‘สามารถ’ขอบคุณ สส.รัฐบาล-ฝ่ายค้าน หนุนแก้กฎหมายป.วิอาญา ม.108,109

นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ตนขอขอบคุณนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง  สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย และ สส.จากรัฐบาล และฝ่ายค้านกว่า 20 คนที่ได้ลงชื่อเสนอยกร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยมีการให้ยกเลิกประมวลวิอาญามาตรา 108 และ 109 ซึ่งขณะนี้เรามีกฎหมายอุ้มหายที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชน แต่ปรากฎว่าการประกันตัวของผู้ต้องหานั้นต้องเป็นดุลยพินิจของผู้พิพากษา จึงกลายเป็นว่าบางคนได้ประกัน บางคนไม่ได้ แต่ตามรัฐธรรมนูญระบุให้ทุกคนได้สิทธิในการประกันตัว

นายสามารถ กล่าวต่อว่า มาตรา 108 เราเขียนไว้ว่าหากจำเลยหรือผู้ต้องหายินดีที่จะใส่กำไรอีเอ็มและมีหลักทรัพย์ค้ำประกันต้องให้ประกันตัวทุกกรณี แต่ถ้าได้รับการประกันแล้วหลบหนีหรือไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานก็มีเหตุให้เพิกถอนการประกัน ที่เราต้องการเช่นนี้ก็เพื่อประหยัดงบประมาณที่มาจากการภาษีของประชาชนในการเลี้ยงดูผู้ต้องขัง และงบประมาณที่รัฐให้ไป ให้เฉพาะผู้ต้องขังเด็ดขาด หมายความว่า คนที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี เช่น ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ยังไม่มีคำพิพากษา เขาเรียกว่านักโทษระหว่าง ซึ่งนักโทษระหว่างนี้มีค่าใช้จ่ายที่มีการทำวิจัยไว้ในปี 2560 ระบุว่า ต้นทุนค่าใช้จ่ายของภาครัฐในฐานะผู้ให้บริการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในปี 2560 

นายสามารถ ยังกล่าวต่อว่า ข้อมูลมาจากสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย องค์การมหาชนหรือ TIJ เขาบอกว่ามีต้นทุนรวมอยู่ที่ 125,656 บาท ต่อผู้ต้องหา 1 คน ถ้ารวมอัตราเงินเฟ้อได้ต้นทุนรวมเฉลี่ยในปี 2565 จะอยู่ที่ 168,156 บาท สรุปแล้วผู้ให้บริการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศไทยในปี 2565 อยู่ที่ 43,911,753,372 บาท ค่าอาหารที่อยู่ในเรือนจำนั้น เขาให้ผู้ต้องขังเด็ดขาดเพียง 227,500 บาท เฉลี่ยแค่มื้อละ 18 บาท แต่จริงๆแล้วมันได้น้อยกว่านั้น เพราะมันมีนักโทษระหว่างการพิจารณาคดีอีกประมาณ 60,000 - 70,000 คน  TIJ ระบุอีกว่าผู้ต้องขังได้รับการดูแลใช้ต้นทุน/หน่วย/ต่อผู้ต้องขัง  1 คนอยู่ที่ 44,231 บาท หมายความว่า 1 ปี ภาษีประชาชนที่ต้องไปดูแลผู้ต้องขัง ที่ยังไม่รู้ว่าจะผิดหรือถูกอยู่ที่ 44,231 บาท

“ถ้าผมบอกว่าเรา 70,000 x  44,231 บาท ก็อยู่ที่ประมาณเกือบ 3,000 ล้านบาท ฉะนั้นงบประมาณประเทศไปทิ้งฟรีๆเลย  3,000 ล้านบาท แล้วบอกว่าผลกระทบเมื่อเขาถูกจำคุก ยังไม่รู้เลยว่าเขาผิดหรือถูกอย่างแรกคือ เขาตกงาน เขามีงานทำกลายเป็นเขาไม่มีงานทำ ต่อมาลูกเมียเขาที่อยู่หลังบ้านเขาก็เดือดร้อนไปด้วย ปรากฏว่าพอสุดท้ายศาลตัดสินว่าไม่ผิด รัฐบาลก็ต้องเอาเงินของพ่อแม่พี่น้องประชาชนมาเยียวยาให้กับคนที่ถูกจำคุกฟรี สุดท้ายแปลว่าภาษีประชาชนถูกใช้ไปจริงไปแบบนี้  

