'แบตเตอรี่จีน' ใกล้ถึงจุดเปลี่ยน การผลิตล้น กลไกตลาดคัดสรรผู้รอด

ท่ามกลาง “กระแสรถยนต์ไฟฟ้า” (อีวี) ที่เคยบูมสุดขีดในฐานะพลังงานแห่งอนาคตที่ใครๆ ก็ไม่อยากตกรถ จนเกิดผู้ผลิตรถอีวีเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในจีน แต่ในที่สุดเมื่อฟองสบู่แตก กว่า 80% ของผู้ผลิตรถอีวีจีนก็อยู่ไม่รอด

สถานการณ์นี้กำลังจะเกิดกับธุรกิจ “แบตเตอรี่รถอีวีจีน” เช่นกัน ที่กำลังเผชิญภาวะการผลิตล้นตลาด แต่ยอดขายร่วง ราคาทรุด และฉุดให้ธุรกิจต้องหาวิธีควบรวมกิจการกับรายใหญ่เพื่อความอยู่รอด หรือถูกบีบให้ออกจากตลาดไป

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือ ยิ่งการแข่งขันทางอีวีรุนแรงมากขึ้นเท่าไร กลับเอื้อให้รายใหญ่ในอุตสาหกรรมอย่าง BYD และ CATL ค่อยๆ แข็งแกร่งขึ้น แต่รายเล็กกว่ากลับยิ่งถูกบีบให้ปิดกิจการ

ข้อมูลจากบริษัทวิจัย Benchmark Mineral Intelligence ในลอนดอนระบุว่า มีโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดยักษ์ถึง 19 โครงการในจีนถูกยกเลิก หรือเลื่อนออกไปในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ โดยโรงงานผลิตแบตฯ เหล่านี้หันมาควบรวมกิจการกัน

หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส รายงานว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นเพราะยอดขายรถอีวีทั่วโลกเริ่มชะลอตัว หลังจากเคยเติบโตแบบก้าวกระโดดที่เลขสองหลัก แต่ในปัจจุบัน อัตราการเติบโตในยุโรปและอเมริกาเหนือคาดว่าจะลดลงเหลือ 6% และ 7% ตามลำดับ ตามข้อมูลของ Rho Motion บริษัทที่ปรึกษาด้านห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้า

ในตอนนี้ ตลาดจีนแบ่งออกเป็น “สองกลุ่ม” อย่างชัดเจน กลุ่มแรกคือ ผู้เล่นรายใหญ่ เช่น CATL และ BYD ซึ่งครองตลาดแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าโลก และอีกกลุ่มคือ ผู้เล่นรายเล็กจำนวนมากที่เหลืออยู่ ซึ่งมีกำลังเงิน และความสามารถด้านต้นทุนที่น้อยกว่า

“อุตสาหกรรมจีนได้เข้าสู่การแข่งขันรอบใหม่แล้ว ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี และการอัปเกรดกำลังการผลิต โดยพื้นฐานแล้ว ผู้ที่ไม่สามารถตามทันเทรนด์ จะค่อยๆ ถูกขับออกจากตลาด” เควิน ชาง (Kevin Shang) นักวิเคราะห์ของบริษัทผู้ให้บริการข้อมูล Wood Mackenzie กล่าว

ระเบียบใหม่บีบรายย่อย

ไม่นานมานี้ รัฐบาลจีนได้ออกกฎระเบียบใหม่เพื่อแก้ปัญหาการผลิตล้นเกิน จนทำให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่รายย่อยต้องลดกำลังการผลิต พร้อมระงับโครงการจำนวนหนึ่งทั้งในจีน และต่างประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนได้กำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนให้สูงขึ้น ตั้งแต่ด้านความเข้มข้นพลังงาน ความหนาแน่นของพลังงาน อายุการใช้งาน และข้อกำหนดอื่นๆ โดยระเบียบนี้ทำให้บริษัทรายย่อยที่เน้นผลิตเป็นจำนวนมากแบบเดิม ไม่ง่ายอีกต่อไป พร้อมมีต้นทุนมาตรฐานการผลิตที่สูงขึ้น

นักวิเคราะห์จากธนาคาร Citi ให้ความเห็นว่า กฎระเบียบใหม่ดังกล่าวเป็นบวกต่อบริษัทผู้นำในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ เพราะทำให้คู่แข่งรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ยากขึ้นด้วยมาตรฐานทางเทคนิคที่สูงขึ้น

