วาระความมั่นคง ‘โผทหาร’ค้ำบัลลังก์‘แพทองธาร’ ศึกปทุมวันวัดใจชิง'ผบ.ตร.'

หลังจากที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “แพทองธาร ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งคณะรัฐมนตรี 35 คน รวม 41ตำแหน่ง ขั้นตอนต่อไปนายรัฐมนตรี จะนำครม.เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณในวันที่ 6 ก.ย.

จากนั้นวันที่ 7 ก.ย. จะเป็นการประชุมครม.นัดพิเศษ เพื่อเห็นชอบนโยบายที่จะแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา คาดว่าการแถลงนโยบายรัฐบาลจะมีขึ้นในวันที่ 11 หรือ 12 ก.ย.2567 นี้ ก่อนเริ่มนับหนึ่งรัฐบาลแพทองธาร อย่างเป็นทางการ 

ทว่า ในห้วงเวลาแห่งการนับหนึ่งรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร นี้เอง มีการจับตาทั้งในแง่เสถียรภาพรัฐบาล 15 พรรค 325 เสียง ถือเป็นปึกแผ่นมั่นคง

โดยเฉพาะเกมในสภาฯ ซึ่งใช้เสียงโหวตไม่มีอะไรน่าห่วง เว้นเสียแต่จะเกิดเกมหักหลัง-หักดิบจากพรรคการเมืองบางพรรคในซีกรัฐบาล ถึงเวลานั้นก็อาจต้องไปลุ้นว่าฝ่ายไหนจะชิงเกมได้ก่อนกัน

ทว่า ที่ต้องจับตาคือ ปัจจัยแทรกซ้อนภายนอกสภาฯ โดยเฉพาะเสถียรภาพด้าน “ความมั่นคง” ที่จะเป็นอีกหนึ่งเสาค้ำที่สำคัญของรัฐบาล ยิ่งเวลานี้กำลังเข้าสู่ฤดูกาลแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งต้องแล้วเสร็จก่อนถึงวันเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ 

โดยเฉพาะวาระโยกย้ายที่ถูกจับตาเป็นพิเศษ ในส่วนของ “กระทรวงกลาโหม”  ในช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจภายในรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยจาก “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม คนเก่าไปสู่ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯและรมว.กลาโหมคนใหม่ 

ตอกย้ำชัดจากท่าที “บิ๊กทิน” อดีตรัฐมนตรี ผ่านการประชุมคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายชั้นนายพลกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีรายงานว่า “บิ๊กทิน” ได้เชิญ ผบ.เหล่าทัพ หารือเป็นรายบุคคล ก่อนเห็นชอบตามที่เหล่าทัพเสนอ

โดยตำแหน่งที่ถือว่าสะเด็ดน้ำ มีทั้งพล.อ.พล.อ.อุกฤษฎ์ บุญตานนท์ (ตท.24 ) ผู้ช่วย ผบ.ทบ.ถูกส่งไปเป็น รองปลัดกระทรวงกลาโหม เตรียมจ่อขึ้น ปลัดกระทรวงกลาโหม ปี 2568 ส่วน พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ(ตท.24) ผู้ช่วย ผบ.ทบ. เป็น รอง ผบ.ทหารสูงสุด จ่อเป็น ผบ.ทหารสูงสุด ปี 2568 เช่นเดียวกัน

กองทัพบก พล.อ. พนา แคล้วปลอดทุกข์( ตท.26 ) เป็น ผบ.ทบ. พล.อ.ณัฐวุฒิ นาคะนคร (ตท.24) รอง ผบ.ทบ พล.อ.วสุ เจียมสุ (ตท.25) ผู้ช่วย ผบ.ทบ. พล.ท.ชิษณุพงศ์ รอดศิริ (ตท.26)ผู้ช่วย ผบ.ทบ. พล.ท.ธงชัย รอดย้อย (ตท.25) เสธ.ทบ.

