์ ในเดือนก.ค. แทบจะรับประกันได้ว่าทรัมป์อาจชนะเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งขณะนั้นคู่แข่งอย่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีคะแนนความนิยมตามหลังทรัมป์ หลังดีเบตในเดือนมิ.ย.ไปได้ไม่สวย

แต่ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น ไบเดนก็ถอนตัวจากการเป็นแคนดิเดตของพรรคเดโมแครต และ “คามาลา แฮร์ริส” รองปธน.สหรัฐ ก็ขึ้นมาเป็นแคนดิเดตแทน ซึ่งจากโพลสำรวจส่วนใหญ่พบว่า แฮร์ริสได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้น และทำให้โมเมนตัมของทรัมป์ลดน้อยลงไปโดยปริยาย

ลอบสังหารครั้งที่ 2 ไม่ฮือฮาเท่าครั้งแรก

รินา ชาห์ นักยุทธศาสตร์การเมือง คาดว่า การลอบสังหารครั้งที่ 2 ไม่ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์เหมือนครั้งก่อน

“คราวนี้ไม่มีความเห็นอกเห็นใจใดๆ เกิดขึ้น ทำอะไรไม่ได้ ผู้คนต่างเชื่อในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ” ชาห์ กล่าว

ชาห์เผยว่า มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่งผลเล็กน้อยต่อการเปลี่ยนแปลงพลวัตรการเลือกตั้ง โดยเธอชี้ให้เห็นถึงเหตุการณ์ดราม่าทางการเมืองมากมาย ทั้งความพยายามพลิกผลการเลือกตั้งของทรัมป์เมื่อปี 2563 และการที่ทรัมป์ถูกตัดสินคดีอาญา รวมถึงการถอนตัวจากการแข่งขันของไบเดน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงผิดหวังกับระบบการเมืองที่ถูกครอบงำโดยฐานเสียงของสองพรรคใหญ่ และกลุ่มผลประโยชน์พิเศษที่มีอิทธิพลมากเกินไป ชาห์จึงคาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยหลังเกิดเหตุการลอบสังหารทรัมป์ในวันอาทิตย์ (15 ก.ย.)

“ผู้ที่เคยให้ความสนใจ ไม่ได้สนใจแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น และยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้สนใจ เพราะประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนของอเมริกาพังไปแล้ว” ชาห์กล่าว

เรื่องปกติ?

ด้านไมเคิล ฟอนทรอย ผู้อำนวยการศูนย์นโยบาย การเมือง และการแข่งขันจากมหาวิทยาลัยจอร์จเมสัน คาดว่า สถาบันทางการเมืองอาจไม่แสดงท่าทีสนใจมากนักหลังเกิดเหตุการณ์ล่าสุด

ฟอนทรอยชี้ว่า เหตุการณ์นี้เป็นเหมือนบทสรุปเชิงตรรกะของยุทธศาสตร์ทางการเมือง ที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นตัวร้าย ซึ่งทรัมป์ก็มีส่วนสนับสนุนให้เป็นเช่นนั้น ด้วยการสร้างสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่อเค้ารุนแรงและอาวุธปืนก็เข้าถึงง่าย

“มันเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความรุนแรงทางการเมืองของอเมริกาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่มีใครรู้สึกเซอร์ไพรส์กับเรื่องนั้น” ฟอนทรอยกล่าว และว่า บารัก โอบามา ก็เคยถูกคุกคามหลายต่อหลายครั้งตอนเป็น ประธานาธิบดีสหรัฐ มากกว่าปธน.ก่อนหน้าเขาถึง 3 เท่า

อย่างไรก็ตาม แม้เกิดดิสรัปชันในระหว่างหาเสียงช่วงฤดูร้อน แต่ผลสำรวจไม่นานมานี้ยังคงบ่งบอกว่า สองแคนดิเดตมีคะแนนสูสีกัน

โพลจากนิวยอร์กไทม์ส/เซียนาคอลเลจ ล่าสุด พบว่า ทรัมป์และแฮร์ริสมีเสียงสนับสนุนในรัฐสวิงสเตต ทั้งรัฐมิชิแกน, รัฐเพนซิลเวเนีย รัฐจอร์เจีย รัฐนอร์ทแคโรไลนา และรัฐแอริโซนา ต่างกันเพียง 1% เท่านั้น

 

 

อ้างอิง: Al Jazeera

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...