ปลัด มท. ติดตามน้ำท่วมตราด เยี่ยมผู้ประสบภัย กำชับแจ้งเตือน-ช่วยเหลือทันท่วงที

ปลัดมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ.ตราด พร้อมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพผู้ที่ได้รับผลกระทบ เน้นย้ำทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ต้องแจ้งเตือน-ช่วยเหลือทันท่วงที แนะ นำผังภูมิสังคมบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เพื่อความยั่งยืน

วันที่ 30 กรกฎาคม 2567 เวลา 15.00 น. ที่ผ่านมา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนให้กำลังและมอบถุงยังชีพแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดตราด โดยมี นายณรงค์ เทพเสนา และ นายพีระ เอี่ยมสุนทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด, นายเจริญ รัตนบรรณสกุล หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตราด, นายพงษ์พัฑฒ์ สินราย นายอำเภอเขาสมิง, นายเกรียงไกร ปัญญาพงศธร นายอำเภอเมืองตราด, นายสหชาติ ลิ้มเจริญภักดี ประธานมูลนิธิเพชรเกษม คณะทำงาน หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัดตราด ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดตราดช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ซึ่ง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีความห่วงใยและเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตราด นำทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหายและผลกระทบที่เกิดกับประชาชนโดยเร็ว พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายจนเป็นปกติ ให้ช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

...

“ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด มอบหมายให้ท้องถิ่นจังหวัดตราด โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตราด บูรณาการร่วมกับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใช้ผังลุ่มน้ำชุมชนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้สำรวจตามผังภูมิสังคม (Geo-Social Map) เพื่อร่วมกันบริหารจัดการน้ำ โดยจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของจังหวัด ร่วมกับหน่วยงานชลประทาน ผู้นำท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย รวมถึงการวางระบบเตือนภัยก่อนการเกิดภัยพิบัติ โดยสิ่งสำคัญของการบริหารจัดการน้ำตามศาสตร์พระราชาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้ให้คือ การทำให้พื้นที่มีจุดพักน้ำ หรือหลุมขนมครก ด้วยการขุดและทำฝายเพื่อให้มีพื้นที่สามารถกักเก็บน้ำได้ ควบคู่กับการฟื้นฟูพื้นที่ป่า เพราะต้นไม้เปรียบเสมือนธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดที่สามารถกักเก็บมวลน้ำได้มาก อันจะช่วยบรรเทาการเกิดอุทกภัยและภัยพิบัติ”

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อไปว่า หากเราสามารถกักเก็บน้ำในพื้นที่ชุมชนได้ นอกจากจะทำให้สถานการณ์อุทกภัยลดความรุนแรงลง ยังจะทำให้ประชาชนมีน้ำใช้ในหน้าแล้ง สิ่งสำคัญอีกประการคือ ต้องพูดคุยปรึกษาหารือกัน มีการบูรณาการก่อนที่น้ำจะเต็มปริมาณที่กักเก็บได้ ต้องมีการผันน้ำออกโดยไม่ต้องรอให้เต็ม โดยระดมเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ มาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่เดือดร้อนโดยเร็ว พร้อมกันนี้ ขอขอบคุณมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และทุกภาคส่วน ที่มีความตั้งใจจริงที่จะช่วยเหลือ ทั้ง คุณสหชาติ ลิ้มเจริญภักดี ประธานมูลนิธิเพชรเกษม ที่ยกครัวมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนชาวตราด ทำให้ได้เห็นน้ำใจของพี่น้องชาวกรุงเทพฯ รวมถึงน้ำใจของคนในพื้นที่จังหวัดตราด ที่คอยให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ 

