อัสดงค่าย‘พระแม่ธรณี’ จับตาพรรคใหม่‘ดีเอ็นเอ’สีฟ้า

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ “นิด้าโพล” เปิดเผยผลการสำรวจเมื่อวันที่8ก.ย. ที่ผ่านมา ถามความเห็นประชาชน เรื่อง  “เสียงพี่น้องชาวใต้ถึงพรรคประชาธิปัตย์”  สำรวจระหว่างวันที่ 2-3 ก.ย. 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่มีสิทธิเลือกตั้งใน 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในการเข้าร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย (พท.)

คำถามแรก :  การตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ในการเข้าร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย พบว่า 54.19% ไม่เห็นด้วยเลย 14.58% ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยเลย และ ไม่ค่อยเห็นด้วย ทั้ง 2 อันดับ คิดรวมเป็น 68.77% 12.98% ระบุว่า เห็นด้วยมาก

11.91% ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เห็นด้วยมาก และ ค่อนข้างเห็นด้วย คิดรวมเป็น 24.89%

คำถามที่สอง: การเลือกพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พบว่า 41.37% ระบุว่า ไม่เลือก 41.15% ระบุว่า ยังไม่แน่ใจ และ 17.48% ระบุว่า เลือก

แน่นอนว่าผลโพลที่ออกมาเป็นการสะท้อนจังหวะการเมือง “ค่ายพระแม่ธรณี”  หลังปิดตำนานศัตรูคู่อาฆาต “ตระกูลชินวัตร” มาอย่างยาวนานตั้งแต่ไทยรักไทย พลังประชาชน จนกระทั่งพรรคเพื่อไทย ยามนี้แปรเปลี่ยนเป็นมิตรร่วมรบในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล 

ย้อนเส้นทาง “แดนสะตอ” อันเปรียบเสมือนเป็นเมืองหลวงพรรคประชาธิปัตย์ ผ่านสถิติการเลือกตั้ง3ครั้งล่าสุดพบว่า

 ปี2554 ประชาธิปัตย์ ได้สส.ทั้งหมด159คน จำนวนนี้เป็นสส.ภาคใต้ค่อนพรรค ถึง 50 ที่นั่ง

ถัดมาใน ปี2562 พรรคประชาธิปัตย์ จากเดิมอยู่ในสถานะ “หัวขบวนอนุรักษนิยม” เจอกระแสการเมืองที่แช่แข็งเป็นเวลานาน กระทั่งเกิดไวรัล “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่” จนแปรเปลี่ยนเป็นพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ก้าวขึ้นเป็นหัวขบวนอนุรักษนิยมแทนที่พรรคประชาธิปัตย์ 

ไม่ต่างจากที่นั่งสส. “ค่ายสีฟ้า” ทั้งประเทศหล่นวูบอยู่ที่ 53 ที่นั่ง เฉพาะส.ส.ภาคใต้ลดฮวบเหลือ 22 คน มีเพียงจ.สุราษฎร์ธานี ที่ถือเป็นเมืองหลวงค่ายพระแม่ธรณี เพียงจังหวัดเดียวที่กวาดสส.ยกจังหวัดทั้ง 6 เขต  

ส่วนที่นั่งสส.แดนสะตอที่เหลือถูกเฉลี่ยให้  พรรคพลังประชารัฐ 13 คน ภูมิใจไทย 8  คน และประชาชาติ6คน 

ยิ่งไปกว่านั้นการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ปี 2566  ประชาธิปัตย์ ย่อส่วนจากพรรคขนาดกลางในปี2562 เป็นพรรคขนาดย่อมลง ได้ส.ส.รวมทั้งหมด25ที่นั่ง เป็นสส.ภาคใต้ 17 คน แยกเป็น จ.นครศรีธรรมราช 6 คน จากทั้งหมด 10 คน 10 เขต จ.ตรัง 2 คน จากทั้งหมด 4 คน 4 เขต จ.พัทลุง 2 คน จากทั้งหมด 3 คน 3 เขต จ.สงขลา 6 คน จากทั้งหมด 9 คน 9 เขต และ จ.ปัตตานี 1 คน จากทั้งหมด 5 คน 5 เขต

แม้แต่“เมืองหอยใหญ่” สุราษฎร์ธานี ที่เคยชนะยกจังหวัดกลับเจอปรากฏการณ์แลนด์ไถลไม่ได้สส.แม้แต่คนเดียว ไม่ต่างไปจากจ.พังงา บ้านเกิด “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ที่เวลานั้นยังสวมหมวกเป็นหัวหน้าพรรค ก็แพ้แบบหมดท่า นำมาสู่การประกาศลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ในคืนวันรู้ผลเลือกตั้ง 

