‘ท่องเที่ยวบูม’ ทำพิษ 'ธุรกิจบัตรเครดิตญี่ปุ่น' ขาดทุนยับ

เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติแห่ไปเที่ยวญี่ปุ่น การใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งการชอปปิงและการรับประทานอาหารของนักท่องเที่ยว ทำบริษัทบัตรเครดิตญี่ปุ่นปวดหัวหนัก เพราะมีรายจ่ายค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตให้ผู้ออกบัตรต่างประเทศ และผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรเครดิตระหว่างประเทศนั้นมากกว่ารายรับ

นิกเกอิเอเชียรายงานว่า เมื่อนำบัตรเครดิตที่ออกในต่างประเทศมาใช้ในญี่ปุ่น บริษัทบัตรเครดิตญี่ปุ่นที่รับทำธุรกรรมให้กับร้านค้าจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับผู้ออกบัตรต่างประเทศ และบริษัทบัตรเครดิตระหว่างประเทศ เช่น วีซ่า (Visa) และมาสเตอร์การ์ด (Mastercard)

สิ่งที่น่าปวดหัวคือ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวมีมูลค่ามากกว่าค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากร้านค้าในญี่ปุ่นเสียอีก ทำให้บริษัทบัตรเครดิตขาดทุนและอาจขาดทุนสูงสุด 30,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ หรือขาดทุนจากระดับในปี 2566 มากกว่า 50%

ค่าธรรมเนียมรีดกำไร

เบื้องหลังธุรกิจบัตรเครดิตมีความซับซ้อนมาก หลายบริษัท เช่น ซูมิโตโม มิตซุย การ์ด และมิตซูบิชิ ยูเอฟเจนิคอส ที่ออกบัตรเครดิตในญี่ปุ่น มีอัตราการทำกำไรเพียง 0.2% เท่านั้น เนื่องจากบางกรณีบริษัทเหล่านี้เสียค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่ได้รับจากร้านค้า โดยเฉพาะการทำธุรกรรมของบัตรเครดิตที่ออกในต่างประเทศ

ตัวอย่างเช่น หากบริษัทบัตรเครดิตญี่ปุ่นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมราว 1% ให้กับผู้ออกบัตรต่างประเทศ และจ่ายค่าธรรมเนียม 0.8% ให้กับแบรนด์บัตรเครดิตอย่างวีซ่าหรือมาสเตอร์การ์ด จะส่งผลให้ธุรกิจขาดทุน 0.7% ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายด้านระบบและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกมาก

ผลสำรวจจากบริษัทบัตรเครดิตทั้ง 7 แห่ง บ่งชี้ด้วยว่า ต้นทุนการใช้จ่ายค่าธรรมเนียมให้กับบัตรเครดิตต่างประเทศเป็นปัจจัยที่บั่นทอนกำไรของธุรกิจ

นิกเกอิเผยว่า บัตรบริษัทบัตรเครดิตญี่ปุ่นหลายราย ต้องพึ่งพาเครือข่ายการชำระเงินของแบรนด์บัตรเครดิตต่างประเทศ ยกเว้น บัตรเครดิตเจซีบี และบริษัทบัตรเครดิตบางรายในญี่ปุ่นที่มีแบรนด์เป็นของตนเอง

แหล่งขาวบริษัทบัตรเครดิตญี่ปุ่นรายหนึ่ง บอกว่า “พวกเราไม่มีทางเลือกนอกจากต้องยอมรับข้อกำหนดของค่าธรรมเนียม”

สัดส่วนธุรกรรมทำพิษ

แม้บริษัทบัตรเครดิตญี่ปุ่นมีนโยบายค่าธรรมเนียมแตกต่างไปในแต่ละภูมิภาค และอุตสาหกรรม แต่ในตลาดญี่ปุ่น บริษัทตั้งค่าธรรมเนียมโดยมีสมมติฐานว่าบัตรเครดิตญี่ปุ่นจะมีสัดส่วนการใช้งานมากกว่า 90% ของมูลค่าการทำธุรกรรม และบริษัทตั้งค่าธรรมเนียมต่ำ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับการใช้เงินสด และการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือได้

แต่เมื่อชาวต่างชาติมาเยือนญี่ปุ่น สัดส่วนของมูลค่าการทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิตต่างชาติจึงเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทบัตรเครดิตญี่ปุ่นขาดทุนมากขึ้น

บริษัทบัตรเครดิตญี่ปุ่นแห่งหนึ่งบอกว่า ธุรกิจขาดทุนเพิ่มขึ้นจากหลายพันล้านเยน สู่ระดับหมื่นล้านเยนภายใน 1 ปี ขณะที่ร้านค้าบางแห่ง เช่นร้านเสื้อผ้า และโรงแรมระดับไฮเอนด์ มียอดขาดทุนมากกว่ารายรับจากการทำธุรกรรมบัตรเครดิตในประเทศ

ขณะที่ผลสำรวจพบว่า บริษัทบัตรเครดิตญี่ปุ่น 7 รายจาก 8 ราย ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน และ 6 รายบอกว่ากำลังพิจารณาหรือเริ่มปรับค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตต่างชาตินั้น แตกต่างจากการตั้งราคาแบบสองขั้น “Two-tiered pricing” ที่เป็นการกำหนดราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้นแค่กับกลุ่มนักท่องเที่ยว เพราะค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตที่สูงขึ้นจะกระทบกับร้านค้าและร้านอาหาร ไม่ได้กระทบต่อการใช้บัตรเครดิตของชาวต่างชาติ และหากร้านค้าเลือกปฏิเสธจ่ายค่าธรรมเนียมที่แพงขึ้นให้กับบริษัทบัตรเครดิต และเลิกรับบัตรเครดิตที่ออกในต่างประเทศ อาจทำให้พวกเขาพลาดโอกาสโกยจากรายได้ของการชอปปิงของผู้คนที่มาท่องเที่ยวในญี่ปุ่น

เชนร้านค้าบางแห่งเผยว่า พวกเขาได้รับข้อเสนอจากบริษัทบัตรเครดิตให้ขึ้นค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ใช้บัตรที่ออกในต่างประเทศ และอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว ขณะที่โรงแรมหรูแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียวปฏิเสธปรับใช้อัตราค่าธรรมเนียมสองขั้น

“การขึ้นค่าธรรมเนียมแค่กับคนที่ใช้บัตรเครดิตต่างประเทศเป็นเรื่องท่ี่ยากมาก แต่การพิจารณาข้อเสนอขึ้นค่าธรรมเนียมสำหรับบัตรทุกประเภท แทนการจงเจาะไปที่บัตรใดบัตรหนึ่งนั้นง่ายกว่ามาก” ตัวแทนโรงแรมกล่าว

ตามข้อมูลจากฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระบุว่า ญี่ปุ่นอาจมีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 35 ล้านคนในปีนี้ และการใช้จ่ายการเดินทางอาจแตะระดับ 8 ล้านล้านเยน

 

อ้างอิง: Nikkei Asia

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...