Trumponomics 2 อาจไม่แย่อย่างที่คาด

ในความเป็นจริง คะแนนนิยมทรัมป์เพิ่มขึ้นตั้งแต่หลังการโต้วาทีกับไบเดน หลังจากที่ผู้ชมเริ่มมีคำถามในประเด็นด้านสุขภาพและความชราภาพ และมีกระแสให้เปลี่ยนตัว แต่ไบเดนยังคงส่งสัญญาณว่าพร้อมจะลงชิงตำแหน่ง ขณะที่หลังที่มีความพยายามลอบสังหารทรัมป์ ยิ่งทำให้โอกาสที่ทรัมป์จะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีจะยิ่งสูงขึ้น เนื่องจากจะทำให้ประชาชนรู้สึกเห็นใจว่าเป็นเหยื่อในความรุนแรง และแสดงให้เห็นถึงความเป็นนักสู้ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามพัฒนาการของการสอบสวนคดีอย่างต่อเนื่อง

หลายฝ่ายรวมทั้งตลาดการเงินมองว่า การกลับมาของทรัมป์จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้นและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จากหลากหลายนโยบายของทรัมป์ เช่น (1) การขึ้นภาษีการค้าจากจีน 60% และจากทั่วโลก 10% จะเพิ่มต้นทุนการนำเข้า (2) การเนรเทศหรือส่งกลับผู้อพยพหรือแรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมายอาจผลักดันค่าจ้าง และ (3) การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาเป็นการถาวรจะทำให้การขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้น รวมถึงมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของธนาคารกลาง (Fed) 

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมองว่า โอกาสในการที่เงินเฟ้อจะพุ่งสูงขึ้นมากอาจมีไม่มากนัก โดยสามารถพิจารณาได้จากแนวนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ 6 ประการ

1.การยกเลิกกฎระเบียบ (Deregulation) โดยในสมัยทรัมป์ 1 มีแนวนโยบาย One-in-Two-Out หรือออกกฎหมายใหม่ 1 ฉบับ จะต้องโละของเดิม 2 ฉบับ แต่ที่ผ่านมาทำไม่ได้ เนื่องจากทรัมป์เป็นมือใหม่ ยังไม่เข้าใจกระบวนบริหารราชการ/ ไม่มีทีมงานดีพอ ปัจจุบันเตรียมงาน/ เตรียมทีมดีขึ้น ทำให้เป็นไปได้ว่า ทรัมป์ 2 จะสามารถลดกฎระเบียบได้มากขึ้น

2.แนวนโยบายในด้านการลดภาษีเป็นการถาวร ที่ผ่านมา ทรัมป์ 1 ลดภาษีเป็นการชั่วคราว และจะหมดในปี 2568 ซึ่งทรัมป์ 2 จะต่อเป็นการถาวร ซึ่งการลดภาษีเหล่านี้ มีหลายส่วน เช่น ภาษีนิติบุคคลปัจจุบันขั้นสูงอยู่ที่ 21% ขณะที่ไบเดนจะเพิ่มเป็น 28% ส่วนทรัมป์จะให้คงที่ 21% หรือลดลงมาเล็กน้อยที่ 20% ส่วนภาษีบุคคลธรรมดา ปัจจุบันมี 7 ขั้น โดยอัตราสูงสุดอยู่ที่ 37% ไบเดนต้องการขึ้นเป็น 39.6% ส่วนทรัมป์ กำหนดอัตราภาษีสูงสุดที่ 37% และเมื่อหักส่วนลดหย่อนต่าง ๆ จะทำให้อัตราสูงสุดเหลือ 30%

หากทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี สำนักงานงบประมาณของรัฐสภาหรือ Congressional Budget Office: CBO คาดจะทำให้ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นปีละ 1% GDP และรายได้หายไปปีละ 4.5 แสนล้านดอลลาร์ แต่ทรัมป์มีแผนจะเก็บภาษีสินค้านำเข้า และยกเลิกส่วนลดจากมาตรการ Inflation Reduction Act ของไบเดน ซึ่งอาจทำให้ได้เงินมาทดแทนประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์ ทำให้การขาดดุลอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก

