“เท้ง ณัฐพงษ์” ซัดรัฐบาลผสมข้ามขั้ว ถาม 3 ปีข้างหน้าจะเจ๊าหรือเจ๊ง

“ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” เผยเสียดาย 1 ปีของรัฐบาลที่ผ่านมากลับเป็น 1 ปีที่สูญเปล่าของประเทศ อัดรัฐบาลผสมข้ามขั้ว ทวงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต บอกแจกทันที พอเป็นรัฐบาลเลื่อนแล้วเลื่อนอีก ถาม 3 ปีข้างหน้าจะเจ๊าหรือเจ๊ง จี้ปมแก้รัฐธรรมนูญทำไมไม่เป็นวาระเร่งด่วน

วันที่ 12 กันยายน 2567 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ได้อภิปรายทบทวนนโยบายรัฐบาลที่ผ่านมา พร้อมเสนอนโยบายที่ควรจะเกิดขึ้นในวาระที่เหลืออีก 3 ปีข้างหน้าของรัฐบาล

โดยนายณัฐพงษ์เริ่มต้นการอภิปรายด้วยการตั้งคำถามว่า การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีในวันนี้เกิดขึ้นเพราะประเทศไทยมีปัญหาหลักนิติรัฐใช่หรือไม่ แทนที่เราจะอยู่ใต้การปกครองด้วยระบบกฎหมายที่มีหลักมีเกณฑ์ กลับกลายเป็นคนที่มีอคติบางอย่างสามารถใช้อำนาจทุบทำลายประหารชีวิตพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนได้ง่ายดาย แต่ไม่ใช่พรรคก้าวไกลเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อของนิติสงคราม คณะรัฐมนตรีเองก็ต้องทำงานภายใต้กลไกที่บิดเบี้ยวเช่นกัน แล้วการเมืองเช่นนี้จะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้จริงหรือ นิติรัฐควรเป็นโจทย์ตั้งต้นทั้งของรัฐบาลและผู้แทนราษฎรทุกคนในสภาแห่งนี้

โดยนับเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งที่ 1 ปีที่ผ่านมากลับเป็น 1 ปีที่สูญเปล่าของประเทศ เพราะคุณภาพชีวิตคนไทยแทบไม่ดีขึ้นเลยนับจากวันที่มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว จนทำให้ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการการตัดสินใจตั้งแต่จุดเริ่มต้น และเริ่มเห็นร่องรอยว่าอีก 3 ปีต่อจากนี้ รัฐบาลก็จะตกอยู่ใต้อิทธิพลของ 3 นาย คือ นายใหญ่ นายทุน และนายหน้า

นายณัฐพงษ์อภิปรายต่อถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ระบุว่า ตอนหาเสียงบอกไว้ว่าถ้าเป็นรัฐบาลแจกทันที แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเลื่อนแล้วเลื่อนอีก จนถึงวันนี้ก็ยังไม่จ่าย ตอนแรกบอกจะให้พร้อมกันเพื่อสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจก็เปลี่ยนมาเป็นทยอยจ่ายโดยจ่ายเป็นเงินสดผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตอนแรกก็บอกจะใช้ระบบบล็อกเชนเพื่อความโปร่งใสตรวจสอบได้ว่าสุดท้ายแล้วเงินไปเข้ากระเป๋าใคร บล็อกเชนจะยังอยู่ในระบบนี้หรือไม่

...

ส่วนนโยบายแก้ปัญหาหนี้สินเป็นนโยบายที่อดีตนายกฯ เศรษฐาประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วน แต่ถ้าดูตัวเลขหนี้ครัวเรือนล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทย ก็พบว่าหนี้ครัวเรือนยังสูงแตะระดับ 90.8% ของจีดีพีและยังไม่มีแนวโน้มลดลง การขยายตัวของหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคและหนี้เพื่อการอยู่อาศัย หลายส่วนเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ขณะที่ภาคเกษตร เกษตรกรไทยกว่า 1 ใน 3 ก็ยังมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งที่รัฐบาลประกาศว่าจะทำให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายใน 4 ปี แต่ปีที่ผ่านมากลับเป็นปีของหมูเถื่อนและปลาหมอคางดำ ในระดับมหภาค จีดีพีภาคการเกษตรของไทยก็ลดลง 3 ไตรมาสติดกัน โดยไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ลดลงไป 0.4% ไตรมาสแรกของปี 2567 ลดลงไปอีก 2.7% และไตรมาสที่สองของปี 2567 ลดลงไป 1.1%

