นายกฯ ประชุมบริหารจัดการน้ำ เน้นบริหาร-แก้ปัญหารวดเร็ว พร้อมมอบแผน 3 ปี

นายกฯ ประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ เน้นให้บริหารและแก้ไขปัญหาน้ำอย่างรวดเร็ว พร้อมมอบนโยบายแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญให้แล้วเสร็จ เสนอ ครม. ภายใน ส.ค.นี้

วันที่ 5 สิงหาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมประชุมด้วย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำจากอธิบดีกรมชลประทาน รายงานว่า ปริมาณน้ำฝนสะสมช่วงฤดูฝนปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม-1 สิงหาคม 2567 มีปริมาณฝน 563.2 มิลลิเมตร (มม.) สูงกว่าค่าปกติ 74.8 มม. คิดเป็นร้อยละ 15 ส่วนปริมาณฝนคาดการณ์และปริมาณน้ำ ข้อมูลเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2567 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 35 แห่ง มีความจุรวม 70,926 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีน้ำ 40,163 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 57 รับน้ำได้อีก 30,763 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 43 

...

สำหรับการคาดการณ์น้ำในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 คาดว่าจะมีน้ำกักเก็บจำนวน 54,930 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 77 โดยเมื่อเทียบปี 2566 มีน้ำกักเก็บอยู่ที่จำนวน 56,386 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 79 โดยคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำปี 2567 จะน้อยกว่าปี 2566 จำนวน 1,456 ล้านลูกบาศก์เมตร 

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวปัญหาเรื่องน้ำ ว่า เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยต้องเผชิญทุกปี ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำไม่ได้คุณภาพ รัฐบาลตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน โดยมอบหมายให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบดูแลเรื่องน้ำ บูรณาการการทำงานอย่างต่อเนื่อง จัดทำแผนงานและโครงการที่สำคัญ และสามารถเร่งรัดดำเนินการได้ภายในกรอบระยะเวลา 3 ปี ตลอดจนพิจารณาโครงการสำคัญระยะยาว เพื่อให้ “น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำ” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายกรัฐมนตรียังได้เน้นการเสริมประสิทธิภาพของโครงการที่มีอยู่เดิมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงที่สุด พร้อมทั้งพิจารณาก่อสร้างโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำและระบบกระจายน้ำเพิ่มเติม เพื่อให้การใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นไปอย่างเหมาะสม โดยในช่วงฤดูฝนนี้ มอบหมายให้กรมชลประทาน และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA นำเสนอพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก พร้อมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

อีกทั้งจากการรับฟังการนำเสนอเรื่องการบริหารจัดการน้ำจากเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) อธิบดีกรมชลประทาน และ ผอ.GISTDA ชี้ให้เห็นถึงสภาพปัญหาเรื่องน้ำของประเทศไทย ตลอดจนแผนการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยอาศัยการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความแม่นยำและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมอบนโยบายประเด็นแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญ ดังนี้

1. ให้ สทนช. เร่งรัดการยกร่างแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญให้แล้วเสร็จ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนสิงหาคมนี้ โดยให้ สทนช. รับผิดชอบในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผน และรายงานให้ ครม. ทราบเป็นระยะ

2. ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ สทนช. บูรณาการการดำเนินงานตามแผนงานดังกล่าว เพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่ได้ตั้งเป้าไว้

3. ให้ สทนช. ติดตามและกำกับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนดำเนินงานตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำ และปฏิบัติงานตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรียังฝากให้กรมชลประทาน ติดตามรายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับปริมาณน้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมให้เฝ้าดูพื้นที่เสี่ยง รวมถึงเร่งดำเนินการการขุดลอกแม่น้ำสุไหงโก-ลก ไม่ให้ตื้นเขิน ซึ่งขณะนี้ยังมีเวลาดำเนินการ โดยมีคณะกรรมการร่วมไทย-มาเลเซียร่วมด้วย เนื่องจากประเทศมาเลเซียและฝั่งไทยได้รับความเดือดร้อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ โดยเฉพาะในจังหวัดนราธิวาส

“ในบริเวณที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก ให้ สทนช. บูรณาการร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ในการกำหนดขอบเขตพื้นที่รับผิดชอบเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้ชัดเจน และขอเน้นย้ำให้บริหารสถานการณ์และแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว มีการสื่อสารกับประชาชนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เข้าถึง และทำให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด”

(ภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย)

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...