3.แนวนโยบายด้านกำแพงภาษีสินค้านำเข้า โดยในสมัยทรัมป์ 1 มีการเก็บภาษีจากจีนประมาณ +/-25% จากสินค้าประมาณ 2.25 แสนล้านดอลลาร์ และมีข้อตกลงการค้าระยะที่หนึ่ง (Trade deal phase 1) โดยจีนจะต้องเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐให้ได้ 2 แสนล้านดอลลาร์ภายใน 2 ปี โดยในจำนวนนั้น จะต้องมีสินค้าเกษตร 3-4 หมื่นล้านดอลลาร์ และพลังงาน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ แลกกับการที่สหรัฐจะลดภาษีสินค้าจำนวน 1.2 แสนล้านจากจีนลงจาก 25% เป็น 7.5% แต่เมื่อครบกำหนดในปี 2563 จีนไม่สามารถนำเข้าตามข้อตกลงได้ แต่สหรัฐไม่ได้ทำมาตรการลงโทษแต่อย่างใด (เพราะเปลี่ยนรัฐบาล)

ขณะที่ทรัมป์ 2 มีแผนจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 60% และจากทั่วโลก 10% ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะทำได้ (โดยเฉพาะจากจีน) แต่กรณีโลก ผู้เขียนมองว่าอาจทำได้ยาก หรือทำได้เป็นการชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นเพราะ ทรัมป์ชอบการถ่วงดุลในเชิงนโยบาย เนื่องจากทรัมป์ชอบที่จะให้มีการรวมทีมของผู้ที่มีแนวคิดเป็นคู่แข่งกัน และเขาจะตัดสินระหว่างความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน โดยผู้กำหนดนโยบายสายเหยี่ยวอย่าง ปีเตอร์ นาวาร์โร อาจได้เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ แต่เขาอาจแต่งตั้งนักการเงินจากวอลล์สตรีทมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

4.การแทรกแซงธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) โดยในยุคทรัมป์ 1 เข้าแทรกแซง Fed ให้ลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยขู่จะปลดประธาน Fed หากไม่ทำตาม แต่ในที่สุดก็ไม่ได้ปลดจริง ในขณะที่ในยุคทรัมป์ 2 ผู้เขียนมองว่า เขามีแรงจูงใจที่จะแทรกแซง Fed น้อยลง เนื่องจากในช่วงต่อไปเป็นช่วงดอกเบี้ยขาลง รวมถึงกระบวนการนิติบัญญัติและตุลาการไม่อนุญาตให้ปลดประธานได้โดยง่าย

5.ผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ในยุคทรัมป์ 1 มีนโยบายสร้างกำแพงระหว่างสหรัฐและเม็กซิโก และส่งผู้อพยพกลับประเทศ ขณะที่ในยุคทรัมป์ 2 อาจเข้มงวดการอนุญาตผู้อพยพเข้าประเทศขึ้นได้บ้าง แต่การเนรเทศผู้อพยพออกไปเป็นจำนวนมากอาจทำได้ยาก ซึ่งทั้งหมดไม่น่าจะทำให้เงินเฟ้อสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

6.ความสัมพันธ์กับสภาคองเกรส ในต้นปี 2568 จะมีปฏิทินกฎหมายที่หนาแน่น โดยตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. ทำเนียบขาวต้องเจรจาประเด็นเพดานหนี้กับสภาคองเกรส ก่อนจะเกินเพดานในปลายเดือน เม.ย. ซึ่งหากรายจ่ายชนเพดาน รัฐบาลจะต้องหยุดการเบิกจ่ายงบประมาณ (ซึ่งอาจรวมถึงการผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรรัฐบาล)

ผู้เขียนมองว่า ประเด็นดังกล่าวขึ้นอยู่กับการที่พรรครีพับลิกันได้ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนและวุฒิสภาหรือไม่ ซึ่งหากได้ทั้ง 2 สภา จะสามารถทำนโยบายตามที่หาเสียงได้มากขึ้น แต่หากไม่ได้ทั้ง 2 สภา อาจทำให้การเจรจาต่อรองประเด็นหนี้สาธารณะและงบประมาณกับสภาคองเกรสยากขึ้น

กล่าวโดยสรุป ผู้เขียนมองว่า Trumponomics 2 อาจไม่เลวร้ายอย่างที่คนส่วนใหญ่คาดหวัง โดยความสามารถของรัฐบาลทรัมป์ในการดำเนินนโยบายที่สร้างความเสียหายจะถูกจำกัด โดยมีสภาคองเกรส สถาบันตุลาการ ตลาดการเงิน หรือแม้แต่สมาชิกในคณะบริหารของทรัมป์เองต่างทำหน้าที่เป็นตัวตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทรัมป์เป็นผู้ที่จะสร้างความประหลาดใจได้เสมอ เห็นได้จากความพยายามลอบสังหารครั้งนี้

แต่ที่แน่นอนคือ เมื่อทรัมป์กลับมา ความผันผวนปั่นป่วนจะมากขึ้นอย่างแน่นอน นักธุรกิจ นักลงทุน และผู้อ่านทุกท่าน โปรดระวัง

(บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่)

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...