‘โค้ก-เป๊ปซี่’ ไม่ได้ถอนธุรกิจจากรัสเซียจริง! เพียงเปลี่ยนชื่อเครื่องดื่มใหม่

นับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนตั้งแต่เดือน ก.พ. 2565 บริษัทเอกชนหลายรายของสหรัฐ เช่น โค้ก เป๊ปซี่ เนสท์เล่ ฯลฯ ก็ตอบโต้การกระทำนี้ด้วยการประกาศ “ถอนธุรกิจออกจากรัสเซีย” โดยโค้กได้ขอให้พาร์ตเนอร์ในรัสเซียเก็บขวดน้ำอัดลมออกจากร้าน ยุติการส่งน้ำเชื่อมไปยังตู้กดน้ำอัดลม และหยุดการผลิตเครื่องดื่มของบริษัท

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นไม่นาน ตามชั้นในซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารทั่วรัสเซีย ก็ปรากฏกระป๋องน้ำอัดลมสีแดงอันทำให้หวนนึกถึง โคคา-โคลา (Coca-Cola) แต่มาในชื่อแบรนด์ใหม่ว่า “โดบรี โคลา” (Dobry Cola) ซึ่งวางจำหน่ายในกระป๋องสีแดงที่ละม้ายคล้ายคลึงกันอย่างน่าประหลาดใจ แถมยังมีรสชาติที่น้อยคนนักจะแยกออกจากแบรนด์เดิมอย่าง Coca-Cola ได้ หลายคนก็อดฉงนสงสัยไม่ได้ว่า แบรนด์ใหม่นี้ใครเป็นเจ้าของ และโผล่ออกมาได้อย่างไร ทำไมดูคล้ายโคคา-โคลาอย่างมาก

- Dobry Cola คล้ายกับ Coca-Cola อย่างมาก (เครดิต: gamingdeputy) -

 

Coca-Cola ในชื่อใหม่ว่า Dobry Cola

ก่อนอื่นขอเล่าอุตสาหกรรมโค้กก่อนว่า “Coca Cola Company” ถือเป็น “บริษัทแม่” ที่บริหารเรื่องแบรนด์ ทำการตลาด และขายหัวเชื้อโค้กให้บริษัทตัวแทนต่าง ๆ ไปบรรจุขวดขายต่อไป

ท่ามกลางแรงกดดันจากประชาคมโลกต่อบริษัทต่าง ๆ ให้ถอนธุรกิจออกจากรัสเซีย “Coca Cola HBC AG” บริษัทบรรจุขวดโค้กรายใหญ่ ได้หันไปผลิตโคล่าท้องถิ่นที่ชื่อว่า “Dobry Cola” ในรัสเซียแทน หลังจากหยุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของ Coca-Cola ไป นั่นจึงทำให้เราเห็นแบรนด์ใหม่นี้วางขายทั่วรัสเซีย โดย Dobry Cola ได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้ และครองส่วนแบ่งตลาดน้ำอัดลมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ คิดเป็น 13% ของยอดขายน้ำอัดลมทั้งหมด

บริษัทวิจัย NTech วิเคราะห์ข้อมูลพบว่า จากแต่เดิม Coca-Cola ครองเครื่องดื่มยอดฮิตในรัสเซีย ตอนนี้ “Dobry Cola” กลายเป็นหนึ่งใน 10 แบรนด์สินค้าบริโภคที่ได้รับความนิยมสูงสุดแทน อีกทั้งยังขึ้นแท่นผู้นำตลาดน้ำอัดลมรสหวาน แซงหน้าแบรนด์ท้องถิ่นอย่าง “Chernogolovka” แล้ว

Coca Cola HBC ชี้แจงว่า Dobry Cola ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับบริษัทแม่ Coca Cola Company

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจ คือ Coca Cola Company มีสัดส่วนการถือหุ้นใน Coca Cola HBC สูงถึง 23% นาตาเลีย ซาคห์นินา (Natalia Sakhnina) ซีอีโอของ Chernogolovka กลุ่มบริษัทเครื่องดื่มของรัสเซีย กล่าวว่า

“พวกเขาบอกลา แต่ไม่ได้จากไปไหน พวกเขาประกาศยุติการดำเนินงาน แต่จริงๆ แล้วไม่ได้ไปไหนเลย สินค้าของพวกเขายังคงวางจำหน่ายในตลาดนานกว่าหกเดือน แถมยังผลิตโดยโรงงานในรัสเซียด้วย”

แกเร็ตต์ เนลสัน (Garrett Nelson) นักวิเคราะห์จาก CFRA Research กล่าวว่า “กำไรจากการขายโคคา-โคล่าในรัสเซีย เพียงย้ายไปอยู่ที่ Coca-Cola HBC ซึ่งสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดได้ด้วยความสำเร็จของ Dobry Cola”