สะท้อนชัดว่า  “ค่ายพระแม่ธรณี” ได้ก้าวเข้าสู่ยุคอัสดง จนกระทั่งผลัดเปลี่ยนอำนาจจาก “ขั้วนายหัว” ชวน หลีกภัย มาอยู่ในกำมือของ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” นายใหญ่เมืองสามอ่าว

ไม่ต่างจากจังหวะ “ค่ายพระแม่ธรณี” ที่เวลานี้แปรเปลี่ยนจากเส้นขนานในฐานะ “ศัตรูคู่แค้น” พลพรรคชินวัตร มาอย่างยาวนานกว่า3ทศวรรษ กลายมาเจอจุดตัด กระทั่ง“พลิกขั้วร่วมรัฐบาล” 

กระแสหนึ่งยังเชื่อว่า สไตล์การเมืองแบบ “ต่อพิฆาต” เน้นยิงกระสุน-ไม่สนกระแส ขายแบรนด์ “บ้านใหญ่” ขย่ม “บ้านใหม่” เหมือนดังเช่นที่บางพรรคการเมืองเคยทำจนกระทั่งได้สส.มาแบบเป็นกอบเป็นกำ จะส่งผลให้ “ค่ายสีฟ้า”  ยังอยู่รอดไปได้ในการเลือกตั้งสมัยหน้า 

อาจไม่ได้เป็นพรรคใหญ่  หรือพรรคแกนนำ แต่อย่างน้อยมีสส.ในมือเพียงพอต่อการสร้างอำนาจต่อรองได้ ไม่ถึงขั้น“สูญพันธุ์” เหมือนดังที่มีผู้ทำนายทายทัก แต่กว่าจะถึงเวลาจริงอาจยังต้องลุ้นกันที่หลากหลายเงื่อนไขที่จะเกิดขึ้นในเบื้องหน้า

เป็นที่รู้กันว่า ปชป.ที่แม้เวลานี้จะปิดตำนาน“ศัตรูคู่แค้น” ชินวัตร กลายเป็นมิตรร่วมรบในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย 

ทว่าลึกๆแล้วปฐมบทใหม่ระหว่าง “ฟ้า” และ “แดง” อาจกำลังก่อตัวขึ้นในอนาคตอันใกล้ ต้องไม่ลืมว่าจังหวะภายใน “ค่ายพระแม่ธรณี”  ยามนี้ยังคงหลงเหลือ “ดีเอ็นเอสีฟ้า” ในกลุ่มปฏิปักษ์ชินวัตรอยู่ 

ไม่ใช่แค่ “4สส.” คือ  ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ และสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ที่ทำหน้าที่ “ตาเฉย” ใช้วิธี “งดออกเสียง” ในสภาแต่เพียงเท่านั้น

แต่ว่ากันว่าสัญญาณใน “ค่ายสีฟ้า” เวลานี้เริ่มปรากฏความเคลื่อนไหวของกลุ่มก้อนที่เป็น “ปฏิปักษ์ชินวัตร”  เตรียมการอะไรบางอย่าง ทั้งการเตรียมลาออกของสมาชิกบางคน จำนวนนี้มีระดับ “ผู้ท้าชิงหัวหน้าพรรค” เพื่อดำเนินการเมืองบนเส้นทางใหม่ หรือแม้แต่การเตรียมการตั้งพรรคการเมือง รองรับการเลือกตั้งครั้งหน้า 

สเปคของพรรคดังกล่าวเป็นพรรคอนุรักษนิยมใหม่ แต่ยังทิ้งไว้ซึ่งจุดยืนการเป็น “ดีเอ็นเอสีฟ้า” ที่อยู่ฝั่งตรงกันข้าม “ชินวัตร”   หรือเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปัตย์ในยุคชวน ผสมยุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็น “ดีเอ็นเอสีฟ้า”  ในเวอร์ชันใหม่ ขณะที่กลุ่มผู้เฒ่าปชป.คือ  ชวน บัญญัติ และ จุรินทร์ จะยังคงอยู่คานอำนาจสีฟ้าต่อไป ไม่มีสัญญาณใดๆที่จะจบสิ้นเส้นทางการเมือง 

เป็นเช่นนี้ต้องจับตา สัญญาณ “ค่ายพระแม่ธรณี” เดิมพันการเมืองผ่าน “ปลายปากกา” ในคูหาเลือกตั้ง บทสรุปจะเป็นอย่างไรต้องมาลุ้นกัน! 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...