78 ปี ปชป.แพ้เลือกตั้ง 15 ครั้ง ยุค‘เฉลิมชัย’ ฝ่าขนบจับมือ 'เพื่อไทย'

พรรคประชาธิปัตย์ บอกเล่าประวัติศาสตร์ผ่านเว็บไซต์ของพรรค ถึงห้วงเวลาการต่อสู้อยู่ 8 ยุค ไล่ตั้งแต่ยุคที่มีการต่อสู้กับเผด็จการ 

ยุคพรรคตกต่ำ ต้องฟื้นฟูพรรค เชิดชูประชาธิปไตย ยุคทองการเป็นฝ่ายค้านที่มีประสิทธิภาพ ต่อสู้เผด็จการรัฐสภา ยุคที่ประเทศไทยมั่นใจประชาธิปัตย์

แต่ถ้าพลิกสถิติที่น่าจดจำ จะพบว่า “ประชาธิปัตย์” คือพรรคการเมืองที่พ่ายแพ้มากถึง 15 ครั้งในสนามเลือกตั้งทั่วไป

“ประชาธิปัตย์” แพ้เลือกตั้งบ่อย แบบไม่อยากจดจำ เพราะเป็นพรรคเก่าแก่ที่ผ่านการต่อสู้ทางการเมืองมีอายุยาวนานที่สุด 78 ปี เกือบ 8 ทศวรรษ ถือฤกษ์วันจักรีเป็นวันก่อตั้งพรรค 6 เมษายน 2489 มี พ.ต.ควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็น เลขาธิการพรรคคนแรก

เคยคว่ำบาตรเลือกตั้งถึง 3 ครั้ง ชนะเลือกตั้งเพียง 6 ครั้ง สร้างนายกรัฐมนตรีที่ชนะเลือกตั้งได้ 3 คนคือ ควง อภัยวงศ์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ชวน หลีกภัย

มีเพียง “อภิสิทธิ์” คนเดียวที่นำพรรคแพ้เลือกตั้งมาตลอด แต่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังนำพรรคประชาธิปัตย์พลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ เมื่อปลายปี 2551

ส่วนผู้นำพรรคที่ไร้วาสนาขึ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แม้จะนำพรรคชนะเลือกตั้ง คือ “พิชัย รัตตกุล” พลาดตำแหน่งสูงสุดเพราะพรรคร่วมรัฐบาลตกลงปลงใจให้ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” มาเป็นนายกฯ คนนอกเมื่อปี 2529

พรรคประชาธิปัตย์ยังขึ้นชื่อ ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นพรรคที่มีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือ ม.ร.ว.เสนีย์ 1 ครั้ง ชวน 3 ครั้ง บัญญัติ 1 ครั้ง อภิสิทธิ์ 3 ครั้ง

เหล่านี้คือ สถิติที่่ถูกบันทึกไว้ตลอดประวัติศาสตร์การผ่านสนามเลือกตั้งของ “ประชาธิปัตย์”

ประวัติศาสตร์ของ “ประชาธิปัตย์” ชื่อที่มีความหมายลึกซึ้งว่า “ประชาชนเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย”

ตลอด 78 ปี พรรคประชาธิปัตย์เคยส่งผู้สมัครลงชิงเก้าอี้ ส.ส. เพื่อหวังเข้าไปเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นับแต่ปี 2491-2566 ผ่านกับคำว่า “เลือกตั้ง” มาแล้ว 24 ครั้ง

แบ่งเป็น ชนะเลือกตั้ง 6 ครั้ง แพ้เลือกตั้ง 15 ครั้ง บอยคอยคว่ำบาตรเลือกตั้ง 3 ครั้ง

  • อ่านต่อ เปลี่ยน‘ปชป.’ เป็น'พรรคมิตร' ปิดฉาก 23 ปี ศัตรู'ขั้วทักษิณ' ?
  • อ่านต่อ : ปิดตำนาน 'ปชป.- เพื่อไทย' ศัตรูคู่แค้น สู่พันธมิตร เกมนี้ 'ทักษิณ' มีชัย

1.เลือกตั้ง 29 มกราคม 2491 : ประชาธิปัตย์ ชนะเลือกตั้งครั้งแรก ได้ ส.ส.53 ที่นั่งจาก 99 ที่นั่ง เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดย พ.ต.ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

2.เลือกตั้ง 5 มิถุนายน 2492 : เป็นการเลือกตั้ง สส.เพิ่มเติมตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.40 ที่นั่งแต่ไม่ได้เป็นนายกฯ ทำให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เป็นนายกฯ

3. เลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2495 : ประชาธิปัตย์ คว่ำบาตรการเลือกตั้ง โดยอ้างเหตุรัฐประหาร 29 พฤศจิกายน 2494 ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ยุบพรรคการเมือง บรรยากาศไม่เป็นประชาธิปไตย

4. เลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2500 : ประชาธิปัตย์ แพ้เลือกตั้ง ได้ สส. 30 ที่นั่งจาก 160 ที่นั่ง พ่ายแพ้พรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ได้ 86 ที่นั่ง

