เปิดทางรอด ‘เศรษฐา‘ ลุ้นรหัส 6:3 ปิดฉาก สุญญากาศ 84 วัน

14 ส.ค.67 จับตาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ  “ทาง 2 แพร่ง” ชี้ชะตา “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี  กรณีประธานวุฒิสภาส่งคำร้องอดีต 40 สว.เพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน”  เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่

  • คำวินิจฉัยที่กำลังจะออกมามีโอกาส 2 แนวทาง 

ทางแรก ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “เป็นบวก” การดำเนินการของ “เศรษฐา” ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ย่อมส่งผลไปถึงการประคับประคองเก้าอี้เบอร์ 1 ตึกไทยคู่ฟ้าให้อยู่รอดต่อไป 

ซึ่งต้องจับตาสัญญาณการเมืองท่ามกลางข่าวคราวการปรับ ครม.ที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ 

ทางที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “เป็นลบ” ให้การดำเนินการดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ  “เศรษฐา” ไม่รอด ไม่เพียงแต่จะส่งผลไปถึง เก้าอี้“ นายกฯ” แต่เพียงเท่านั้น แต่จะทำให้สถานะของ “เพื่อไทย” ที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสั่นคลอนทันที 

หากเป็นแนวทางนี้ จะส่งผลให้ “คณะรัฐมนตรี” ต้องสิ้นสุดลง แต่ยังทำหน้าที่รักษาการต่อไปได้  2 ทางเลือกที่จะเกิดตามมา คือ

1.การใช้กลไกสภา ดำเนินการตามมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญ โดยให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาให้ความเห็นชอบแคนดิเดตนายกฯ ตามบัญชีรายชื่อนายกฯ ที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ต่อ กกต.เท่านั้น โดยไม่สามารถเสนอชื่อบุคคลภายนอกตามบทเฉพาะกาลมาตรา 272 ได้ เนื่องจากสิ้นสุดระยะเวลา 5 ปี ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว 

ปัจจุบัน มี 6 แคนดิเดต ในบัญชีที่พรรคการเมืองยื่นต่อ กกต. ประกอบด้วย “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย “ชัยเกษม นิติสิริ” แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกฯ รมว.พลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ

ทั้งนี้มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทํา โดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียง “มากกว่ากึ่งหนึ่ง” ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ของสภาผู้แทนราษฎร

หรือทางเลือกที่ 2 คือ ครม.เศรษฐา ซึ่งมีอำนาจรักษาการ จะต้องเลือกรองนายกฯ คนหนึ่งขึ้นมารักษาการนายกฯ พร้อมกับมีอำนาจในการ “ยุบสภาฯ” เพื่อเดินหน้าจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45-60 วัน โดยผู้สมัคร สส.จะต้องสังกัดพรรคการเมืองภายใน 30 วัน

ถึงเวลานี้หลายฝ่ายยังเชื่อว่า “ชะตากรรม” ของนายกฯ เศรษฐา ยังเป็นไปในแนวทางแรกคือ “เศรษฐารอด” วิเคราะห์ไปถึงมติศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 23 พ.ค.แบ่งเป็น 6 ต่อ 3 รับคำร้อง 40 สว.ที่ยื่น ตรวจสอบคุณสมบัตินายกฯ ไว้พิจารณา  

นอกจากนี้ยังมีมติ 5 ต่อ 4 เสียงไม่สั่งให้ “เศรษฐา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ และ 8 ต่อ 1 มีคำสั่ง “ไม่รับคำร้อง” เฉพาะส่วน “พิชิต” ซึ่งลาออกก่อนศาลรัฐคำร้องไว้ พิจารณาวินิจฉัย

มีข่าวสะพัดออกมาก่อนวันศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย ปรากฏออกมาด้วยมติ 6:3 บ้าง หรือ 7:2 บ้าง ให้นายกฯ รอดพ้นบ่วงคดี บางกระแสถึงกับนำเสนอองค์คณะตุลาการศาล รธน. ว่าใครลงมติเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อยกันเลยทีเดียว

ประเด็นสำคัญที่มีนัยอาจเป็น “ทางรอด” ของนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย “2 พยาน คีย์แมนสำคัญ” 

คือ “หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ  โดยนายกรัฐมนตรี ประสงค์ให้มีตำแหน่ง รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี โดยอยากได้นักกฎหมาย เพื่อมารับผิดชอบงานด้านกฎหมายของรัฐบาล ซึ่ง นพ.พรหมินทร์ได้มีการตรวจสอบและเสนอชื่อให้นายกฯ

อีกคนคือ “ธงทอง จันทรางศุ” ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี อ้างถึงความไม่เป็นสัดส่วน เนื่องจากเหตุการณ์ กรณีพิชิต เกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ขณะที่ถูกศาลฎีกาคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งระยะเวลาเกิน 10 ปีมาแล้ว

นอกจากนี้ยังมี 4 ข้อต่อสู้ ของสำนักเลขาธิการ ครม. 