ทว่า มีปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ที่ระดับ“แม่ทัพภาค” มีความพยายามต่อรองเปลี่ยนชื่อ แม่ทัพภาคที่ 1 แม่ทัพภาคที่ 2 แม่ทัพภาคที่4 รวมถึงอีกหลายตำแหน่งในกองทัพภาคที่ 2แต่ พล.อ.เจริญชัย ยืนยันตามรายชื่อเดิม

ได้แก่ พล.ท. อมฤต บุญสุยา (ตท.27)แม่ทัพน้อยที่ 1 เป็น แม่ทัพภาคที่ 1 พล.ท. บุญสิน พาดกลาง (ตท.26)แม่ทัพน้อยภาคที่ 2 เป็น มทภ.2 พล.ท.กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ (ตท.23) แม่ทัพน้อยที่ 3 เป็น แม่ทัพภาคที่ 3 และ พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 เป็น มทภ. 4

 ผบ.ทร.เผือกร้อนในมือ“บิ๊กอ้วน”

ขณะที่ กองทัพเรือ เป็นเหล่าทัพใช้เวลามากที่สุดหลังปรากฎชื่อ พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ (ตท.23 )ที่ปรึกษาพิเศษ ทร. เป็น ผบ.ทร. เพราะอยู่นอก 5 ฉลามทัพเรือ และไม่ได้จบโรงเรียนนายเรือ แต่จบนายเรือเยอรมัน

ทั้งที่มีแคนดิเดตในตำแหน่งหลักหลายคน อยู่ในไลน์ เช่น พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ (ตท.23) ผู้ช่วย ผบ.ทร. พล.ร.อ. วรวุธ พฤกษารุ่งเรือง เสธ ทร.

ในขณะที่ พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข (ตท.25) รอง ผบ.ทร. ถูกส่งไปเป็น รอง ผบ.ทหารสูงสุด แต่ พล.ร.อ.อะดุง ยืนยันเสนอชื่อ พล.ร.อ.จิรพล เป็น ผบ.ทร. และรอให้มีการโปรดเกล้าฯ ครม.ชุดใหม่

ส่งผลให้การประชุมคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายชั้นนายพล เมื่อวันที่ 4 ก.ย. “บิ๊กทิน” รมว.กลาโหม คนเก่า ยังไม่ได้ลงนามบัญชีรายชื่อปรับย้ายทหารของเหล่าทัพที่ส่งไป ส่วน ผบ.เหล่าทัพ ลงนามเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว

ล่าสุดหลังมีการโปรดเกล้าฯ ครม.ชุดใหม่ เท่ากับว่าจะเป็นอำนาจของ“บิ๊กอ้วน”ภูมิธรรม เป็นผู้ลงนามต่อไป

“กม.สกัดรัฐประหาร”วาระร้อนสนามไชย

เหนือไปกว่านั้น ยังต้องจับตาอีก“วาระร้อนสนามไชย”  ในห้วงเปลี่ยนผ่านอำนาจภายในพรรคเพื่อไทย นั่นคือ การเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…) พ.ศ…. และร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่…) พ.ศ…. หรือ “กฎหมายสกัดรัฐประหาร” เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร 

กฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ ฝ่ายการเมืองมีอำนาจ"หยุดยั้งการทำรัฐประหาร" โดยให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งพักราชการทหารที่ใช้กำลังยึด หรือควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาลได้ รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล

ปฐมบทเรื่องนี้ เกิดขึ้นในยุคแรกเริ่มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย มี “สุทิน คลังแสง” เป็นรัฐมนตรี ท่ามกลางการจับตาจะส่งผลกระทบไปถึงสัมพันธภาพ ระหว่าง “กองทัพ” และ “การเมือง” ในวันที่มีเสนาบดีกระทรวง เป็น “พลเรือน” หรือจะเป็นจุดเสี่ยงต่อการหักโค่นของเสาค้ำยันรัฐบาลเสานี้หรือไม่อย่างไร

แถมล่าสุด มีการ “ปล่อยข่าว” ในทำนองว่า กองทัพรู้สึกไม่พอใจบทบาทของฝ่ายการเมืองที่ล้ำเส้น เสมือนเป็นการแหย่เสือ โดยการเสนอร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ จนสร้างความไม่พอใจให้กับผู้นำเหล่าทัพ และเป็นเหตุผลสำคัญทำให้ผู้นำเหล่าทัพหลายคนไม่เข้าร่วมในการประชุมสภากลาโหมครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งอาจเป็นสัญญาณบอกเหตุร้าย หากฝ่ายการเมืองเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป

