เปิดครบคำวินิจฉัยไม่ฟ้องอาญา ‘พิชิต’ จบที่ ‘อัยการ’ ยังไม่ถึงมือ ‘ชัยเกษม’

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับมีคำสั่งให้ “คณะรัฐมนตรี” พ้นทั้งคณะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 219 ส่งผลให้ต้องมีการโหวตเลือกนายกฯกันใหม่ในสภาผู้แทนราษฎร โดยกระแสข่าวตั้งช่วงเย็นวานนี้ แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลได้ไปหารือกันที่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” เตรียมผลักดัน “ชัยเกษม นิติสิริ” 1 ในบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯของ “พรรคเพื่อไทย” เป็นนายกฯคนที่ 31 นั้น

เกิดกระแสต่อต้านอย่างขวาง โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น “พรรคภูมิใจไทย-พรรคชาติไทยพัฒนา-พรรครวมไทยสร้างชาติ” ที่แม้จะแถลงข่าวยืนยันว่าสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯจาก “เพื่อไทย” แต่ไม่สนับสนุนบุคคลที่มีแนวคิดแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ส่งผลให้เกิดการขุดคุ้ยกรณี “ชัยเกษม” เมื่อครั้งเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย เมื่อปี 2564 เคยออกแถลงการณ์ “รับลูก” พร้อมแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในช่วงที่ “ม็อบราษฎร” ยังกระแสสูง ทว่าเกิดกระแสตีกลับเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ขณะนั้นยังลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ต้องโพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย ยืนยันว่ากฎหมายมาตรา 112 ไม่เคยเป็นปัญหา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ มันเกิดจากการปฎิบัติที่ไม่ถูกต้อง เพื่อลดดีกรีความดราม่าลงในทันที หลังจากนั้นเรื่องนี้ก็เงียบหายไป

แต่ประเด็นที่หลายคนสนใจยิ่งกว่านั้นคือ “ชัยเกษม” ในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง “อัยการสูงสุด” (อสส.) ระหว่าง 1 ต.ค. 2550-30 ก.ย. 2552 อยู่ในช่วงเกิดเหตุการณ์สะเทือนกระบวนการยุติธรรมพอดี นั่นคือ “คดีถุงขนม 2 ล้านบาท” ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งลงโทษจำคุก 6 เดือน “พิชิต ชื่นบาน” ทนายความประจำตระกูลชินวัตร กับพวกรวม 3 คน ข้อหาละเมิดอำนาจศาล แต่คดี “ติดสินบนเจ้าพนักงาน” อัยการมีความเห็นไม่สั่งฟ้องในทางอาญา แต่อย่างใด

ทว่าข้อเท็จจริงของเรื่องนี้คือ สำนวนดังกล่าว “ในทางการ” ยังไม่ถึงมือ “ชัยเกษม” วินิจฉัยชี้ขาด เพราะเมื่อเกิดคดีดังกล่าวขึ้น เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2551 ตัวแทนสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ นายพิชิต ชื่นบาน กับพวกรวม 3 คน แก่ สน.ชนะสงคราม กล่าวหาว่า ร่วมกันให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ โดยผู้ต้องหาทั้งหมดถูกคุมขังตามคำสั่งของศาลฎีกาฯ ในข้อหาละเมิดอำนาจศาลอยู่

โดยบทสรุปของผลการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ลงนามโดย พ.ต.ท.สุมเธ จิตต์พาณิชย์ รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน สน.ชนะสงคราม และ ร.ต.อ.พรเลิศ รัตนคาม พนักงานสอบสวน (สบ1) สน.ชนะสงคราม (ยศ และตำแหน่งขณะนั้น) เห็นว่า คณะพนักงานสอบสวนพิจารณาจากหลักฐาน ทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร และพยานวัตถุแล้ว มีความเห็นว่า การกระทำของผู้ต้องหาที่ 3 (นาย ธ. หนึ่งในลูกทีมทนายของนายพิชิต ผู้ส่งมอบถุงกระดาษให้เจ้าหน้าที่ศาล) ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144 เมื่อผู้ต้องหาที่ 3 ไม่มีความผิด ผู้ต้องหาที่ 1 (นายพิชิต) และ 2 จึงไม่อาจเป็นตัวการร่วมกับผู้ต้องหาที่ 3 ที่จะกระทำความผิดตามตามมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้

ประกอบกับผู้ต้องหาที่ 1, 2, 3 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จึงเห็นควร “สั่งไม่ฟ้อง” ผู้ต้องหาที่ 1, 2, 3 ในความผิดฐาน ร่วมกันให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ หลังจากนั้นจึงเสนอสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการเพื่อพิจารณา