ส่วนของภาคธุรกิจ รัฐบาลประกาศว่าจะปรับโครงสร้างราคาพลังงานของประเทศเพื่อลดราคาพลังงาน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลกลับไม่เจรจาแก้สัญญาสัมปทานอย่างจริงจัง ลดค่าไฟระยะสั้นแลกกับการติดหนี้การไฟฟ้ารวม 1 แสนล้านบาท ที่สุดท้ายก็ต้องใช้เงินภาษีของประชาชนมาใช้หนี้อยู่ดี

นอกจากนี้ยังมีปัญหาการไหลทะลักของสินค้าจากต่างประเทศและนอมินีต่างชาติ ที่อาศัยประโยชน์จากช่องโหว่ทางกฎหมายและความหละหลวมของเจ้าหน้าที่ จนส่งผลกระทบหนักต่อภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างรุนแรง เสี่ยงต่อการถดถอยของการจ้างงานและการใช้วัตถุดิบในประเทศ และความมั่นคงในชีวิตของประชาชนก็เป็นเรื่องน่ากังวล ปัญหาด้านยาเสพติดที่แม้รัฐบาลทำท่าทีประกาศสั่งการกำหนดเส้นตาย 90 วัน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่วันนี้เลย 120 วันไปแล้ว สิ่งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นก็คือจำนวนคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การครอบครองไว้เสพ และจำนวนยาบ้าที่จับกุมได้มากขึ้น ถ้ากลับไปดูยอดการดำเนินคดีกับผู้ค้ายาเสพติดและการอายัดทรัพย์ผู้ค้ายาเสพติดกลับมีแนวโน้มลดลง กลายเป็นจับแต่ตัวเล็กตัวน้อย ไม่กล้าจับรายใหญ่เบื้องหลัง

ในด้านสวัสดิการสังคม รัฐบาลที่ผ่านมาแทบไม่มีการเพิ่มสวัสดิการสังคมสำหรับประชาชนเลย ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการเด็กเล็ก 600 บาทถ้วนหน้าที่แทบทุกพรรคการเมืองเคยให้สัญญาไว้ ทั้งที่ปัจจุบันมีเด็กเล็กยากจนจำนวนมากที่ยังตกหล่นไม่ได้รับเงินเหล่านี้ สวัสดิการผู้พิการก็ยังไม่มีการปรับเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ นโยบายการพัฒนาสถานชีวาภิบาลหรือระบบการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยแบบระยะยาวซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนสำหรับสังคมสูงวัย ในรัฐบาลชุดที่แล้วมีการระบุไว้ในคำแถลงนโยบายแต่กลับไม่มีในคำแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีในวันนี้

“ทั้งหมดนี้คือ 1 ปีที่สูญเปล่าของประชาชนชาวไทย อันเป็นผลมาจากการจัดตั้งรัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว นายกฯ ขาดอำนาจนำ มีการสั่งการเยอะแยะแต่ไร้ผลในทางปฏิบัติ รัฐบาลใช้เวลาและทรัพยากรกับการปกป้องช่วงชิงตำแหน่งทางการเมือง มากกว่าจะใช้บริหารราชการแผ่นดินเพื่อแก้ปัญหาประชาชน”

นายณัฐพงษ์กล่าวต่อไปอีกว่า คำถามของตนคือ 3 ปีต่อจากนี้จะเจ๊าเท่าทุนหรือเจ๊งหนักกว่าเดิม คำตอบอยู่ที่ความท้าทายของประเทศ 3 ปีต่อจากนี้ที่ตนคาดหวังจะได้เห็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ

1) ด้านการศึกษา ที่ประเทศไทยยังคงตามไม่ทันโลก มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่หลุดออกจากระบบการศึกษามากกว่าหนึ่งล้านคน เด็กที่เกิดในครอบครัวที่จนที่สุด 10% มีโอกาสในการเข้ารั้วมหาวิทยาลัยต่ำกว่าเด็กที่รวยที่สุด 10% ถึง 8 เท่า คนไทยมากกว่า 50% ของแรงงานทั้งหมดยังขาดทักษะที่จำเป็นในโลกอนาคต การพัฒนาทักษะหรือการอัพสกิล-รีสกิลที่ผ่านมาก็ทำได้เพียงน้อย ยังไม่มีความชัดเจนถึงแพลตฟอร์มหรือระบบกลางที่สร้างแรงจูงใจให้คนเข้ารับการพัฒนาทักษะครั้งใหญ่เหมือนที่ประเทศเพื่อนบ้านเรามี

2) ด้านการแข่งขันกับต่างประเทศ พบว่าปีที่ผ่านมามีปัญหาสินค้านำเข้าไหลทะลัก ยอดขาดดุลการค้ากับประเทศจีนเมื่อสิ้นปี 2566 พุ่งแตะหนึ่งล้านล้านบาท สูงเป็นประวัติการณ์ เอสเอ็มอีและโรงงานทยอยปิดตัว และเพียงครึ่งปีแรกในปี 2567 ยอดขาดดุลกับจีนก็เลย 7 แสนล้านบาทไปแล้ว จนปีนี้ทั้งปียอดขาดดุลก็น่าจะทำลายสถิติปีก่อน

3) ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อย่างเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งอยู่ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลด้วย แต่ในรายละเอียดกลับขาดความชัดเจนระดับโครงการและงบประมาณ ว่าจะสร้างบุคลากรและความสามารถในการผลิตอย่างไร ต่างจากมาเลเซียที่ประกาศสร้างบุคลากรในด้านนี้ 60,000 คน ภายใน 5 ปีพร้อมงบประมาณ 2 แสนล้านบาท

4) ด้านภัยพิบัติ นอกจากผลผลิตทางการเกษตรช่วงต้นปีต้องตกต่ำเพราะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและภัยร้อนแล้ว ในช่วงที่ผ่านมาเราประสบปัญหาอีกแบบคืออุทกภัยและฝนตกหนักเพราะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชวนให้ตั้งคำถามว่ารัฐบาลมีแผนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกระจายแหล่งน้ำในภาคชนบททั่วประเทศอย่างไร

นายณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่า เราอาจจะเห็นความท้าทายบางเรื่องที่ว่ามาบรรจุอยู่ในคำแถลงนโยบายแล้ว เช่น ปัญหาด้านชีวิตรายวันและปัญหาด้านการแข่งขันทางการค้ากับต่างประเทศ แต่สิ่งที่ตนอยากเห็นมากกว่าคือเรื่องของรายละเอียด โดยเฉพาะที่เป็นนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อยิ่งต้องมีรายละเอียด รัฐบาลต้องรู้ลึกรู้จริงและพร้อมนำไปปฏิบัติได้ทันที

ส่วนที่มีความสำคัญไม่แพ้กันนอกเหนือจากนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล คือนโยบายเรือธงที่ทุกวันนี้กำลังมีคำถามว่าเป็นนโยบายเรือธงเพื่อใคร เพื่อประชาชนหรือเพื่อ 3 นาย คือนายใหญ่ นายหน้า และนายทุน ยกตัวอย่างกรณีนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่มีการกลับไปกลับมาจนถึงวันนี้เงินก็ยังไม่เข้า สงสัยว่าเป็นนโยบายเรือธงที่ทำตามคำสั่งนายใหญ่เป็นหลักหรือไม่ หรือนโยบายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่มีข้อครหาว่าจะมีการเปิดกว้างในการประมูลหรือล็อกการประมูลเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และนโยบายแลนด์บริดจ์ ที่มีการใช้งบประมาณของรัฐในการเวนคืนที่ดินมากมาย จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายหน้าค้าที่ดินหรือไม่

