สตรีและเด็กผู้หญิง : สมการสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน | World Wide View

การส่งเสริมให้เกิดสังคมที่ครอบคลุมเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน นำพาประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ

หลังจากที่วุฒิสภาไทยผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นก้าวสำคัญ ที่สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการอันน่าชื่นชมของสังคมไทยในการเปิดรับความหลากหลาย และมุ่งมั่นสู่ความเท่าเทียมอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์อันงดงามให้กับประเทศไทยที่พร้อมจะ ก้าวไปข้างหน้าในฐานะจุดหมายปลายทางที่เป็นมิตรสำหรับทุกคน (Pride Friendly Destination) รวมถึงการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยและคนไทยพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มจากทั่วโลกอย่างเปิดกว้างและเป็นธรรม

หนึ่งในหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) อยู่ที่การให้ความสำคัญกับความหลากหลายและการไม่แบ่งแยก โดยเฉพาะ “สตรีและเด็กผู้หญิง” ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ว่าด้วยเรื่อง Gender Equality หรือ ความเท่าเทียมทางเพศ มีเป้าหมายหลักเพื่อบรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิงทุกคน

ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ผู้ชายเก่งเลข ผู้หญิงเก่งภาษา” ปฏิเสธไม่ได้สิ่งเหล่านี้อาจเป็นภาพจำ ของใครหลายคน เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันทุกเพศทุกวัย ระบบการศึกษาจึงควรได้รับการปรับเปลี่ยนเนื้อหาเรื่องเพศให้ทันสมัย และลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยเหตุนี้ UNICEF หรือ กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ได้ออกแนวคิด “Gender Transformative education” หรือ “การศึกษาแบบปรับกระบวนทัศน์ใหม่ทางเพศ” เพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเปลี่ยนทัศนคติและโครงสร้างสังคมที่ก่อให้เกิด การเลือกปฏิบัติ

หนึ่งในวิธีการคือ การปรับหลักสูตรการสอนให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลก มุ่งเน้นที่การลบภาพจำเดิมๆ เกี่ยวกับเพศ ค้นหาเครื่องมือหรือสร้างแนวทางการเรียนรู้แก่เด็กแบบใหม่ ๆ สร้างแนวทางการเรียนรู้แบบใหม่ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครู รวมถึงการผสานความร่วมมือสร้างพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน

ทั้งนี้ ในรายงาน UNICEF ได้เสนอ 7 แนวทางที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาระบบการศึกษา ได้แก่ (1) นโยบายของภาครัฐ (2) แนวทางการสอนของครู (3) สภาพแวดล้อมในโรงเรียน (4) การมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน (5) ภาวะผู้นำในชุมชน (6) การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วยเสีย และ (7) การประเมินผลลัพธ์ของแผนปฏิบัติการทั้งหมดนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่มีอิทธิพลสำคัญต่อการศึกษา ตั้งแต่รัฐ ผู้กำหนดนโยบาย ภาคธุรกิจ ชุมชน โรงเรียน และนักเรียนทุกคน (ท่านผู้อ่านสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้ที่ https://www.unicef.org/reports/gender-transformative-education)

ไม่ใช่แค่สตรีและเด็กผู้หญิงเท่านั้น สหประชาชาติยังส่งเสริมความเสมอภาคสำหรับ “ทุกคน” โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) สถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือศศินทร์ และ Workplace Pride ร่วมมือกันพัฒนาและเปิดตัวชุดเครื่องมือสนับสนุนธุรกิจไทยในการสร้างและส่งเสริมสถานที่ทำงานที่โอบรับความหลากหลายและความเท่าเทียม 

ชุดคู่มือนี้ใช้ชื่อว่า “คู่มือเรียนรู้วิธีสร้างการมีส่วนร่วมสำหรับองค์กรและภาคธุรกิจ” หรือ “Inclusion Toolkit for Organizations and Business” เป็นคู่มือที่จะช่วยให้บริษัทต่าง ๆ มีกลยุทธ์และแนวปฏิบัติเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ทุกคนรู้สึกมีคุณค่า ได้รับความเคารพ ตลอดจนเกื้อหนุนให้แต่ละปัจเจกบุคคลสามารถมีมุมมองและส่วนร่วมในการทำงานได้อย่างเต็มที่

การส่งเสริมความเท่าเทียมและการสร้างสังคมที่ครอบคลุมเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม การปรับเปลี่ยนระบบการศึกษา หรือการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เท่าเทียม ล้วนเป็นก้าวสำคัญที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ การร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างสังคมที่ทุกคนได้รับการเคารพและมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง “เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืน คือการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...