ป.ป.ช.ชง ครม.แก้ทุจริตลอบดูดทราย หลังมีมาเฟียคุม-จนท.รัฐละเลย-สร้างมลพิษ

เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นชอบมาตรการป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริต ในกระบวนการพิจารณาอนุญาตให้ดูดทรายในที่ดินของรัฐ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ตามนัยมาตรา 32 แห่ง พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

โดยมติดังกล่าว สืบเนื่องจากปรากฏข่าวจากสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับปัญหาการดูดทรายในที่ดินของรัฐ ทั้งกรณีการดูดทรายโดยไม่ได้รับอนุญาต (ลักลอบดูดทราย) ปัญหาผู้ประกอบการดูดทรายเกินกว่าที่ได้รับอนุญาต ปัญหาผลกระทบจากการดูดทรายในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งในหลายกรณีพบว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งในรูปแบบการเรียกรับสินบน การเอื้อประโยชน์ รวมถึงข้อขัดข้องของระเบียบกฎหมายที่ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมิอาจปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นผลดีต่อราชการได้

ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด จึงได้นำประเด็นปัญหาดังกล่าวร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหาและกำหนดแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกัน ภายใต้โครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ (STRONG : Together against Corruption - TAC) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 นำไปสู่การศึกษามาตรการป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริตในกระบวนการพิจารณาอนุญาตให้ดูดทรายในที่ดินของรัฐ

จากการศึกษาปัญหาความเสี่ยงต่อการทุจริตในกระบวนการพิจารณาอนุญาตให้ดูดทรายในที่ดินของรัฐ พบว่า เกิดปัญหาและความเสี่ยงต่อการทุจริตหรือทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจปฏิบัติให้เป็นผลดีต่อราชการได้ในหลายขั้นตอน ได้แก่

การขออนุญาตดูดทรายมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ อาทิ ประมวลกฎหมายที่ดิน พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พุทธศักราช 2456 พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ทำให้ผู้ประกอบกิจการดูดทรายต้องดำเนินการขอใบอนุญาตหลายฉบับและแต่ละฉบับมีกระบวนการพิจารณาอนุญาตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแตกต่างกัน ทำให้เอกชนมักจะหลีกเลี่ยงในการขออนุญาตและเข้าไปดำเนินการดูดทรายโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งอาจมีการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดีตามกฎหมายเมื่อพบการกระทำความผิดด้วย

ในประเด็นด้านการตรวจสอบ กำกับ ติดตาม ให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย พบว่า ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดหรืออาจมีการเรียกรับสินบนจากผู้ประกอบการ รวมถึงการที่ผู้ประกอบกิจการบางส่วนในบางพื้นที่เป็นผู้มีอิทธิพลหรือมีความเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ด้วยประกอบกับค่าตอบแทนจากการดูดทรายที่รัฐควรจะได้รับ พบว่า กฎหมายกำหนดค่าตอบแทนจากการอนุญาตให้ดูดทราย  ไม่เกิน 28 บาทต่อลูกบาศก์เมตร อัตราค่าตอบแทนดังกล่าวอาจไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่มูลค่าทรายในท้องตลาดมักมีมูลค่าสูงกว่าค่าตอบแทนจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังพบประเด็นปัญหาเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนที่กำหนดกระบวนการไว้ในระเบียบที่เกี่ยวข้องไว้แต่ยังมีปัญหาเรื่องการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนบางแห่งอาจไม่ได้มีการประชาคมอย่างแท้จริง ไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในแต่ละพื้นที่มีมาตรฐานไม่เท่ากัน

รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการอนุญาตให้ดูดทราย พบว่า แม้จะมีระเบียบ แนวทาง และมาตรการในการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่พบว่า พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตดูดทรายหลายแห่งทั่วประเทศปรากฏความเสียหายแก่สภาพตลิ่ง และสภาพธรรมชาติของลำน้ำค่อนข้างมาก ซึ่งสะท้อนว่ามาตรการที่มีอาจมีการบังคับใช้อย่างไม่มีประสิทธิผลเพียงพอ ซึ่งอาจต้องมีการทบทวนเพื่อปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 63/2567  เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 มีมติเห็นชอบร่างมาตรการป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริตในกระบวนการพิจารณาอนุญาตให้ดูดทรายในที่ดินของรัฐเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ตามนัยมาตรา 32 แห่ง พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 โดยสรุปสาระสำคัญของข้อเสนอแนะ ดังนี้

1. ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล มีประเด็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพิจารณามอบหมายหน่วยงานเจ้าภาพดำเนินการทบทวนและปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการอนุญาตให้ดูดทรายทั้งระบบ โดยเน้นให้ทุกหน่วยงาน ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ดำเนินการให้มีการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานและร่วมดำเนินการในบางขั้นตอนที่สามารถดำเนินการพร้อมกันได้

2. ข้อเสนอแนะต่อกระทรวงมหาดไทย มีประเด็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขอัตราค่าตอบแทนกรณีดูดทราย และการพิจารณากำหนดวิธีการหรือแนวทางให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดเก็บค่าตอบแทนจากการดูดทรายตามที่ผู้ประกอบการดูดได้จริง เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งให้มีการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการอนุญาตให้ดูดทราย ในส่วนที่ว่าด้วยการพิจารณาอนุญาตและต่อใบอนุญาตการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ทุกกรณี และการกำหนดแนวทางในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้ชัดเจนและมีวิธีการที่หลากหลาย

3. ข้อเสนอแนะต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีประเด็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพิจารณากำหนดคู่มือหรือแนวทางให้ผู้ขออนุญาตดูดทรายจัดทำแผนการดำเนินการตาม “มาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการฟื้นฟูพื้นที่ขุด ตัก และดูดทรายในแม่น้ำ” เพื่อใช้ประกอบการยื่นขออนุญาตให้ดูดทราย รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ ควรพิจารณาทบทวนปรับปรุงแก้ไขมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังกล่าว โดยนำสภาพปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดูดทรายทั่วประเทศมาพิจารณาดำเนินการด้วย

4. ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ดูดทรายในที่ดินของรัฐมีประเด็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลการอนุญาตตามหน้าที่ และอำนาจของแต่ละหน่วยงาน โดยให้เผยแพร่บนเว็บไซต์ของหน่วยงาน ได้แก่ ผลการพิจารณาของสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มติคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลบุคคล/นิติบุคคลที่ได้รับอนุญาต ตำแหน่งที่ตั้ง จำนวนพื้นที่ตามใบอนุญาต และระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต รวมทั้งพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตด้วย เพื่อให้ภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันตรวจสอบและเฝ้าระวังการปฏิบัติตามเงื่อนไขในการอนุญาต

สำนักงาน ป.ป.ช. มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอแนะตามมาตรการป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริต ในกระบวนการพิจารณาอนุญาตให้ดูดทรายในที่ดินของรัฐ จะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงแก้ไขวิธีการปฏิบัติราชการเพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริตและเป็นกลไกในการตรวจสอบ ป้องกันและยับยั้งการเข้าแสวงหาประโยชน์ส่วนตนและเกิดการพัฒนาแนวทางการปฏิบัติราชการที่เหมาะสมทันสมัย โปร่งใส และเป็นธรรมมากยิ่งขึ้นต่อไป

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...