ถ้าเปรียบเทียบกับกีฬาวิ่ง ก็คล้ายการเพิ่มระดับความยากของการแข่งขัน ทำให้คนที่ฝึกซ้อมมาดีอยู่แล้ว และมีสายป่านยาวกว่า ยิ่งมีโอกาสชนะมากขึ้น

ผลที่ตามมาคือ ผู้เล่นรายใหม่สู้ไม่ได้ โดยในเดือนเม.ย. กลุ่มบริษัท Nanfang Black Sesame ผู้ผลิตอาหารบดรายใหญ่ที่สุดของจีนแจ้งนักลงทุนว่า ได้ระงับโครงการแบตเตอรี่มูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์ในมณฑลเจียงซี ทางตะวันออก โดยอ้างถึงการเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์ตลาดพลังงานใหม่ ทั้งที่บริษัทเพิ่งประกาศเปลี่ยนมาทำธุรกิจเก็บพลังงานเมื่อปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ข้อมูลจากสมาคมการจัดเก็บพลังงานของจีนระบุว่า ในเดือนเม.ย. มีบริษัทจีนมากกว่า 20 ราย เปิดเผยแผนการก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งใหม่ คาดว่าจะมีกำลังการผลิตต่อปีรวม 152 กิกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งเป็นจำนวนที่ “ลดลงถึง 55%” จากปีก่อนหน้า

บริษัทแบตฯ อาจเหลือรอดไม่ถึง 40 ราย

ในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ผู้ผลิตแบตเตอรี่รายเล็กกว่าของจีนต้องหันมาทบทวนแผนการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ ดังกรณีของบริษัท SVolt Energy Technology ซึ่งแยกตัวออกมาจากค่ายรถจีน Great Wall Motor และเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่อันดับ 7 ของจีน ได้ยกเลิกแผนการสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในภาคตะวันออกของเยอรมนีเมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา โดยอ้างถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการวางแผน ภาษี และเงินอุดหนุน รวมถึงการสูญเสียลูกค้ารายใหญ่

หยาง หงซิน (Yang Hongxin) ประธานบริษัท SVolt เตือนว่า ผู้ผลิตแบตเตอรี่อาจเหลือรอดไม่ถึง 40 รายภายในสิ้นปีนี้จากกระแสการควบรวมกิจการ โดยก่อนหน้านี้ ผู้ผลิตแบตเตอรี่กลุ่มเทียร์สอง และสามเข้าร่วมการแข่งขันด้านราคาเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด แต่ในปัจจุบัน แม้แต่ผู้เล่นรายใหญ่ก็ลดราคาลง

เคราะห์ซ้ำเข้าไปอีกเมื่อบริษัทต่างๆ ตั้งแต่ผู้ผลิตแบตเตอรี่ เหมืองลิเทียม ไปจนถึงผู้ผลิตขั้วไฟฟ้าแคโทด และแอโนด ต่างประสบปัญหาผลกำไรที่ลดลง เนื่องจากราคาแบตเตอรี่ตกต่ำ อันเกิดจากการขยายตัวมากเกินความจำเป็น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่พุ่งสูงขึ้นระหว่างปี 2564-2565

เห็นได้จาก “รายได้รวม” และ “กำไรสุทธิ” ของบริษัทจดทะเบียนในจีนแผ่นดินใหญ่ 107 รายในห่วงโซ่อุปทานแบตเตอรี่ลิเทียมของไตรมาสแรก อยู่ที่ 293,000 ล้านหยวน และ 17,000 ล้านหยวน ตามลำดับ ซึ่งลดลง 18% และ 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แต่ในอีกฝั่ง “ผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำ” เป็นที่คาดว่าจะยิ่งแข็งแกร่งขึ้น และขยายการลงทุน เนื่องจากผู้เล่นรายเล็กสู้ไม่ไหว ยอมถูกควบรวมกิจการหรือล้มหายไป นี่คือ สถานการณ์ตลาดแบตเตอรี่ในจีนขณะนี้ ซึ่งการขับเคี่ยวที่รุนแรง ได้ทำให้รายใหญ่ได้ผลประโยชน์ในที่สุด จากกำลังทุน เทคโนโลยี และทรัพยากรที่เหนือกว่า

อ้างอิง: ft, กรุงเทพธุรกิจ

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์  

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...