ในช่วงท้าย นายสุทธิพงษ์ ได้ขอให้จังหวัดตราดและทุกอำเภอ ระดมสรรพกำลัง หน่วยแพทย์อาสา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หน่วยสาธารณสุข เร่งลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจและดูแลสุขภาพของประชาชน ส่วนการสื่อสารของผู้นำชุมชน ต้องมีระบบและสามารถใช้การได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรองรับเหตุฉุกเฉิน ควบคู่การสร้างการรับรู้ของประชาชนให้ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและทันเหตุการณ์ ทั้งนี้ ขอให้นายอำเภอทุกอำเภอ ช่วยกำกับติดตามระบบการเตือนภัยพิบัติ หากเกิดน้ำป่า ดินสไลด์ ต้องมีการประชาสัมพันธ์อย่างทันท่วงที รวมถึงให้ท้องถิ่นจังหวัด โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด กำกับควบคุมดูแลมาตรฐานการถมดินบริเวณท่อระบายน้ำ ร่องทางระบายน้ำริมถนน อย่างเข้มงวด

ทางด้าน นายณรงค์ เทพเสนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักกระจายทั่วทั้งจังหวัดตราด ระหว่างวันที่ 25-28 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณความจุของอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 7 แห่ง เต็มความจุเกินร้อยละ 100 จึงจำเป็นต้องมีการระบายน้ำออก แต่เนื่องจากมีน้ำทะเลหนุน ประกอบกับปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่รวมมากกว่า 200 มิลลิเมตร ทำให้การระบายน้ำมีอุปสรรคเนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ส่งผลให้มีพื้นที่ความเสียหายจากอุทกภัยใน 3 อำเภอ ได้แก่ 

1. อำเภอเมืองตราด จำนวน 5 ตำบล 28 หมู่บ้าน 

2. อำเภอบ่อไร่ จำนวน 5 ตำบล 15 หมู่บ้าน

3. อำเภอเขาสมิง จำนวน 7 ตำบล 57 หมู่บ้าน 

ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันของอำเภอเมืองตราด และอำเภอบ่อไร่ เริ่มคลี่คลายแล้ว แต่มวลน้ำยังไหลมาสู่ อำเภอเขาสมิง โดยเฉพาะตำบลเขาสมิง ที่เป็นจุดรับน้ำ จำนวน 9 หมู่บ้านได้รับผลกระทบกว่า 200 ครัวเรือน รวม 450 คน สำหรับเส้นทางการคมนาคมในพื้นที่ น้ำลดลงแล้ว ยังเหลือบางแห่งที่ยังไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ซึ่งทั้ง 3 อำเภอ ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการของอำเภอและท้องถิ่นแล้ว มีนายอำเภอและนายกเทศมนตรีเป็นผู้บัญชาการ ร่วมกับมูลนิธิและอาสาสมัครในการช่วยแจกของอุปโภคบริโภค ส่วนพื้นที่การเกษตร อำเภอเขาสมิง ได้รับผลกระทบ 1,217 ราย 2,325 ไร่ อำเภอบ่อไร่ มีสัตว์เลี้ยงได้รับผลกระทบหมู เป็ด ไก่ หลายหมื่นตัว ซึ่งได้ประสานให้อำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเยียวยาและแก้ไขปัญหาต่อไป

“จังหวัดตราดได้ประกาศเขตสาธารณภัย และจุดบัญชาการระดับจังหวัด โดยให้อำเภอบูรณาการกับส่วนราชการในท้องที่ สนับสนุนรถยกสูงช่วยเหลือการเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะในจุดที่มีการจราจรติดขัดให้ทำป้ายหลีกเลี่ยงเส้นทาง โดยมีทางสำนักงาน ปภ.จังหวัดตราด เป็นหน่วยประสานงาน และจังหวัดได้ขอรับการสนับสนุน โดยได้รับการสนับสนุนจากกาชาดจังหวัดสระแก้ว มอบถุงยังชีพ 1,250 ถุง สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ปัจจุบัน ฝนลดลงถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2567 แต่ยังคงมีปริมาณน้ำสะสมจากฝนตกอยู่ ในส่วนของการระบายน้ำ ทางชลประทานพยายามระบายน้ำให้สอดคล้องกับน้ำทะเล”

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...