“อังคณา” ฝาก สว.ชุดเดิม ให้เกียรติชุดใหม่ ระวังถูกมองมีผลประโยชน์ทับซ้อน

ไอลอว์ หวัง สว.ชุดใหม่ ดันกฎหมายให้ภาคประชาสังคม “อังคณา” ว่าที่ สว. ชี้ ต่อให้เลือกใหม่กี่ครั้ง ถ้ากติกาเดิมก็ได้คนแบบเดิม เมิน สว.กลุ่มเก่าจ่อยื่นร้อง กมธ. มอง โดยมารยาทไม่ควรทำ ส่อเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน

วันที่ 7 กรกฎาคม 2567 นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ร่วมบรรยายในการสัมมนา สว.ประชาชน ที่โรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส หลานหลวง ในหัวข้อ วุฒิสภากับการทำงานร่วมกับองค์กรประชาสังคม ว่า ตนเองมาเป็นวิทยากรวันนี้เพราะมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) หน้าใหม่ที่สมัครมาตามกลุ่มอาชีพจำนวนหนึ่งยังไม่เข้าใจงานสภา และไม่มีพื้นฐานว่าหน้าที่ สว. ต้องทำบทบาทอะไรบ้าง เพื่อช่วยกันทำเข้าใจ ส่วนตนเองมาเพื่อฝาก เพราะมีกฎหมาย 2 ฉบับที่ สว.จะต้องช่วยกันผลักดันคือ การนิรโทษกรรม และการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าการทำประชามติจะมีไหม และจะได้คำถามตามที่รัฐบาลตั้งมาหรือไม่ จึงมาบอกว่าที่ สว.จะต้องเจอความท้าทายหลายอย่าง และต้องรับมือกับอะไรบ้าง 

นายยิ่งชีพ กล่าวอีกว่า การมาบรรยายในวันนี้เพื่อฝากความหวังกับภาคสังคมให้ สว.ชุดใหม่ ช่วยกันผลักดันสิ่งที่ภาคประชาสังคมอยากให้ทำ หลังจากที่งานภาคประชาสังคมไม่ได้รับความสนใจมากเท่าที่ควร โดยสิ่งที่อยากขอว่าที่ สว. คือ เมื่อไปเป็น สว.แล้ว อย่าหายไป เพราะเห็นได้จาก สว.ชุดเดิม ที่หาตัวไม่เจอเวลาเกิดปัญหาต่างๆ ในสังคม แทบจะไม่เห็นบทบาทหรือการแสดงความคิดเห็นอะไร เวลาที่ภาคประชาสังคมจัดการพูดคุยก็ไม่เคยเห็น สว.ชุดก่อน มาร่วมเสวนา จึงมาฝากความหวังและหวังว่า สว.ทั้ง 200 คน จะไม่หายไป อย่างน้อยสัก 50 คน ที่ให้ความร่วมมือ

ส่วนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ประกาศการรับรองผลการเลือก สว. เพราะกระบวนการที่ผ่านมาค่อนข้างซับซ้อนและทุกคนเจอเป็นครั้งแรก ตามมาด้วยข้อร้องเรียนเป็นจำนวนมาก หากใช้เวลาตรวจสอบเกินกว่า 5 วัน ก็เข้าใจได้ แต่ก็ควรจะออกมาบอกว่าได้ตั้งเป้าวันไหนที่จะประกาศ และเมื่อประกาศผลแล้วช่วยอธิบายด้วยว่าการไปตรวจสอบข้อร้องเรียนทั้งหมดเจออะไรบ้าง คนทำผิดได้ดำเนินคดีอย่างไร แต่หากช้าเกิน 20 วัน ก็จะนานเกินไป จึงฝาก กกต.ให้ช่วยแจ้งข่าวสารและวันที่จะประกาศรับรองให้ประชาชนได้รับทราบ

...

เป๋า - ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

ทางด้าน นางอังคณา นีละไพจิตร ว่าที่ สว. กล่าวว่า การที่ กกต.ยังไม่ประกาศรับรอง สว.ทั้ง 200 คน เพราะมีเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบเป็นจำนวนมาก ส่วนตัวมองว่าต่อให้เลือกใหม่จะกี่ครั้ง หากหลักเกณฑ์และกติกายังเป็นแบบเดิมก็จะเป็นเหมือนเดิม ไม่มีวันที่จะหลีกเลี่ยงเรื่องคอนเน็กชันได้ 