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2552 นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา เปิดเผยถึงการพิจารณาสำนวนคดีสินบน จากการให้ถุงขนม 2 ล้านบาทดังกล่าวว่า ภายหลังคณะทำงานอัยการ ซึ่งประกอบด้วย ร.ต.ท.ธานี วุฒิยากร รองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา นายสมเจตต์ ชัยเฉลิมปรีชา อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 นายสมบูรณ์ ศุภอักษร อัยการอาวุโส และนายยงยุทธ ศรีสัตยาชล อัยการจังหวัดประจำกรม ใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการพิจารณาสำนวนการสอบสวนและพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม จำนวน 300 หน้า 

ประกอบพยานฝ่ายผู้เสียหายซึ่งมีเลขานุการศาลฎีกา เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาและพยานฝ่ายผู้ต้องหาทั้ง 3 คน กับบุคคลอื่น ๆ ที่ผู้ต้องหาอ้างถึง โดยที่ไม่มีฝ่ายใดร้องขอความเป็นธรรมแล้ว อัยการเห็นว่า ความผิดข้อหาการให้สินบนเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 นั้น ต้องมี "ผู้ใด" ขอให้หรือรับว่าจะให้ ซึ่งข้อเท็จจริงคดีนี้ไม่พบว่า ทนายความ ที่ถือถุงใส่เงินมาให้ มีวัตถุประสงค์จะให้เงิน 2 ล้านบาท แต่ได้ความเพียงว่า มีเจตนาจะให้ "ขนม " ไม่ใช่แสดงตัวมาแต่แรกว่าจะให้เงิน จึงขาดความเป็น "ผู้ใด" ที่เป็นผู้ให้สินบน

นอกจากนี้การพิจารณาเรื่อง "การให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด" นั้น จากข้อเท็จจริงเห็นว่า เงินของกลาง 2 ล้านบาทเป็นเรื่องสำคัญ แต่กลับไม่มีเงินของกลางในสำนวน และยังไม่ได้ข้อเท็จจริงว่า จะให้เงิน 2 ล้านบาทไปเพื่ออะไร ดังนั้นอัยการจึงมีความเห็นว่า การที่คืนเงินของกลางไปทำให้คดีขาดหลักฐานสำคัญ อีกทั้งความผิดมาตรานี้ต้องมีเจ้าพนักงานผู้รับสินบนด้วย แต่คดีนี้พบว่าผู้ที่มารับเงิน คือ เจ้าหน้าที่นิติกร 3 ซึ่งไม่ใช่ "เจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับอรรถคดี"

ด้วยเหตุผลดังกล่าว คณะทำงานอัยการจึงเห็นพ้องกันว่า การกระทำดังกล่าวของนายพิชิต กับพวก ไม่ครบองค์ประกอบความผิด เพียงพอที่จะทำให้มีน้ำหนักพอฟ้องคดีได้ จึงมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสาม ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา143 ซึ่งความเห็นของอัยการดังกล่าวเป็นคำสั่งที่เห็นพ้องเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนที่มีความเห็นสมควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา 

แต่คดียังไม่ยุติต้องส่งสำนวนไปให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พิจารณาว่าเห็นด้วยกับคำสั่งไม่ฟ้องหรือไม่ ซึ่งหาก ผบ.ตร. มีคำสั่งไม่ฟ้อง คดีเป็นอันยุติ แต่หาก ผบ.ตร. เห็นแย้งโดยเห็นสมควรสั่งฟ้อง ต้องส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดชี้ขาดต่อไป ซึ่งต่อมา ผบ.ตร.มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีดังกล่าวยุติไป

ส่วนที่ทนายความทั้งสามถูกศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุกคนละ 6 เดือนฐานละเมิดอำนาจศาลกรณีดังกล่าวนั้น นายกายสิทธิ์ กล่าวว่า คดีละเมิดอำนาจศาลนั้น เป็นความผิดเกี่ยวกับการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ซึ่งเป็นความผิดคนละประเภทกันกับกรณีที่ถูกกล่าวหาคดีอาญาเรื่องสินบน ซึ่งการที่ศาลพิพากษาลงโทษ ฐานละเมิดอำนาจศาลนั้นเป็นการลงโทษที่เหมาะสมแล้ว อัยการก็เห็นด้วยไม่ขัดข้อง

ทั้งหมดคือ “คดีสินบน” เกี่ยวกับกรณี “ถุงขนม 2 ล้านบาท” ที่สุดท้าย “อัยการ-ตำรวจ” ยุคดังกล่าวสั่ง “ไม่ฟ้อง” ในทางอาญา ส่งผลให้ “พิชิต” กลับมาโลดแล่นอีกครั้งในแวดวงการเมือง กระทั่งบินสูงถึงขั้นนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี แต่ทว่า 16 ปีผ่านไป ต้องมาตกม้าตายกับเรื่องนี้ จนต้องลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี และกลายเป็น “ชนวนสำคัญ” ทำให้ “รัฐบาลเศรษฐา” ต้องล่มลงในเวลาไม่ถึง 1 ปี จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...