นายสามารถ กล่าวต่อว่า ถามว่าการเยียวยานั้นเพียงพอต่อคนเหล่านั้นหรือไม่  ไม่พอ ไม่สามารถเอาชื่อเสียงเกียรติยศของเขากลับมาได้ แล้วเวลาเขากลับไปจะหางานทำก็หาว่า เขาเป็นไอ้ขี้คุก เป็นนักโทษ สุดท้ายเขาก็ไม่มีงานทำ นั่นคือสิ่งที่ตนกำลังจะบอกว่า เรากำลังจะผลักภาระประชาชนคนไทยไม่ให้มีงานทำอย่างนั้นหรือ เราจึงต้องร่างกฎหมายที่มันทันสมัย กรมราชทัณฑ์ไม่ใช่เป็นที่ขังคน แต่เป็นที่เปลี่ยนนิสัยคน แต่ปรากฏว่า คดีระหว่างการพิจารณา 7 หมื่นกว่าคนนั้นไปบวกกับ 200,000 กว่า มันก็กลายเป็นตัวเลขเกือบ 3 แสนคน ซึ่งมันทำให้เรือนจำนั้นแออัด ผู้คุม 1 คนนั้นต้องดูแลนักโทษเกือบ 60 กว่าคนฉะนั้นไม่สามารถที่จะเปลี่ยนนิสัยได้ 

”จึงเป็นที่มาต้องขอบคุณท่าน สส.ซึ่งเป็นพูดง่ายๆว่าเป็น สภานิติบัญญัติในการที่จะแก้กฎหมาย กฎหมาย ป วิอาญา เรามีมานานแล้ว แต่ไม่ได้ทันสมัยเลย  
ผมไม่อยากเห็นว่า ประชาชนคนหนึ่งคนนั้นจะได้รับการประกันตัวนั้นต้องพึ่งฟ้า พึ่งฝน พึ่งบุญ พึ่งกรรม เพราะวันนี้เราให้เป็นดุลพินิจของศาล ฉะนั้นในเมื่อเราบอกว่าทุกคนคือผู้บริสุทธิ์ตาม รธน.ก็จะต้องมีกฎหมายที่ดูแลเขาแบบผู้บริสุทธิ์ ไม่ใช่บอกว่า ไม่ผิดเอาไปขังก่อน ไม่ได้ ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสินก็ต้องให้สิทธิ์ในการประกันตัว ถ้าเขายังเป็นคนที่บริสุทธิ์อยู่ ยังไม่เคยทำผิดมาในครั้งแรก ผมคิดว่าถ้าเขาใส่กำไรอีเอ็ม มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพียงพอต่อการปล่อยตัวชั่วคราวอยู่แล้ว และจะทำให้เขามีงานทำไม่ต้องไปพึ่งในสิ่งที่ผิดกฎหมายในอนาคต“

ด้านนายสฤษฏ์พงษ์ กล่าวว่า เนื่องจากว่าการประกันตัวของผู้ต้องหาในคดีอาญาไม่สอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2560 ในเรื่องของ สิทธิผู้ต้องหา พื้นฐานต้องสันนิฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งวันนี้การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีอย่าง กำไรข้อเท้าหรือกำไรอิเล็กทรอนิกส์สามารถตามตัวผู้ต้องหาได้ ดังนั้นคดีอาญาที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง และเป็นความประสงค์ของผู้ต้องหาที่จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและใส่กำไรอิเล็กทรอนิกส์ตามสิทธิของผู้ต้องหาที่ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะพิพากษาและคดีถึงที่สิ้นสุด

”ข้อดีในการแก้ไขประมวลวิอาญามาตรา 108 และ 109 ก็คือ บางคนยังเป็นผู้บริสุทธิ์เมื่อถูกจับกว่าจะได้ว่าเขาไม่มีความผิด ระหว่างนั้นเมื่อศาลไม่ให้ประกันตัว ผู้ต้องหาก็จะต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ สิ่งที่ตามมาคืองบประมาณของกรมราชทัณฑ์ก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู ในขณะเดียวกัน ผู้ต้องหาที่จะต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำระหว่างการสู้คดี บางคนเป็นเสาหลักของครอบครัวในการทำมาหากินก็ไม่สามารถทำได้ ทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมา มันถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว“

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...