สัญญาณ‘สว.น้ำเงิน’ขวาง‘พท.’ สกัด‘กาสิโน-เอ็นเตอร์เทนเมนต์’

วาระการเมืองในสภาฯ จับตาการแถลงนโยบายรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯ คนที่31 ต่อที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งกำหนดให้พิจารณา 2 วัน คือ 12 - 13 ก.ย.2567 นี้

หากดูปฏิทินแล้ว จะถือว่าครบรอบ 1 ปีการทำงานของ “รัฐบาล-เพื่อไทย” พอดิบพอดี นับจากวันที่ “เศรษฐา ทวีสิน” แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา เมื่อ 11 ก.ย. 2566

ทำให้ “พรรคประชาชน” ฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ได้จังหวะ “ชำแหละผลงานรัฐบาล-เพื่อไทย” ในรอบ 1 ปี แทนการจับผิด ว่า นโยบายของรัฐบาลมีอะไรที่ “ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง” เหมือนที่ครั้งยังเป็น “พรรคก้าวไกล” 

ครั้งนั้นตั้งประเด็นตรวจสอบ “นโยบาย-เศรษฐา” ที่มองว่าเป็นส่วนต่อขยาย นโยบายจากรัฐบาล ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หรือไม่

ครั้งนี้ ถึงคราวอัดซ้ำใน “ผลงาน-พรรคเพื่อไทย” ฐานะคู่แข่งทางการเมือง ที่ “พรรคประชาชน” ย้ำมาตลอดว่า “ไม่ได้เรื่อง-ล้มเหลว” 

เช่น นโยบายลดค่าครองชีพประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจ ลดบทบาทกองทัพ และปฏิรูปรัฐราชการรวมศูนย์

แม้ในบทบาทของ “พรรคฝ่ายค้าน” ที่เปลี่ยนหัวเป็น “เท้ง-ณัฐพงษ์​ เรืองปัญญาวุฒิ” จะไม่ฉะฉาน ชัดเจน เด็ดขาด ว่าวางบทบาทฐานะ “คู่แข่งทางการเมือง”

แต่การที่ “พรรคเพื่อไทย” ไม่ตั้งขุนพลรองรับการปะทะ-ตอบโต้ไว้บ้าง อาจทำให้ “แพทองธาร” ที่ยังไม่ได้เริ่มทำงานฐานะ “นายกฯ” อย่างสมบูรณ์ สุ่มเสี่ยงจะเสียรังวัดไปด้วย

ฃขณะที่ความเคลื่อนไหวของ สว. ต่อการอภิปรายนโยบายรัฐบาล “แพทองธาร” ถูกจับตาไม่แพ้กันว่า เพราะสภาสูงที่ถูกขนานนามว่า เป็น “สภาสีน้ำเงิน” จะโชว์บทบาทออกมาในรูปแบบใด

การอภิปรายนโยบายรัฐบาล จากการจัดสรรเวลา พบว่า “สว.” ได้เวลาอภิปราย 270 นาที ซึ่งจะจัดสรรให้กับ “สว.” ที่แจ้งความประสงค์อภิปราย เบื้องต้น “พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์” รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง มอบหมายให้วิปวุฒิสภาดำเนินการ และแจ้งจำนวนอย่างไม่เป็นทางการว่ามี สว.57 คนขอคิวอภิปราย

ส่วนประเด็นอภิปรายของ สว. นั้น แตกต่างและคละกันไป ทั้งในประเด็นภาพรวม นโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ รวมถึงนโยบายที่เจาะจงไปในรายหน่วยงานรายกระทรวงตามบทบาท

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีประเด็นที่ถูกส่งสัญญาณมาเป็นพิเศษจาก “บ้านใหญ่” ที่ขอให้ซักละเอียด นโยบายเร่งด่วนลำดับที่ 7 การเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว ว่าด้วยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ การเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น สถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์