นอกจากนี้ เครื่องดื่ม Coca-Cola ดั้งเดิมที่ไม่ได้ผลิตในรัสเซียแล้ว ยังคงวางจำหน่ายในรัสเซียอย่างแพร่หลาย โดยนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างจอร์เจียและคาซัคสถาน

 

Pepsi เปลี่ยนชื่อเป็น Evervess Cola

บริษัท PepsiCo เคยประกาศในเดือน ก.ย. 2565 ว่า ยุติการผลิตและจำหน่ายเป๊ปซี่ เมาเทนดิว และเซเว่นอัพในรัสเซีย จนส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดของบริษัทลดลงอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ต่อมาเป๊ปซี่ได้รีบนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ นั่นคือ “Evervess Cola” ที่คล้ายกับเป๊ปซี่ และเพิ่มการผลิต “Frustyle” เครื่องดื่มรสผลไม้คล้ายกับมิรินด้า ที่โรงงานทั้ง 6 แห่งในรัสเซีย

- Evervess Cola ที่มาแทน Pepsi ในรัสเซีย (เครดิต: irecommend.ru) -

 

รายงานของหน่วยงานภาษีท้องถิ่นของรัสเซีย แสดงให้เห็นว่า ยอดขายเครื่องดื่มของ PepsiCo ในรัสเซีย “เพิ่มขึ้น 12%” เมื่อปีที่แล้ว จนแตะที่ 209,000 ล้านรูเบิล หรือราว 90,000 ล้านบาท

ในขณะที่รายได้จากธุรกิจอาหารเด็กและผลิตภัณฑ์นมของบริษัทในปีที่แล้ว “เพิ่มขึ้น 10%” เป็น 129,000 ล้านรูเบิล หรือราว 56,000 ล้านบาท ทั้งนี้ทาง PepsiCo ไม่ได้แสดงความคิดเห็นใด ๆ ต่อข้อมูลดังกล่าว

 

หลายบริษัทอเมริกันยังคงอยู่

นับตั้งแต่ปี 2565 บริษัทข้ามชาติกว่า 1,000 แห่งประกาศว่า จะลดการดำเนินงานในรัสเซีย อย่างไรก็ตาม ตามผลการวิจัยของ Yale School of Management หลายบริษัทยังคงอยู่ เช่น Unilever Plc บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ และ Nestlé SA บริษัทข้ามชาติของสวิสที่ประกอบธุรกิจแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มขนาดใหญ่

ทั้งสองบริษัทมีโรงงานผลิตขนาดใหญ่ในรัสเซีย และลังเลที่จะขายธุรกิจในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาดอย่างมาก ซึ่งถูกกำหนดโดยรัฐบาลรัสเซียเป็นค่าภาษีสำหรับการถอนตัวออกจากประเทศ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติฝรั่งเศสอย่าง Auchan กลุ่มค้าปลีกเสื้อผ้า Benetton Group และแฟรนไชส์ร้านอาหารอย่าง Subway และ TGI Fridays ยังคงดำเนินกิจการในรัสเซีย โดยไม่มีทีท่าว่าจะหยุดดำเนินงาน

จากปรากฏการณ์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่า แม้บริษัทต่าง ๆ เคยประกาศว่าจะถอนกิจการออกจากรัสเซีย แต่ในความจริงแล้ว การตัดขาดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไม่ใช่ง่ายนัก ทั้ง “โค้ก” และ “เป๊ปซี่” จึงปรับตัวด้วยการเปลี่ยนชื่อผลิตภัณฑ์ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกมองว่าสนับสนุนรัสเซีย 

แน่นอนว่าสิ่งนี้สร้างความงุนงงให้กับผู้บริโภคชาวรัสเซีย หลายคนตั้งคำถามว่า นี่คือโค้กและเป๊ปซี่ตัวจริงหรือไม่ แต่ในที่สุด ผู้คนก็เริ่มคุ้นเคยกับชื่อและโลโก้ใหม่  สินค้าของทั้งสองบริษัทกลับมาวางขายบนชั้นวางสินค้าอีกครั้ง

แม้กลยุทธ์นี้ช่วยให้โค้กและเป๊ปซี่สามารถมีรายได้จากแดนหมีขาว แต่อนาคตของเครื่องดื่มทั้งสองในตลาดนี้ยังคงเป็นที่จับตาท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างประเทศ และแรงกดดันจากนานาชาติที่มีต่อรัสเซีย
 

 

 

 

อ้างอิง: reuters, bloomberg, russia, coca, ru

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...