5.เลือกตั้ง15 ธันวาคม 2500 : ประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านได้ 39 ที่นั่ง จาก 160 ที่นั่ง แพ้พรรคสหภูมิ ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเพื่อให้จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี

6.เลือกตั้ง 10 กุมภาพันธ์ 2512 : ประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส. 55 ที่นั่ง จาก 219 ที่นั่ง พ่ายแพ้เลือกตั้งให้กับพรรคสหประชาไทของ จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค

7.เลือกตั้ง 26 มกราคม 2518 :  ม.ร.ว.เสนีย์ นำประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้ง กวาด ส.ส.72 ที่นั่งจาก 269 ที่นั่ง ได้เป็นนายกฯ สมัยที่ 2 แต่กลับแพ้โหวตในสภาฯ หลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ทำให้ พรรคกิจสังคม สส. 18 ที่นั่ง รวมเสียงในสภาให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรค ขึ้นเป็นนายกฯ

8.เลือกตั้ง 4 เมษายน 2519 : ชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.114 ที่นั่ง จาก279 ที่นั่ง ได้จัดตั้งรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3

9.เลือกตั้ง 22 เมษายน พ.ศ. 2522 : พ.อ.ถนัด คอมันตร์ ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์นำพรรคครั้งแรกแพ้เลือกตั้ง ได้เป็นอันดับที่ 3 ได้ 33 ที่นั่งจาก 391 ที่นั่ง

10.เลือกตั้ง 18 เมษายน 2526 :  ผู้นำพรรคคนใหม่ “พิชัย รัตตกุล” นำพรรคแพ้เลือกตั้ง ได้ ส.ส. 56 ที่นั่งจาก324 ที่นั่ง เป็นพรรคร่วมรัฐบาล สนับสนุน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายก

11.เลือกตั้ง 27 กรกฎาคม 2529 : “พิชัย” นำประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งอันดับ1 ได้ ส.ส.100 ที่นั่งจาก 347 ที่นั่ง ทว่าพรรคร่วมรัฐบาลตกลงกันสนับสนุน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

12.เลือกตั้ง 24 กรกฎาคม 2531 : แพ้เลือกตั้ง ได้ ส.ส. 48 ที่นั่ง จาก357 ที่นั่ง เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเห็นชอบให้ “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” หัวหน้าพรรคชาติไทยเป็นนายกฯ

13.เลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535 : “ชวน หลีกภัย” นำพรรคครั้งแรก แพ้เลือกตั้งได้อันดับ4 เป็นฝ่ายค้าน ได้ ส.ส.44 ที่นั่ง จาก 360 ที่นั่ง พรรคสามัคคีธรรม แกนนำรัฐบาล เชิญ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

14.เลือกตั้ง 13 กันยายน 2535 : หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ชนะเลือกตั้ง ได้ ส.ส.79 ที่นั่ง จาก 360 ที่นั่ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล “ชวน หลีกภัย” ขึ้นเป็นนายกฯ ครั้งแรก

15.เลือกตั้ง 2กรกฎาคม 2538 : แพ้เลือกตั้งได้ ส.ส.86 ที่นั่งจาก391 ที่นั่งแพ้เลือกตั้งให้พรรคชาติไทย ทำให้ “บรรหาร ศิลปอาชา” ขึ้นเป็นนายกฯ

16.เลือกตั้ง 17 พฤศจิกายน 2539 : ได้ ส.ส.123 ที่นั่ง จาก 393 ที่นั่ง พ่ายแพ้เลือกตั้งให้พรรคความหวังใหม่ที่ชนะเลือกตั้ง 125 สส. พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกฯ

17.เลือกตั้ง 6 มกราคม 2544 : “ชวน”นำพรรคแพ้เลือกตั้ง ได้ 128 สส. จาก 500 ที่นั่ง แพ้ให้พรรคไทยรักไทยที่ลงเลือกตั้งครั้งแรก ทำให้ “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกฯ ครั้งแรก

18.เลือกตั้ง 6 กุมภาพันธ์ 2548 : “บัญญัติ บรรทัดฐาน” หัวหน้าพรรคนำพรรคแพ้เลือกตั้ง ได้ 96 สส.จาก 500 ที่นั่ง พ่ายแพ้ให้พรรคไทยรักไทย

19.เลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 (โมฆะ) : ประชาธิปัตย์ ยุค “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคนำ 3 พรรคฝ่ายค้านบอยคอตเลือกตั้ง

20.เลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 : “อภิสิทธิ์” นำพรรคลงเลือกตั้งครั้งแรกได้ ส.ส.165 ที่นั่ง ถือเป็นยอด สส.ที่มากที่สุดของพรรคตั้งแต่ก่อตั้งพรรค แต่ยังพ่ายแพ้ให้พรรคพลังประชาชน พรรคแถวสองของ “ไทยรักไทย” ทำให้ “สมัคร สุนทรเวช” เป็นนายกฯ