ประเทศไทยในวันนี้เดินมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญอีกหนึ่งวัน ไม่กี่สัปดาห์ก่อนสภาฯ มีวาระลงมติให้ แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคประชาชนได้ยืนยันไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ถอดถอน เศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และยังยืนยันว่าสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างนิติรัฐ หยุดยั้งกระบวนการนิติสงครามที่คอยทำลายผู้แทนของประชาชน

“ทุกคำพูดของท่านมีผลผูกมัดต่อการดำเนินนโยบายต่อจากนี้อีก 3 ปี อยากให้นายกรัฐมนตรีพูดนอกจากสคริปต์ที่เจ้าหน้าที่ตระเตรียมมา แสดงบทบาทความเป็นผู้นำที่ดี ที่นอกจากการฟังความเห็นแล้วต้องชี้นำความคิดที่ถูกที่ควรให้กับสังคมด้วย อยากเห็นนายกรัฐมนตรีลุกขึ้นตอบว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นวาระเร่งด่วนของประเทศ โดยสามารถดำเนินการคู่ขนานกันไปได้สองเส้นทาง”

นายณัฐพงษ์กล่าวอีกว่า เส้นทางแรก คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่จะต้องมีการตั้ง สสร. ก่อน อีกส่วนหนึ่งที่สามารถดำเนินการได้ทันทีก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 4 เรื่องด้วยกัน คือ 1) ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขปัญหามาตรฐานทางจริยธรรม จัดวางตำแหน่งแห่งที่ขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีความเหมาะสมเป็นไปตามหลักสากล 2) การยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 3) การลบล้างผลพวงรัฐประหารด้วยการยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช. และ 4) การยุติวงจรอุบาทว์โดยการเสริมสร้างกลไกในการป้องกันการรัฐประหารในอนาคต ซึ่งทั้ง 4 เรื่องพรรคประชาชนได้เสนอเข้าสู่สภาฯ ไปแล้ว พวกเราสามารถเดินหน้าร่วมกันได้เพื่อทำให้ระบบการเมืองมีความยึดโยงกับประชาชนและมีประชาชนอยู่ในสมการการตัดสินใจมากขึ้น

นายณัฐพงษ์กล่าวต่อไป หลายๆ อย่างพรรคประชาชนได้เคยเสนอร่างแก้ไขกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ซึ่งวันนี้หลายสิบฉบับกองอยู่บนโต๊ะของนายกรัฐมนตรีเพราะเป็นกฎหมายว่าด้วยการเงินรอให้ลงนามรับรองอยู่ ถ้านายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับพวกเราและวาระต่างๆ ก็ขอให้ลุกขึ้นตอบด้วยว่าถ้ากฎหมายฉบับใด นโยบายด้านใดที่ท่านเห็นด้วยกับพวกเรา ขอให้ลงนามรับรองกลับมาให้เดินหน้าต่อในสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ในอีก 3 ปีต่อจากนี้ด้วย

“3 ปีต่อจากนี้ที่ผมตั้งคำถามว่าจะเจ๊าหรือจะเจ๊ง เพราะนอกเหนือจากการจัดตั้งรัฐบาลแบบเดิมๆ ที่มีการจัดสรรโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีแล้ว ยังมีการจัดตั้งรัฐบาลแบบตัวแทนเพื่อหลบเลี่ยงปัญหาทางกฎหมาย ทุกอย่างจึงย้อนกลับไปสู่คำถามแรกว่า นายกรัฐมนตรีจะสามารถแสดงบทบาทนำให้คณะรัฐมนตรีของท่านกลับไปแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอีกหลายฉบับที่พวกเราได้ยื่นเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว รวมถึงการเดินหน้าผลักดันวาระร่วมต่างๆ ที่พรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลสามารถทำร่วมกันเพื่อประโยชน์ของประเทศได้หรือไม่ วันนี้ผมรอฟังคำตอบจากท่าน” นายณัฐพงษ์กล่าว

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...