ขณะประเด็นที่ กกต.ยังไม่ประกาศวันรับรอง สว. เพราะยังรอตรวจสอบเรื่องที่มีการร้องเรียนนั้น คิดว่าจริงๆ แล้ว กกต.ไม่ต้องใช้เวลาตรวจสอบมาก แค่ 200 คน ไปตรวจสอบ สว.3 ดูก็จะทราบและใช้เวลาไม่นาน คนมีคดีหรือมีคุณสมบัติไม่ตรงสามารถตรวจสอบได้ แต่ที่ผ่านมาเพราะกฎหมายทำให้เกิดช่องโหว่ เลยทำให้การตรวจสอบไม่เข้มงวด ทำให้ขาดโอกาสได้คนที่จะเข้ามาในสัดส่วนที่เหมาะสม อย่างเช่น กลุ่มคนพิการและกลุ่มชาติพันธุ์ก็ไม่มีคนที่เผชิญกับปัญหาเหล่านี้จริงๆ มาเป็น สว. จึงถือเป็นจุดอ่อนของการเลือกลักษณะนี้ และหากมีเจตนาดีอยากจะขอให้ทำงานร่วมกันเพื่อให้มีการแก้กติกาและรัฐธรรมนูญของการเลือก สว. ให้รีบแก้เมื่อมีกติกาใหม่ ก็ให้เลือกคนใหม่เข้ามาให้โปร่งใส และมีตัวแทนของทุกภาคส่วน 

ทั้งนี้ ในฐานะที่เป็นผู้สมัครและเป็นว่าที่ สว. ไม่เห็นด้วยกับกติกาของการเลือกสว.ครั้งนี้ และไม่กังวลว่ากลุ่มอำนาจทางการเมืองจะได้พื้นที่ สว.ในสภาเป็นจำนวนมาก เชื่อว่า สว.ชุดนี้ จะต่างจาก สว.ชุดเดิม เพราะกลุ่มภาคประชาสังคมที่เป็นอิสระ จะทำหน้าที่ของตัวเองอย่างอิสระ อย่างน้อยสภาชุดนี้ก็จะได้เห็นการคัดค้าน ไม่ว่าจะมากหรือน้อย แต่จะมีคนไม่เห็นด้วยในบางเรื่อง ซึ่งในอดีตการคัดค้านอาจจะไม่แข็งแรง แต่ครั้งนี้เราจะทำงานกันอย่างเข้มแข็ง

สำหรับกรณีที่ สว.ชุดเก่า นัดกันวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 จะไปยื่นให้กรรมาธิการการศึกษาการเลือก สว.ชุดใหม่ นางอังคณา มองว่า โดยมารยาทเมื่อหมดวาระไปแล้วก็ควรจะหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะที่ผ่านมา สว.ทุกคนก็ได้อ่านกฎหมายมานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2561 แล้วทำไมถึงไม่แก้ไขระเบียบกติกา เพราะระบบที่ให้เลือกกันเองคนมาจากหลากหลายพื้นที่ก็ย่อมไม่รู้จักกัน ซึ่งตนเองก็ยอมรับว่าในการเลือกไขว้รอบสุดท้ายมีบัตรเลือก 4 ใบ แล้วต้องการ 5 เบอร์ ไม่สามารถที่จะจำทุกเบอร์ได้ ทุกคนจึงต้องจด และเอา สว.3 เข้าไปเพื่อเปิดดูให้มั่นใจว่าได้เลือกคนที่ดีจริง เมื่อกติกาออกมาเป็นแบบนี้แล้วก็ไม่มีประโยชน์ที่ สว.จะมานั่งตรวจสอบให้ย้อนกลับไปนับคะแนนอีกรอบ 

ส่วนจะเป็นการหมายถึงไม่ปล่อยวางอำนาจหรือไม่นั้น นางอังคณา กล่าวว่า คนที่อยู่มานานควรให้เกียรติคนที่มาใหม่ และรอดูการทำหน้าที่ของคนที่มาใหม่ไปก่อน อย่าไปตั้งอคติเพราะไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร ไม่ใช่มาขัดขวางทุกวิถีทาง และอยากจะฝากไปถึง สว.ชุดเดิม ว่า การกระทำแบบนี้ต้องระมัดระวังจะเป็นการขัดกันของผลประโยชน์ เพราะขณะนี้พวกท่านทั้งหลายยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ ยังรับค่าตอบแทนอยู่ ยังมีอำนาจอยู่ อาจทำให้คนคิดไปได้ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะทุกคนถือเป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘อีลอน มัสก์’ หนุน ‘ทรัมป์’ พนักงานบริจาคให้‘แฮร์ริส’

ข้อมูลจากโอเพนซีเคร็ตส์ องค์กรไม่หวังผลกำไรไม่แบ่งฝักฝ่าย ผู้ติดตามข้อมูลการบริจาคเงินหาเสียงและการล...

สหภาพแรงงาน Teamsters ไม่หนุน'ทรัมป์-แฮร์ริส'

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า สหภาพแรงงานทีมสเตอร์สมีสมาชิกกว่า 1.3 ล้านคน เป็นตัวแทนของกลุ่มคนขับรถบร...

ครึ่งแรกปี67จีนครองแชมป์ซื้อคอนโดเมียนมาซิวเบอร์สองแซงรัสเซีย2ปีซ้อน

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เป...

อสังหาฯ แบกสต็อกอ่วม 1.57 ล้านล้าน เอ็นพีแอลพุ่ง ‘ทุกตลาดติดลบหนัก’

นายกสมาคมอาหารชุด หวังเร่งแก้นอมินีต่างชาติในตลาดบ้านมูลค่า 1 ล้านล้านบาท จัดเก็บภาษี หวังแบงก์ชาติล...