ต่อเรื่องนี้ “บุญส่ง น้อยโสภณ” รองประธานสภาฯ คนที่สอง กล่าวบนเวทีวุฒิสภาพบสื่อมวลชน เมื่อ 10 ก.ย. ตอนหนึ่งว่า ภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาล ทั้งเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ และการให้ต่างชาติเช่าที่ดินระยะยาว 99 ปี มีผลกระทบต่อประโยชน์ประเทศ ถือเป็นประเด็นที่หนักหนาสาหัส ต้องพูดอีกยาว ดังนั้นการแถลงนโยบายรัฐบาล จะต้องถาม และชี้ให้เห็นว่าไม่ชอบอย่างไร

พร้อมทิ้งท้ายว่า “ประเทศไทยไม่ใช่เมืองขึ้น หากจะทำให้เหมือนเกาะฮ่องกง หรือมาเก๊า ที่เขาต้องการให้เป็นเมืองขึ้นไม่ได้”

แน่นอนว่า ท่าทีของ “สว.” สอดรับกับความเห็นของ “พรรคภูมิใจไทย” ที่ประกาศชัดว่า ไม่เห็นด้วย ทั้งประเด็นกาสิโน และเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ แม้ภายหลัง “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯและรมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะปฏิเสธว่า ไม่เคยบอกว่าไม่เห็นด้วย แต่มีเงื่อนไขคือ “ประชาชนได้ประโยชน์”

นั่นหมายความว่า เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ต้องไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของพรรคหรือนักการเมืองเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ในประเด็นของสว. ต่อนโยบายเร่งด่วนลำดับที่ 7 นี้ มีแนวที่จะตั้งเป็นคำถามสำคัญ ต่อรัฐบาลเพื่อไทยว่า เป็นการชงเอง กินเองแบบรวบรัดตัดตอนหรือไม่ เพราะ ก่อนหน้านี้ “พรรคเพื่อไทย” ส่ง “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง นั่งหัวโต๊ะ เป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ

เหมือนตั้งเรือธงว่า “ต้องเดินหน้า” ก่อนที่จะระบุไว้ชัดเจนในรูปเล่มของคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยนายกฯแพทองธาร

ทั้งๆ ที่ในการลงพื้นที่หาเสียงของ “พรรคเพื่อไทย” ตอนเลือกตั้ง ไม่เคยนำเสนอกับประชาชน เหมือนกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 

เท่ากับว่าไม่เคยได้รับฉันทามติเบื้องต้นจากประชาชนมาก่อน ดังนั้นการจะถือว่า “ตนเองมีอำนาจบริหาร-เหนือกว่าคนอื่น” แล้วจะทำอะไรก็ได้ อาจไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดี อีกทั้งในกระบวนการศึกษาของกรรมาธิการฯ ยังพบประเด็นข้ออ่อนไหวในทางปฏิบัติ ที่ “สังคมส่วนใหญ่” อาจไม่เห็นด้วย

นอกจาก “วุฒิสภา”จะใช้เวทีแถลงนโยบายรัฐบาล สะท้อนความแคลงใจแล้ว ยังพบว่า มี สว.ในกลุ่มก๊วน "สีน้ำเงิน” ได้ “ยื่นญัตติ” เพื่อขอตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษานโยบายของรัฐบาลในการทำเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ และเตรียมเชิญ “สังศิต พิริยะรังสรรค์” อดีตสว. และนักวิชาการอิสระ มาร่วมเป็นหนึ่งในกรรมาธิการ เพื่อหวังให้เกิดผลการศึกษาที่เสมือนเป็น “เสียงค้าน” เพื่อไทย แทน “ภูมิใจไทย” ที่อยู่ร่วมรัฐบาล ซึ่งมีภาวะน้ำท่วมปาก

ดังนั้น ต้องจับตาการอภิปรายนโยบายรัฐบาล “แพทองธาร” รอบนี้ให้ดี ที่อาจพอได้เห็นโฉมว่า ใครคือ “มิตรแท้” และใครกันแน่คือ “งูเห่า”.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...