21.เลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 : แพ้เลือกตั้งได้ ส.ส.159 ที่นั่ง จาก 500 ที่นั่ง พ่ายแพ้ให้พรรคเพื่อไทย “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ได้เป็นนายกฯ

22.เลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 (โมฆะ) : “อภิสิทธิ์” นำพรรคบอยคอตเลือกตั้งเป็นครั้งที่สอง

23.เลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 : หลัง คสช.ยึดอำนาจรัฐประหาร “อภิสิทธิ์” นำพรรคลงเลือกตั้งรอบที่ 3 แพ้เลือกตั้ ได้ 53 สส. เป็นพรรคร่วมรัฐบาลสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ สมัย 2

24.เลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 : ยุค “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” นำพรรคแพ้เลือกตั้งยับเยิน ได้ สส.น้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ 25 ที่นั่ง นับตั้งแต่พรรคเคยได้ สส.ต่ำสุด 30 คนเมื่อปี 2500

หัวหน้า ปชป.4 คนชนะ 4 คนพ่ายแพ้

“ประชาธิปัตย์” มีหัวหน้าพรรค 4 คน ชนะเลือกตั้ง คือ ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคคนที่ 1 ชนะ 2 ครั้ง ( 29 ม.ค. 2491/ 5 มิ.ย. 2492) บอยคอต 1 ครั้ง (2495) แพ้ 2 ครั้ง (26 ก.พ.2500/ 15 ธ.ค.2500)

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคคนที่ 2 ชนะ 2 ครั้ง ( 26 ม.ค. 2518 /4 เม.ย. 2519) แพ้ 1 ครั้ง (10 ก.พ. 2512)

พิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคคนที่ 4 ชนะ 1 ครั้ง ( 27 ก.ค. 2529) แพ้ 2 ครั้ง (18 เม.ย. 2526/ 24 ก.ค. 2531)

ชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคคนที่ 5 ชนะ 1 ครั้ง (13 ก.ย.2535) แพ้ 4 ครั้ง (22 มี.ค.2535/ 2 ก.ค. 2538 / 17 พ.ย.2539 / 6 ม.ค. 2544)

ขณะที่หัวหน้าพรรค 4 คน ถูกบันทึกให้เป็นผู้นำพรรคผู้พ่ายแพ้ คือ พ.อ.ถนัด คอมันตร์ หัวหน้าพรรคคนที่ 3 แพ้ 1 ครั้ง (22 เม.ย. 2522) บัญญัติ บรรทัดฐาน หัวหน้าพรรคคนที่ 6 แพ้ 1 ครั้ง (6 ก.พ. 2548)

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนที่ 7 แพ้ 3 ครั้ง (23 ธ.ค. 2550 / 3 ก.ค. 2554 / 24 มี.ค. 2562) บอยคอตเลือกตั้ง 2 ครั้ง (2 เม.ย. 2549 / 2 ก.พ. 2557)

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคคนที่ 8 แพ้ 1 ครั้ง (14 พ.ค. 2566)

ยุค "เฉลิมชัย" ฝ่าขนบ ปชป.จับมือ "เพื่อไทย

ด้วยสภาพ “ประชาธิปัตย์” ขาลงตกต่ำสุดขีด “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” หัวหน้าพรรคคนที่ 9 ยึดกุม สส.ในพรรคได้ถึง 21 เสียง เข้ามาดำรงตำแหน่ง 9 ธันวาคม 2566 -ปัจจุบัน ยังไม่เคยนำพรรคประชาธิปัตย์ลงสู้ศึกเลือกตั้งใหญ่

คนประชาธิปัตย์ที่ผูกพันกับพรรคยังตั้งคำถามถึงอนาคตทางการเมืองของพรรคเก่าแก่ถึงการจับมือกับ “เพื่อไทย” ขณะที่ “อภิสิทธิ์” เลือกกอดอุดมการณ์ เดินออกจากพรรคในที่สุด

“ชวน-บัญญัติ-อภิสิทธิ์-จุรินทร์” 4 ผู้นำเคยร่วมกอดคอผนึกกันต่อสู้ทางการเมืองกับ “ไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย”

แต่ “ประชาธิปัตย์” ยุค “เฉลิมชัย” ใช้มติพรรคฝ่าขนบพรรคประชาธิปัตย์ที่ผู้นำจิตวิญญาณพรรคเคยยึดถือมา 23 ปีไปจับมือเป็นพันธมิตรกับ “เพื่อไทย”

ยุค “เฉลิมชัย” จะนำ “ประชาธิปัตย์” กลับมารุ่งเรือง ทรงตัวหรือตกต่ำคงต้องรอการพิสููจน์ต่อไป

แต่ชื่อ “เฉลิมชัย” ได้ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นผู้นำพรรคสีฟ้าในรอบ 23 ปีคนแรก ที่เปลี่ยนจุดยืน ไม่เอา “พรรคทักษิณ”

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...