พีมูฟ ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย 9 ด้าน และขอเร่งออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ราษฎร

กลุ่มพีมูฟ บุกรัฐสภาในวันแถลงนโยบายรัฐบาล ยื่นหนังสือถึง รมว.ยุติธรรม ขอเร่งออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐ พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย 9 ด้านถึง “หมออ๋อง-ธรรมนัส”

เมื่อเวลา 11.15 น. วันที่ 11 กันยายน 2566 นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.พรรคประชาชาติ และคณะ รับยื่นข้อเสนอด้านนโยบายการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ขอให้เร่งออกกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ พ.ศ. ....  จาก นายจำนงค์ หนูพันธ์ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ (P-Move) และคณะ โดยขอให้ยกเลิกคดีความที่ไม่เป็นธรรมทั้งปวง และให้มีการแต่งตั้งกลไกที่ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อพิจารณากลั่นกรองคดีที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน คดีกลั่นแกล้ง และคดีฟ้องปิดปากประชาชน 

เบื้องต้นขอให้เร่งออกกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ พ.ศ. .... ซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการศึกษาและนำเสนอต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนฯ ลงวันที่ 16 มีนาคม 2566 โดยระหว่างรอการออกกฎหมายนี้ ให้มีการคุ้มครองชั่วคราวด้วยการชะลอการดำเนินคดีและการบังคับคดี เพื่อดำเนินการพิสูจน์สิทธิ์และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายเกี่ยวกับคดีที่ดินป่าไม้ ขอใช้ระบบไต่สวนและลูกขุนในการพิจารณาคดีแทนระบบกล่าวหา ในคดีที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและคดีที่เกี่ยวกับที่ดิน ทรัพยากร ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม 

...

ทั้งนี้เพราะในการพิจารณาคดีและการค้นหาข้อเท็จจริงในคดีที่ดิน ทรัพยากร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม ต้องไม่ใช้การพิจารณาหลักฐานทางราชการเท่านั้น แต่หากต้องวิเคราะห์จากหลักฐานทางด้านสังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา ชาติพันธุ์วิทยา ไปจนถึงวัฒนธรรมประเพณี ในการใช้ที่ดิน ทรัพยากร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ ส่งเสริมสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมของประชาชน โดยให้ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.นี้ 10 ประเด็น เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคนจน ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

นายกมลศักดิ์ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง) ให้มารับข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งพรรคประชาชาติยินดีจะสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้

ต่อมา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ารับยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย 9 ด้าน จากกลุ่มพีมูฟ โดยมีเนื้อหาว่า ด้วยเครือข่ายภาคประชาชนได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งสิทธิด้านที่ดินที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย การจัดการทรัพยากรป่าไม้และอื่นๆ ทั้งนี้ ช่วงรณรงค์การเลือกตั้งที่ผ่านมาทางกลุ่ม P-Move ได้จัดเวทีภาคประชาชนเสนอนโยบายต่อพรรคการเมืองขึ้น เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2566 เพื่อนำเสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่อพรรคการเมืองและสาธารณะเกี่ยวกับข้อเสนอเชิงนโยบาย ความไม่มั่นคงในชีวิต และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งสิทธิด้านที่ดินที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย การจัดการทรัพยากรป่าไม้และอื่นๆ โดยเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคที่ลงสมัครรับเลือกตั้งมานำเสนอนโยบายแล้ว

ดังนั้น เพื่อให้การบริหารราชแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันนี้ เป็นไปตามนโยบายช่วงรณรงค์เลือกตั้ง อันเป็นสัญญาประชาคมต่อประชาชนทั้งประเทศ จึงเสนอข้อเสนอเชิงนโยบาย 9 ด้าน ประกอบด้วย

1. ด้านสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ขอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่มีบทบัญญัติกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ ขอให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกกระบวนการทุกขั้นตอน

2. ด้านการกระจายอำนาจ ขอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง เพื่อปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นและสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3. ด้านนโยบายการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ขอให้เร่งออกกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ 

4. ด้านนโยบายที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมขอให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยผลักดัน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า

5. ด้านนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ขอให้ยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่าและแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพราะการดำเนินนโยบายดังกล่าวทำให้มีการละเมิด คุกคามชีวิตทรัพย์สินและส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินป่าทั่วประเทศ 

6. ด้านการป้องกันภัยพิบัติ ขอให้มีคณะกรรมการส่งเสริมระบบการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงของประชาชนในการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุ การช่วยเหลือระหว่างเกิดเหตุ และการฟื้นฟูเยียวยาหลังเกิดเหตุ

7. การคุ้มครองชาติพันธุ์และสิทธิความเป็นมนุษย์เพื่อให้เกิดความมั่นคงต่อชุมชนและชาติพันธุ์ในทุกๆ ด้าน ขอให้เร่งลงนามรับรองร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชุมชนกลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. ....

8. ด้านสิทธิของคนไร้สถานะ แต่งตั้งกรรมการแก้ไขปัญหาสิทธิสถานะเป็นกรรมการกลางที่มีผู้ทรงคุณวุฒิมีภาคประชาชนที่มีประสบการณ์เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วน

9. ด้านนโยบายรัฐสวัสดิการ โดยเสนอนโยบายและสวัสดิการถ้วนหน้าจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ

ขณะเดียวกัน กลุ่ม P-Move หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ครม.ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะนำข้อเสนอเชิงนโยบายทั้ง 9 ด้านมาประกอบการบริหารประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของชาติและประชาชน ดังปรากฏในคำแถลงนโยบายของ ครม.ชุดนี้ ที่ระบุว่า “รัฐบาลนี้ เราจะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ภายใต้หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐบาลจะสร้างโอกาสและความเท่าเทียมให้กับประชาชน เพื่อให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในอนาคต”

ส่วนกรณีพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค มีนโยบายเปลี่ยน สปก. 4-01 ให้เป็นโฉนด ซึ่งที่ผ่านมา P-Move ได้ประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วยมาโดยตลอด เนื่องจากการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปที่ดินของเกษตรกรในอดีต เรียกร้องให้มีการกระจายที่ดิน อันเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญยิ่งสู่เกษตรกรรายย่อย และรักษาที่ดินให้อยู่กับเกษตรกรตลอดไป โดยมิให้มีการนำไปเป็นสินค้าในระบบตลาดอันเป็นที่มาของปัญหาที่ดินหลุดมือและไปกระจุกตัวอยู่ในมือนายทุนที่มิใช่เกษตรกรรายย่อย ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

จากนั้น นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นตัวแทนของประธานสภาผู้แทนราษฎรมารับข้อเสนอดังกล่าว และจะนำเรื่องนี้กราบเรียนต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรอย่างเร่งด่วน โดยจะส่งให้พรรคการเมืองแต่ละพรรค และส่งให้คณะกรรมาธิการเพื่อดำเนินการต่อไป

ทางด้าน ร.อ.ธรรมนัส เผยหลังรับหนังสือว่า ที่ผ่านมาตนไม่ได้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายรัฐบาล แต่เป็นฝ่ายเดียวกับพี่น้องกลุ่ม P-Move มากกว่า ได้ช่วยเหลือพี่น้องเรื่องที่ดินทำกิน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทางสังคม อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตนจะทำให้ดีที่สุด จะไม่ทำให้พี่น้องผิดหวัง จะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการตามกฎหมาย ด้วยความบริสุทธิ์เป็นธรรม และให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...