1.สลค.ระบุความผิดจริยธรรมร้ายแรงมาตรา 160 (4) และ (5) เป็นนามธรรมไม่ควรมีใครมาชี้ขาดจริยธรรม

“สลค.ยื่นหนังสือเป็นทางการต่อศาล รธน.ว่า. ความผิดจริยธรรมร้ายแรง ตาม รธน.มาตรา 160 (4) (5) เป็นขอบเขตอำนาจของ ป.ป.ช. ที่ใช้กับ บุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง”

ซึ่งประเด็นชี้แจงนี้ อาจมีผลทำให้ศาล รธน.จำหน่ายคดี

2.นายกฯ และ สลค.ไม่ได้มีการหมกเม็ด เพราะมีการหารือกันภายในแล้ว ว่าเป็นการผิดจริยธรรมหรือไม่ ซึ่งมีการสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่สามารถตอบได้ เพราะการตีวินิจฉัย เป็นอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

3.คำชี้แจง สำนักเลขาธิการ ครม. อ้างถึงการตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี ไม่ได้แค่ตรวจสอบ พิชิต หรือ นายไผ่ ลิกค์ เท่านั้น ยังมีการร้องให้ตรวจสอบบุคคลอื่นที่อาจเข้าข่ายขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ได้แก่ อนุทิน ชาญวีรกูล ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ สมศักดิ์ เทพสุทิน เพื่อแสดงให้เห็น สลค.ได้ตรวจสอบไม่เลือกปฏิบัติ

4.แย้ง คำร้อง 40 สว. คำสั่ง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี  คำร้อง 40 สว. อ้างถึงการแต่งตั้งนายพิชิต เป็น รมต.มาจากการรับคำสั่งจากอดีตนายกฯทักษิณ ไม่เป็นความจริง

คำบรรยายระบุตอนหนึ่งว่า “ก่อนที่จะแต่งตั้งนายพิชิต เป็นรมต. นายพิชิต เป็นที่ปรึกษาของนายกฯ เพียงคนเดียวที่ได้เข้าร่วมประชุม ครม. ได้ติดตามตรวจวาระการประชุม ครม.ผมจึงอยากให้นายพิชิตมาเป็นรมต. ตรวจสอบกฎหมายให้รัฐบาล ซึ่งรัฐบาลยังขาดส่วนนี้อยู่ ไม่มีคำสั่งใดจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ”

“เศรษฐา”  พูดถึงความมั่นใจ คำวินิจฉัยวันที่ 14 ส.ค.67ว่า ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ตนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติ ส่วนที่มีการเซ็ตอัพการประชุม และออกตารางงานเพียบถึงสิ้นเดือนส.ค. เพราะเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องมีการบริหารราชการแผ่นดิน มีการเตรียมงาน ดูแลปัญหาของประชาชนตนก็เตรียมไป ซึ่งถ้าผลออกมาเป็นบวกกับตน ก็เดินหน้าทำงานต่อไป 

“แต่ถ้าผลออกมาเป็นลบ นายกฯ รักษาการ ก็เอาแผนงานที่ตนเสร็จไว้ไปพิจารณา และปรับปรุงตามความเหมาะสมของท่านเอง อันนี้เป็นเรื่องของการทำงานแบบทั่วไป ไม่ได้เป็นการแสดงออกถึงความมั่นใจ หรือ ไม่มั่นใจอะไร เราทำดีที่สุดไปแล้ว ส่งคำแถลงปิดคดีไปแล้ว ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรม” 

ต้องจับตาผลคำวินิจฉัย ที่กำลังจะออกมาในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า จนถึงนาทีนี้หลายฝ่ายยังเชื่อเศรษฐาจะรอดแต่ผลจะเป็นอย่างไรอดใจรอไม่นานคงได้รู้กัน 

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...