‘เวียดนาม’ ไฟเขียว ต่างชาติถือหุ้นดาต้าเซนเตอร์ 100% อ้าแขนรับการลงทุนเทค

สำนักข่าวนิกเคอิเอเชียรายงานว่า เวียดนามได้ตัดสินใจอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นบริษัทศูนย์ข้อมูล(Data Center)และคลาวด์ได้ 100% ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรม เนื่องจากก่อนหน้านี้มีข้อจำกัดการถือหุ้นของต่างชาติ 49% ซึ่งเข้มงวดจนทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ไม่เห็นด้วย  

กฎหมายว่าด้วยโทรคมนาคมที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ในเวียดนามได้ไม่นาน โดยระบุว่าจะไม่มีการจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติสำหรับผู้ให้บริการข้อมูล และคลาวด์ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือว่าสำคัญเพราะอุตสาหกรรมอื่นๆ หลายแห่งในเวียดนาม รัฐบาลกำหนดเพดานถือหุ้นของต่างชาติไว้ที่ 49% 

นอกจากนี้กฎหมายฉบับดังกล่าวยังมอบ “ข้อยกเว้นพิเศษที่ไม่เคยมีมาก่อน” ให้แก่ผู้ให้บริการข้อมูล และคลาวด์อีกด้วย

แม้ก่อนหน้านี้ Facebook, Google รวมถึงรัฐบาลญี่ปุ่น และแคนาดา จะเคยแสดงความกังวลต่อกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของเวียดนาม ที่กำหนดให้บริษัทต่างๆ ต้องเก็บข้อมูลไว้ในประเทศ แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลเวียดนามจะหาทางออกที่ได้ประโยนชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ด้วยการผ่อนคลายข้อจำกัด เปิดทางให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในธุรกิจดาต้าเซนเตอร์ได้เต็มที่

ไลฟ์ ชไนเดอร์ ที่ปรึกษาจากสำนักงานกฎหมาย Luther มองว่า "ข้อกำหนดด้านพื้นที่เก็บข้อมูลในท้องถิ่นอาจเพิ่มต้นทุนการดำเนินงานให้กับบริษัทต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายในการรับรองว่าศูนย์ข้อมูลในประเทศปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของข้อมูล"

แต่ทว่ากฎหมายฉบับนี้ถือเป็น "จุดเปลี่ยน" เพราะผู้เล่นจากต่างประเทศมีแนวโน้มที่จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้ง และดาต้าเซนเตอร์ในภูมิภาคนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยี และประโยชน์อื่นๆ เพิ่มเติมด้วย

บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างประเทศ เช่น Amazon Web Services และ Keppel บริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์จากสิงคโปร์ เผยว่า มีความสนใจลงทุนในดาต้าเซนเตอร์ที่เวียดนาม ประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวว่าอาลีบาบา (Alibaba) เตรียมสร้างศูนย์ข้อมูลในเวียดนามด้วยมูลค่าทะลุ 1 พันล้านดอลลาร์  (ประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท) โดยตัวแทนจาก Alibaba Cloud กล่าวว่า เวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง และมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก 

ทั้งนี้ รายละเอียดของกฎหมายโทรคมนาคมกำหนดให้ผู้ให้บริการคลาวด์ และข้อมูลไม่ต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่จัดเก็บไว้บนระบบแทนลูกค้า โดยลูกค้าจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อเนื้อหาที่จัดเก็บนั้น แต่ต้องบล็อกเนื้อหาตามคำร้องขอของหน่วยงานของรัฐ และห้ามตรวจสอบข้อมูลผู้ใช้บริการโดยไม่ได้รับอนุญาต เว้นแต่จะได้รับคำขอจากหน่วยงานของรัฐ

เมียร์ ทเลบาลดี ซีอีโอของซันวา คิริน คอนซัลติ้ง เวียดนาม กล่าวว่า เงินลงทุนจำนวนมากทำให้นักลงทุนจะต้องพิจารณาระยะเวลาคืนทุนอย่างน้อย 5-8 ปี ซึ่งแน่นอนว่ามีอุปสรรคเกี่ยวกับกระบวนการอนุมัติ การวางแผนการทำงาน รวมไปถึงโซลูชันพลังงานสีเขียวมีจำกัด

แม้จะมีความท้าทาย เมียร์ ทเลบาลดี ก็ยังมองเห็นอนาคตที่สดใสของธุรกิจศูนย์ข้อมูลในเวียดนาม เนื่องจากรัฐบาลกำลังผลักดันข้อตกลงซื้อไฟฟ้าโดยตรง (DPPAs) ซึ่งนโยบายนี้จะอนุญาตให้บริษัทต่างๆ สามารถซื้อพลังงานทดแทนจากผู้ผลิต โดยไม่ต้องอาศัยระบบไฟฟ้าของรัฐ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องแหล่งพลังงาน และลดต้นทุน และกฎหมายใหม่นี้ช่วยลดความคลุมเครือ

อ้างอิง Nikkei

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...