ร้อนถึง “รัฐมนตรีสุทิน” ที่ต้องชิงสยบลือ ออกมาชี้แจงความเป็นจริง ทิ้งทวนการทำหน้าที่รัฐมนตรีว่า การประชุมสภากลาโหมวันดังกล่าว มีผู้นำเหล่าทัพเข้าร่วมประชุมกันเกือบครบ ยกเว้นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก ที่ติดภารกิจในต่างประเทศ และได้ทำหนังสือขอลาประชุมอย่างเป็นทางการมาแล้ว พร้อมจัดส่งผู้แทนฯเข้าร่วมประชุมตามปกติ ไม่ได้มีปัญหาที่ว่าผู้นำเหล่าทัพรู้สึกไม่พอใจแต่อย่างใด

เป็นเช่นนี้ย่อมต้องจับตาในวันเปลี่ยนถ่ายอำนาจภายในกระทรวงสนามไชย “ผู้มีอำนาจ” จะมีทิศทางในเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร

 

"ปทุมวัน" วัดใจประธานก.ตร.“3 แคนดิเดต” ชิงผบ.ตร.

อีกหนึ่ง “เสาความมั่นคง” ที่ต้องจับตาหนีไม่พ้นโผโยกย้ายปทุมวัน ซึ่งเป็นหน่วยงานขึ้นตรงสำนักนายกรัฐมนตรี  โดยเฉพาะการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ จากเดิมที่นายกฯเศรษฐา ทวีสิน นายกฯคนเก่า กำกับดูแลสีกากีด้วยตนเอง 

ฉะนั้นในทางดุลอำนาจใหม่ จะเป็นนายกฯ หรืออาจเป็นรองนายกฯ คนใดคนหนึ่ง ยังต้องจับตาผู้ที่จะมาทำหน้าที่ นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ “ประธานก.ตร.” ในการทำโผแต่งตั้ง “สีกากี”

สิ้นเดือนนี้ “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จะเกษียณอายุราชการ และก็จะต้องมีการคัดเลือก และแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ 

แต่เป็นที่รู้กันว่า กระบวนการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจประจำปีนี้ เพื่อทดแทนข้าราชการตำรวจที่จะเกษียณอายุราชการ ถือว่าล่าช้าจากปกติที่จะต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนส.ค.

ในปีนี้การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจจะต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.ตำรวจปี 2565 และต้องเป็นไปตามกฎ ก.ตร. ซึ่งก็มีรายละเอียดเรื่องวันเวลา การกำหนดความอาวุโส ที่นายกฯ คนเก่าเพิ่งลงนามไปเมื่อวันที่ 5 เม.ย.2567 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ ต่อเมื่อพ้น 180 วันนับตั้งแต่ที่วันลงนาม จึงจะใช้กฎนี้ได้ซึ่งจะครบในวันที่ 2 ต.ค. ดังนั้นกระบวนการแต่งตั้ง ผบ.ตร. และข้าราชการทุกระดับ จะเริ่มต้นวันที่ 3 ต.ค. เป็นต้นไป

โดยตามหลักเกณฑ์ผู้ที่จะเป็นผบ.ตร.กำหนดไว้ 2 เงื่อนไข คือ

1.ต้องมียศเป็นพลตำรวจเอก 2. ตำแหน่งต้องเป็นรอง ผบ.ตร. หรือ จเรตำรวจ ซึ่งถือเป็นยศเทียบเท่า โดยนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้เสนอชื่อคัดเลือก ผบ.ตร. ซึ่งจะต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ ตามกฎหมายกำหนด อย่างเรื่องความอาวุโส ความสามารถ ประสบการณ์งานสืบสวนสอบสวนป้องกันปราบปราม

ขณะนี้ที่ 3 ชื่อ แคนดิเดตที่ถูกพูดถึง ณ ขณะนี้  จะมีทั้งพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. พล.ต.อ. ไกรบุญ ทรวดทรง จเรตำรวจ และ พล.ต.อ. ชธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร.

ส่วนใครจะวิน-ใครจะวืด ก็ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยการเมืองโดยเฉพาะสัญญาณจาก “ผู้มีอำนาจ” ผ่านประธานก.ตร.คนใหม่  จะมีม้ามืดแหกโผเข้าวินหรือไม่ยังต้องลุ้น

โดยมีรายงานว่า พรรคเพื่อไทยจะคุมอำนาจเบ็ดเสร็จด้วยการส่ง “บิ๊กอ้วน” ภูมิธรรม รมว.กลาโหม นั่งประธานก.ตร.อีกหนึ่งตำแหน่ง

วาระร้อน ความมั่นคง เสาค้ำ“รัฐบาลแพทองธาร”ผลจะออกมาเป็นอย่างไร จะได้รู้กันชัดเจน หลังนายกฯแถลงนโยบาย 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...